รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3/2564 และแนวโน้มไตรมาสที่ 4/2564 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนตุลาคม 2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 11 January 2022 22:44
- Hits: 9261
รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3/2564 และแนวโน้มไตรมาสที่ 4/2564 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนตุลาคม 2564
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3/2564 และแนวโน้มไตรมาสที่ 4/2564 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนตุลาคม 2564 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม เสนอดังนี้
สาระสำคัญ
ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 3/2564 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัว ร้อยละ 0.8 ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับในไตรมาสที่ 2/2564 ที่ขยายตัวร้อยละ 20.7 เป็นผลมาจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องเป็นวงกว้าง กระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายภาคส่วน อุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัวในไตรมาสที่ 3/2564 อาทิ การกลั่นปิโตรเลียม เนื่องจากปีนี้มีการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นของโรงกลั่นบางราย ประกอบกับความต้องการใช้ในประเทศที่ชะลอตัวลงจากการระบาด ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูปยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อน Hard Disk Drive จากการระบาดระลอกล่าสุด ที่รุนแรงและกระจายไปมากกว่าระลอกที่ผ่านมา และยังมีการระบาดที่เป็นคลัสเตอร์ของโรงงานของผู้ผลิต รถจักรยานยนต์ เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดที่รุนแรงกว่าปีก่อนมาก ทำให้เกิดการขาดแคลนชิ้นส่วนที่ใช้ในการผลิต สำหรับอุตสาหกรรมสำคัญที่ยังขยายตัวในไตรมาสที่ 3/2564 อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จากตลาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตามแนวโน้มสินค้าเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ออกมาที่มีการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนประกอบเพิ่มขึ้นมาก ผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ ที่มิใช่ยางล้อ เนื่องจากตลาดต่างประเทศมีการขยายตัวที่ดีทำให้มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น
ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนตุลาคม 2564 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ขยายตัวร้อยละ 2.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากความต้องการซื้อในประเทศและต่างประเทศเริ่มขยายตัวในหลายสินค้า หลังจากภาครัฐผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว นอกจากนี้เริ่มมีคำสั่งซื้อสินล่วงหน้าเพื่อใช้ในช่วงเทศกาลปีใหม่
อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนตุลาคม 2564 ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน คือ
1. รถยนต์และชิ้นส่วน ขยายตัวร้อยละ 6.02 จากปัญหาขาดแคลนชิปและชิ้นส่วนรถยนต์เริ่มคลี่คลาย โรงงานผลิตชิ้นส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศส่งชิ้นส่วนให้ไทยได้มากขึ้น ทำให้กลับมาผลิตได้เป็นปกติและสามารถส่งออกสินค้าได้มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน
2. ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวร้อยละ 12.41 ตามความต้องการสินค้าในตลาดโลกที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในสินค้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยุคใหม่
3. การกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวร้อยละ 6.26 จากการหยุดซ่อมบำรุงบางหน่วยกลั่นของโรงกลั่นบางแห่งในปีก่อน รวมถึงในช่วงนี้ประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติและมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น หลังจากประชาชนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนแล้วในปีนี้ ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปมีเพิ่มขึ้น
4. เฟอร์นิเจอร์ ขยายตัวร้อยละ 36.17 ตามคำสั่งซื้อที่กลับเข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะลูกค้าจากอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ส่วนตลาดในประเทศได้รับคำสั่งซื้อเป็นเครื่องเรือนทำด้วยโลหะเพิ่มขึ้น
5. ผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ ที่มิใช่ยางล้อ ขยายตัวร้อยละ 12.88 จากคำสั่งซื้อที่กลับเข้ามามากขึ้นโดยเฉพาะจากลูกค้าจีน ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มดีขึ้นและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศที่เริ่มคลี่คลาย
แนวโน้มอุตสาหกรรมสาขาสำคัญ ไตรมาสที่ 4/2564
อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า คาดการณ์ว่าจะขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อย เนื่องจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ประกอบกับราคาเหล็กในตลาดโลก ยังอยู่ในระดับสูงจึงเป็นโอกาสในการแข่งขันของผู้ผลิตในประเทศ
อุตสาหกรรมไฟฟ้า คาดว่าดัชนีผลผลิตและมูลค่าการส่งออกจะยังคงมีการขยายตัวได้เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10.32 และ 3.73 ตามลำดับ เนื่องจากผู้บริโภคได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น สถานการณ์การแพร่ระบาดจึงคลี่คลายขึ้นตามลำดับ รวมถึงผลกระทบจากน้ำท่วมส่งผลให้กลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้ายังมีความต้องการจากผู้บริโภคในประเทศ นอกจากนี้จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลายในตลาดส่งออกหลักของไทย ส่งผลบวกต่อการขยายตัวของการส่งออกอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า
อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ คาดว่า ผลิตภัณฑ์กระดาษที่ใช้ผลิตกล่องบรรจุภัณฑ์ จะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามการบริโภคในประเทศ ซึ่งได้อานิสงส์ตามการใช้งานสำหรับซื้อขายสินค้าทางออนไลน์ ส่วนการส่งออกจะขยายตัวต่อเนื่องในกลุ่มเยื่อกระดาษ
อุตสาหกรรมยาง และผลิตภัณฑ์ยาง การผลิตยางรถยนต์คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.31 ตามแนวโน้มการขยายตัวของตลาดส่งออก ในส่วนของการผลิตถุงมือยางคาดว่าจะชะลอตัวลงร้อยละ 5.17 เนื่องจากมีประเทศคู่แข่งทางการค้าเพิ่มขึ้น และไทยไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ สำหรับการผลิตยางแปรรูปขั้นปฐม คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.00 ตามแนวโน้มความต้องการใช้ยางแปรรูปขั้นปฐมของตลาดทั้งในและต่างประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น
อุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าดัชนีผลผลิตในภาพรวมและมูลค่าการส่งออกจะขยายตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจและการค้าโลกมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีปัจจัยบวกจากเงินบาทอ่อนค่า การคลายมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศ รวมถึงการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การผลิตและการส่งออกยังมีความเสี่ยงจากการระบาดที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 11 มกราคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A1228