รายงานการพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประจำปี 2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 11 January 2022 23:44
- Hits: 8484
รายงานการพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประจำปี 2564
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานการพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประจำปี 2564 ตามที่สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เสนอ และให้เสนอรัฐสภาทราบต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
รายงานการพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประจำปี 2564 เรื่อง การฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 สู่ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคมมีสาระสำคัญเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 และความท้าทายในหลากหลายมิติที่เกิดขึ้น เช่น ภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การต้องเผชิญกับความท้าทายในการใช้สื่อสังคมต่างๆ ปัญหาเศรษฐกิจกระจุกตัว ความเหลื่อมล้ำ กระแสพหุวัฒนธรรม รวมไปถึงแนวโน้มการลดลงของนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาอย่างต่อเนื่อง และจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุดจะส่งผลกระทบต่อประเทศในระยะยาว ปัจจัยสำคัญที่นำมาใช้เพื่อเตรียมความพร้อมเผชิญกับความท้าทายที่เกิดขึ้น โดยจะเห็นได้จากการใช้ศักยภาพของระบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหารองรับสถานการณ์โควิด-19 ด้วยการผลิตชุดตรวจโควิด SARS-COV-2 ด้วยวิธี Real-Time PCR การวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ เช่น หน้ากากซิลิโคนติดแผ่นกรอง HEPA ที่มีคุณสมบัติและมาตรฐานสามารถป้องกันเชื้อได้มากกว่าหน้ากาก N95 การสร้างโรงพยาบาลสนาม ห้องตรวจแยกแรงดันลบ เป็นต้น รวมไปถึงการวิเคราะห์และประเมินด้วยแบบจำลองสถานการณ์เพื่อการคาดการณ์และพยากรณ์การระบาดของโรค โดยสรุปรายละเอียด ดังนี้
ประเด็นการดำเนินการ |
สรุปสาระสำคัญ |
|
1. อววน. กับการพัฒนาประเทศ |
การนำศักยภาพด้าน อววน. มาใช้เพื่อเตรียมความพร้อมเผชิญกับความท้าทายที่เกิดขึ้น แก้ไขปัญหาสังคม และสร้างขีดความสามารถด้านนวัตกรรมให้ประเทศ เช่น (1) ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ได้มีการดำเนินการที่สำคัญ อาทิ การแก้ปัญหารองรับสถานการณ์โควิด-19 การแก้ปัญหาด้านการเกษตร การบริหารจัดการน้ำ การส่งเสริมและยกระดับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) การพัฒนานวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Economy) การพัฒนากำลังคนโดยอาศัยกลไกการพัฒนาความรู้ทักษะเดิม (Re-skill) การยกระดับทักษะเดิม (Up-skill) และการเพิ่มพูนทักษะใหม่ (New-skill) การพัฒนางานวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier research) และ (2) ด้านการอุดมศึกษา ได้มีการดำเนินการที่สำคัญ เช่น การสร้างบัณฑิตการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรระยะสั้น (Non-degree Program) การสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะสูงเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจอนาคต (New Growth Engine) การขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลภายใต้โมเดล BCG การจัดตั้ง “หน่วยปฏิบัติการส่วนหน้าของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการสนับสนุนการพัฒนาจังหวัดเพื่อขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน” การส่งเสริมมหาวิทยาลัยสู่ตำบล นอกจากนี้ ยังรายงานความก้าวหน้าการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศด้าน อววน. ในเวทีนานาชาติ และสรุปตัวชี้วัดสำคัญที่สะท้อนถึงความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามนโยบายและยุทธศาสตร์ อววน. พ.ศ. 2563 - 2570 และสรุปมาตรการ อววน. ที่สำคัญในการพัฒนาประเทศตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ |
|
2. สร้างความสามารถ อววน. สู่การเก็บเกี่ยวผลในสาขาที่ประเทศไทยมีศักยภาพ |
การสร้างศักยภาพให้แก่ภาคส่วนต่างๆ รวมไปถึงการวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันเพื่ออนาคตในด้านการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) อาหาร (Food) เครื่องมือแพทย์ (Medical Device) จีโนมิกส์ (Genomics) วัคซีน (Vaccines) ยาชีววัตถุ (Biologics) อุตสาหกรรมยานยนต์ใหม่ (Next-Generation Automotive) เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม (Innovation Driven Enterprise: IDE) ระบบนิเวศนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) อุตสาหกรรมวัสดุขั้นสูง (Advanced Materials) การวิจัยด้านเทคโนโลยีควอนตัม (Quantum Technology) ด้านระบบโลกและอวกาศ (Earth Space System) สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ (Social Sciences, Humanities and Arts) |
|
3. ปรับกระบวนทัศน์การอุดมศึกษาสำหรับโลกยุคการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกโฉม |
แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อการพัฒนาอุดมศึกษา (Disruption) ซึ่งนำไปสู่การดำเนินการต่างๆ ของสถาบันอุดมศึกษา เช่น การพลิกโฉมมหาวิทยาลัย การปรับทิศทางของสถาบันอุดมศึกษาในการพัฒนากำลังคนตามความต้องการของประเทศ ทั้งในการจัดการเรียนการสอนแบบ New Normal ในยุคการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การจัดหลักสูตรการเรียนแบบไม่ได้ปริญญา (Non-degree) การผลิตบัณฑิตฐานสมรรถนะ การจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา รวมไปถึงการส่งเสริมสถาบันอุดมศึกษาในการตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ เช่น มหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ (Entrepreneurial University) มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่สถาบันอุดมศึกษาเพื่อการวิจัยขั้นแนวหน้าและนวัตกรรม เป็นต้น |
|
4. การปฏิรูประบบ อววน. เพื่อวางรากฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน |
การขับเคลื่อนการปฏิรูประบบ อววน. ใน 6 ด้าน ดังนี้ (1) การปรับโครงสร้างหน่วยงาน (2) การจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนเพื่อเป็นทิศทางการพัฒนาด้าน อววน. ของประเทศ (3) การพัฒนาระบบงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผน (4) การจัดระบบติดตามและประเมินผลเพื่อติดตามและประเมินผลนโยบายและยุทธศาสตร์ด้าน อววน. (5) การเชื่อมโยงข้อมูล อววน. ทั้งระบบ และ (6) การพัฒนาและปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ |
|
5. ภาพรวมการดำเนินการที่ผ่านมาและแนวทางการพัฒนา อววน. ในอนาคต |
ภาพรวมการดำเนินงานของ อววน. ในช่วงที่ผ่านมาและแนวทางการพัฒนาในระยะ 5 ปีข้างหน้า โดยมุ่งเน้นการทำงานตามยุทธศาสตร์ 6 ด้าน คือ (1) เปลี่ยนความยากจนสู่ความมั่งมีอย่างทั่วถึง (2) สร้างเสริมคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์และพลังทางสังคมเพื่อการพัฒนาสมดุล (3) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ - เศรษฐกิจหมุนเวียน - เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน (4) ยกระดับอุตสาหกรรมและวางรากฐานเพื่ออนาคต (5) พลิกโฉมการอุดมศึกษาและพัฒนากำลังคนให้ตอบโจทย์ประเทศ และ (6) ปฏิรูประบบ อววน. ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 11 มกราคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A1233