ผลการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-ลาว ครั้งที่ 22
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 11 January 2022 21:37
- Hits: 9017
ผลการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-ลาว ครั้งที่ 22
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-ลาว ครั้งที่ 22 และมอบหมายส่วนราชการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามผลการประชุมฯ ต่อไป ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กต. รายงานว่า รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) ได้เข้าร่วมการประชุมฯ เมื่อวันที่ 3-4 พฤศจิกายน 2564 ณ กรุงเทพมหานคร ซึ่งจัดขึ้นในบริบทของการฉลองโอกาสครบรอบ 70 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ภายใต้แนวคิดหลัก “การฟื้นฟูอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนไปด้วยกัน” สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1.ผลการประชุมฯ
ประเด็นความร่วมมือ |
สาระสำคัญ |
|
1) ด้านการเมืองและความมั่นคงเพื่อส่งเสริมความมั่นคงร่วมกัน |
1.1 ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องที่จะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือตามแนวชายแดน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการลักลอบข้ามแดนผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ และปัญหายาเสพติด ซึ่งฝ่าย สปป. ลาว ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ 1.2 ฝ่าย สปป. ลาว ขอบคุณรัฐบาลไทยที่ได้อำนวยความสะดวกให้แรงงานลาวเดินทางกลับภูมิลำเนาและขอให้ดูแลช่วยเหลือแรงงานลาวที่ยังอยู่ในไทยต่อไป โดยทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องให้กระทรวงแรงงานของทั้ง 2 ประเทศหารือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อนำเข้าแรงงานอย่างถูกกฎหมาย ฝ่าย สปป. ลาว ขอบคุณฝ่ายไทยที่มีส่วนร่วมในการสนับสนุนการจัดตั้งคณะศาลปกครองในศาลประชาชนสูงสุดแห่ง สปป. ลาว |
|
2) ด้านเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูที่มั่นคงและยั่งยืนของ 2 ประเทศ |
2.1 ฝ่าย สปป. ลาว เห็นพ้องในหลักการเรื่องการกลับมาเปิดจุดผ่านแดน 7 จุด ที่ปิดชั่วคราวเพื่อควบคุมโรค และเห็นพ้องกับข้อเสนอของฝ่ายไทยที่ให้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อหารือมาตรการในการเปิดการท่องเที่ยวระหว่างกันในจังหวัดชายแดนในลักษณะ one-day trip โดยอาจเริ่มจากจุดผ่านแดนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย-เวียงจันทน์) เป็นการนำร่อง 2.2 ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องที่จะเร่งรัดให้เกิดการเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของ สปป. ลาว ที่จะเปลี่ยนประเทศจาก Land-Locked เป็น Land-Linked และเห็นพ้องให้มีการหารีอ 3 ฝ่าย (ไทย-ลาว-จีน) เพื่อเชื่อมโยงระบบรางของไทยกับ สปป. ลาวให้เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย โดยเห็นว่าการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงสำหรับรถไฟแห่งใหม่ที่บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 เป็นเรื่องเร่งด่วน ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันในสาขาใหม่ๆ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ เช่น การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลและการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว 2.3 ฝ่าย สปป. ลาวขอให้ไทยพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเพิ่มเติมและขยายกรอบการรับซื้อไฟฟ้าให้มากกว่า 9,000 เมกะวัตต์ โดยทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องที่จะส่งเสริมการขายไฟฟ้าจากสปป. ลาว ผ่านระบบสายส่งของไทยไปยังประเทศอื่นๆ |
|
3) ด้านการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดในระดับประชาชน |
3.1 ฝ่าย สปป. ลาว ขอบคุณความช่วยเหลือจากภาครัฐและภาคเอกชนของไทยในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 3.2 ฝ่ายไทยแสดงความพร้อมที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยการมอบทุนในสาขาต่างๆ นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายดอนฯ) ได้ทำพิธีเชิงสัญลักษณ์เพื่อส่งมอบศูนย์บำบัดและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดและศูนย์รองรับผู้ป่วยอุบัติเหตุเบื้องต้นให้แก่โรงพยาบาลเมืองโพนโฮง และส่งมอบอุปกรณ์การแพทย์ สำหรับเตรียมการรองรับผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ให้แก่โรงพยาบาลเด็กนครหลวงเวียงจันทน์ สปป. ลาว เพื่อเป็นการฉลองโอกาสครบรอบ 70 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับ สปป. ลาว |
2. ที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบร่างบันทึกการประชุมฯ โดยสาระสำคัญของเอกสารไม่แตกต่างจากที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบไว้แล้ว
3. ผลการหารือทวิภาคี
3.1 ความร่วมมือเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยฝ่าย สปป. ลาว ตั้งเป้าหมายการฉีตวัคซีนให้ประชากร 5 ล้านคน (จากทั้งหมดประมาณ 7 ล้านคน) ภายในเดือนธันวาคม 2564 และจะเริ่มฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในช่วงต้นปี 2565 รวมทั้งอยู่ระหว่างการจัดทำแผนเปิดประเทศในอนาคต โดยคำนึงถึงจำนวนประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วเป็นสำคัญและขอให้ฝ่ายไทยพิจารณาฉีดวัคซีนให้แรงงานลาวในไทยทั้งในและนอกระบบ ซึ่งฝ่ายไทยได้ย้ำนโยบายที่จะฉีดวัคซีนให้ประชาชนทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย
3.2 การคุ้มครองดูแลภาคเอกชนไทยใน สปป. ลาว ฝ่ายไทยย้ำให้ฝ่าย สปป. ลาว ดูแลภาคเอกชนและคนไทยในสปป. ลาว ให้ได้รับความสะดวกและการคุ้มครองตามกฎหมาย ซึ่งฝ่าย สปป. ลาวตอบรับและสนับสนุนให้นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนใน สปป. ลาว ในด้านการเกษตรเพื่อส่งออกมากขึ้น
3.3 การบริหารจัดการในแม่น้ำโขง ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันบริหารจัดการน้ำ เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำในแม่น้ำโขง โดยฝ่ายไทยขอให้ สปป. ลาวเร่งรัดการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการระหว่างไทยกับ สปป. ลาว
3.4 ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม ทั้ง 2 ฝ่ายย้ำการดำเนินการตามเจตนารมณ์ของที่ประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 11 มกราคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A1224