ผลการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 20
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 11 January 2022 21:22
- Hits: 3969
ผลการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 20
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอผลการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 20 เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งมีเนการาบรูไนดารุสซาลาม (บรูไน) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม โดยรองนายกรัฐมนตรี (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้มอบหมายให้รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย)1 เข้าร่วมการประชุม สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. การประชุมระหว่าง AEC Council และรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล2 ที่ประชุมฯ ตระหนักถึงความสำคัญของการร่วมมือระหว่างเสาประชาคมและองค์กรรายสาขาในการขับเคลื่อนประเด็นการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล โดยเน้นย้ำการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อยให้สามารถใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัลและตระหนักถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์ นอกจากนี้ ได้สนับสนุนและให้ความเห็นชอบในหลักการต่อร่างแถลงการณ์ของผู้นำอาเซียนว่าด้วยการยกระดับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน [คณะรัฐมนตรีมีมติ (19 ตุลาคม 2564) เห็นชอบร่างแถลงการณ์ดังกล่าวแล้ว]
2. การประชุม AEC Council ครั้งที่ 20 สรุปได้ ดังนี้
2.1 ประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจ3 ที่ประชุมฯ รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการในประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจที่บรูไนในฐานะประธานอาเซียน จะผลักดันให้บรรลุผลสำเร็จในปี 2564 รวม 13 ประเด็น4 โดยดำเนินการแล้วเสร็จ 7 ประเด็น เช่น การจัดทำแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวอาเซียนหลังการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 การจัดทำกรอบการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนของอาเซียน และการจัดทำแถลงการณ์ร่วม เรื่องการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานและความมั่นคงทางพลังงานของอาเซียน โดยประเด็นที่เหลือ เช่น การประกาศการเจรจาความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-แคนาดา การจัดทำแผนปฏิบัติการภูมิภาคว่าด้วยการปฏิบัติตามบรรทัดฐานความรับผิดชอบของรัฐบนโลกไซเบอร์ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2564 นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับรองกรอบเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและเห็นชอบแผนงานบันดาร์เสรีเบกาวัน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงอาเซียนไปสู่ความเป็นดิจิทัล
2.2 การดำเนินการตามข้อเสนอแนะจากการทบทวนแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ค.ศ. 2025 ระยะกลาง5 ที่ประชุมฯ เห็นพ้องในประเด็นความท้าทายสำหรับข้อเสนอแนะที่มีความเกี่ยวข้องกับหลายสาขา โดยขอให้องค์กรรายสาขาเร่งพิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอแนะในประเด็นที่คาบเกี่ยวระหว่างเสาประชาคม โดยเฉพาะเรื่องความเชื่อมโยงกับห่วงโซ่มูลค่าโลกและการรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 หรืออาจพิจารณาจัดทำแผนงานทางเลือกสำหรับข้อเสนอแนะที่คาดว่าจะไม่สามารถปฏิบัติได้ตามที่ระบุในข้อเสนอแนะฯ
2.3 การจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนหลังปี ค.ศ. 20256 ที่ประชุมฯ รับทราบความคืบหน้าการจัดทำวิสัยทัศน์ฯ และแนวโน้มสำคัญที่จะกำหนดทิศทางของอาเซียนหลังปี ค.ศ. 2025 ได้แก่ (1) การเปลี่ยนแปลงด้านประชากรและการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นเมือง (2) การเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นดิจิทัล เทคโนโลยี และนวัตกรรม (3) สถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (4) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความขาดแคลนทรัพยากร (5) การเปลี่ยนแปลงอำนาจด้านเศรษฐกิจของโลก ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เน้นย้ำความสำคัญของประเด็นความยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นดิจิทัล การตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงฉับพลันในอนาคต และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและความสัมพันธ์กับคู่เจรจา
2.4 การเตรียมการเป็นประธานอาเซียนในปี 2565 ของราชอาณาจักรกัมพูชา7 (กัมพูชา) ที่ประชุมฯ รับทราบการกำหนดประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจที่กัมพูชาจะผลักดันให้บรรลุผลสำเร็จในปี 2565 ภายใต้ยุทธศาสตร์หลัก 4 ด้าน ได้แก่ (1) การส่งเสริมความเชื่อมโยงทางดิจิทัล วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (2) การลดช่องว่างการพัฒนาเพื่อความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน (3) การรวมตัวกันมากขึ้น ครอบคลุมทุกภาคส่วน มีความเป็นเอกภาพ และมีความสามารถในการแข่งขัน และ (4) การเป็นส่วนสำคัญของประชาคมโลกเพื่อการเติบโตและการพัฒนา
2.5 ข้อเสนอแนะของคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนต่อผู้นำอาเซียน ที่ประชุมฯ เห็นชอบข้อเสนอแนะฯ ได้แก่ (1) มุ่งเน้นข้อริเริ่มที่มีคุณภาพและพร้อมรับความท้าทายใหม่ๆ ควรให้ความสำคัญกับคุณภาพ ประสิทธิภาพการดำเนินการ และผลกระทบต่อการบูรณาการของอาเซียน (2) ดำเนินการตามข้อริเริ่มอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ควรจัดทำแผนดำเนินงานที่มีรายละเอียดกิจกรรมและองค์กรรายสาขาที่เกี่ยวข้องกับทั้งสามเสาประชาคม รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (3) เสริมสร้างความแข็งแกร่งของกลไกการดำเนินการ ติดตาม และประเมินผล เพื่อให้การดำเนินการเกิดผลผลิตและผลลัพธ์ตามแผน โดยต้องมีการประสานงานระหว่างองค์กรรายสาขามากขึ้น และ (4) การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ควรจัดทำแผนกลยุทธ์การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ครอบคลุมกว่าแค่ภาคเอกชน
3. ความเห็นและข้อสังเกต
3.1 การประกาศเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-แคนาดาเป็นหนึ่งในประเด็นด้านเศรษฐกิจที่บรูไนผลักดันให้ประสบความสำเร็จในปี 2564 ทั้งนี้ ได้มีการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-แคนาดา เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 เพื่อประกาศเจรจาจัดทำความตกลงฯ แล้ว (คณะรัฐมนตรีมีมติ (9 พฤศจิกายน 2564) เห็นชอบการเข้าร่วมเจรจาฯ แล้ว]
3.2 ประเทศสมาชิกอาเซียนให้ความสำคัญกับแนวโน้มใหม่ๆ ของโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นดิจิทัลและประเด็นความยั่งยืน นอกจากนี้ หลายประเทศนอกภูมิภาคได้ผลักดันประเด็นความยั่งยืนโดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อนำมาใช้เป็นประเด็นในการเจรจาความตกลงทางด้านเศรษฐกิจการค้ามากขึ้น ดังนั้น ประเทศไทยจึงควรปรับตัวให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว รวมทั้งคำนึงถึงและตอบสนองต่อแนวโน้มของอาเซียนและประเทศคู่เจรจาเพื่อให้มีความพร้อมต่อการเจรจาในอนาคต เพื่อให้ประเทศไทยยังคงเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียนและพร้อมรับการเจรจาในอนาคตต่อไป
____________________________
1 ข้อมูลที่ประสานเพิ่มเติมจากกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564
2 หน่วยงานรับผิดชอบหลัก คือ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) และกระทรวงพาณิชย์ (พณ.)
3 หน่วยงานรับผิดชอบหลัก คือ กระทรวงพาณิชย์ (พณ.)
4 ข้อมูลที่ประสานเพิ่มเติมจากกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2565 พบว่าขณะนี้ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ 12 ประเด็น โดยประเด็นที่ยังไม่ได้ดำเนินการ 1 ประเด็น คือ การจัดประชุมให้ความรู้ด้านการเงินของอาเซียนซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกของปี 2565
5 หน่วยงานรับผิดชอบหลัก คือ กระทวงพาณิชย์ (พณ.)
6 หน่วยงานรับผิดชอบหลัก คือ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
7 หน่วยงานรับผิดชอบหลัก คือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงพลังงาน (พน.) และกระทรวงพาณิชย์ (พณ.)
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 11 มกราคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A1221