แผนการใช้เงินของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 11 January 2022 22:48
- Hits: 10385
แผนการใช้เงินของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เสนอแผนการใช้เงินของ กสศ. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ตามที่คณะกรรมการบริหาร กสศ. เห็นชอบแล้ว ในกรอบวงเงินงบประมาณ จำนวน 7,590.34 ล้านบาท เพื่อ กสศ. จะได้จัดทำรายละเอียดคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เสนอสำนักงบประมาณ (สงป.) พิจารณาต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กสศ. รายงานว่า คณะกรรมการบริหาร กสศ. มีมติเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564 เห็นชอบแผนการใช้เงินของ กสศ. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และเห็นชอบให้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. กสศ. ได้จัดทำแผนการใช้จ่ายเงิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ภายใต้กรอบวงเงินรวมทั้งสิ้น 7,590.34 ล้านบาท จำแนกเป็น 9 แผนงาน สรุปได้ ดังนี้
1) นวัตกรรมและการวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เช่น พัฒนานวัตกรรมระบบเทคโนโลยีและข้อมูลสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการจัดสรรทรัพยากรด้านการศึกษาของประเทศ และวิจัยและพัฒนาร่วมกับพันธมิตรและเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ที่ชี้ถึงสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในมิติต่างๆ
2) พัฒนาระบบหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษา (ปฐมวัย-ภาคบังคับ) เช่น จัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขตั้งแต่ระดับปฐมวัย-การศึกษาภาคบังคับ และพัฒนาต้นแบบระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนเพื่อติดตามและป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษา
3) พัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ เช่น สนับสนุนการทำงานร่วมกับหน่วยนโยบายเพื่อให้เกิดกลไกการพัฒนาโรงเรียนในระดับพื้นที่เพื่อต่อยอดนวัตกรรมการเรียนการสอน ยกระดับการเรียนรู้ของเด็กที่มีความต้องการที่แตกต่างกัน และสนับสนุนการนำระบบสารสนเทศมาใช้พัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ
4) จัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เช่น พัฒนากรอบการทำงานจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำจากฐานข้อมูลและการทบทวนผลการดำเนินงานที่ผ่านมา
5) พัฒนาระบบการผลิตและพัฒนาครูสำหรับโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล เช่น ส่งเสริมและสนับสนุนนักเรียนยากจนพิเศษที่มีใจรักในวิชาชีพครูได้เรียนครูในสถาบันผลิตและพัฒนาครูคุณภาพเพื่อกลับไปเป็นครูยังภูมิลำเนา และสนับสนุนการพัฒนาโรงเรียนและเครือข่ายร่วมกับการพัฒนาครูรุ่นใหม่ในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล
6) ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับสูงกว่าภาคบังคับ เช่น ส่งเสริมให้เยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสได้ศึกษาต่อในระดับที่สูงกว่าการศึกษาภาคบังคับ และพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับสายอาชีพให้มีคุณภาพสูง
7) ส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ เช่น พัฒนาต้นแบบหน่วยจัดการเรียนรู้ที่สามารถจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นตามความต้องการ และศักยภาพของเยาวชนและแรงงานนอกระบบ
8) สื่อสารขับเคลื่อนนโยบายและระดมความร่วมมือ เช่น สนับสนุนจังหวัดและท้องถิ่นในการยกระดับบทบาทการสื่อสารและผลักดันนโยบายการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
9) บริหารและพัฒนาระบบงาน เช่น พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ
2. ผลผลิตสำคัญ/ผลต่อประชาชนและประเทศ
2.1 เด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสได้รับการอุดหนุนเงินเพื่อบรรเทาอุปสรรคการเข้าถึงการศึกษาที่สอดคล้องกับความจำเป็น และเพื่อป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาในทุกช่วงระดับชั้น โดยเพาะอย่างยิ่งในช่วงชั้นรอยต่อเป็นรายบุคคลตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน และมีการพัฒนาตามศักยภาพ จำนวน 3,017,081 คน/ครั้ง
2.2 เยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสในระบบการศึกษาได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนให้ศึกษาต่อในระดับชั้นที่สูงกว่าการศึกษาภาคบังคับ จำนวน 8,983 คน
2.3 เยาวชนและแรงงานนอกระบบการศึกษาได้รับการช่วยเหลือตามความจำเป็นหรือสนับสนุนให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาและได้รับการพัฒนาทักษะวิชาชีพที่เหมาะสม หรือได้รับการพัฒนาศักยภาพเพื่อการประกอบสัมมาชีพโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน จำนวน 25,000 คน
2.4 ครูและหน่วยจัดการเรียนรู้ทั้งในและนอกระบบการศึกษาได้รับการพัฒนาคุณภาพทั่วถึง (ครูหรือนักศึกษาครู 23,983 คน และโรงเรียน 750 แห่ง) เกิดการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการผลิตและพัฒนาครูต้นแบบและสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทำให้การผลิตครูมีคุณภาพและกระจายตัวอย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
2.5 องค์ความรู้ นวัตกรรม และต้นแบบ สำหรับภาครัฐและสังคมใช้เป็นแนวทางในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา เช่น ผลงานองค์ความรู้ งานวิจัยและนวัตกรรมในเชิงระบบ รวมถึงโครงการต้นแบบของ กสศ. ได้รับการนำไปใช้หรือถ่ายทอดไปสู่ภาคี เพื่อนำไปใช้ขยายผลในการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 11 มกราคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A1229