รายงานผลการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ ครั้งที่ 9 และการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 11 January 2022 21:05
- Hits: 4079
รายงานผลการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ ครั้งที่ 9 และการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอรับทราบายงานผลการประชุมระดับอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติครั้งที่ 9 (The 9th ASEAN Ministerial Meeting on Disaster Management: AMMDM) และการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1) การเฉลิมฉลองวันจัดการภัยพิบัติของอาเซียน หัวข้อ “การสร้างความเข้มแข็งในการเป็นหุ้นส่วนและการประยุกต์ใช้นวัตกรรมด้านการจัดการภัยพิบัติของอาเซียน” 2) การประชุมผู้นำภาคีเพื่อการดำเนินตามความตกลงอาเซียนว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติและการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ครั้งที่ 10 [The 10th Meeting of the Conference of the Parties (COP) to AADMER] 3) การประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียน-จีน ด้านการจัดการภัยพิบัติ ครั้งที่ 1 (The 1st AMMDM Plus China) และ 4) การประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียน-ญี่ปุ่น ด้านการจัดการภัยพิบัติ ครั้งที่ 1 (The 1st AMMDM Plus Japan) ด้วยระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2564 (คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2548 อนุมัติร่างความตกลงอาเซียนว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติและการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นความตกลงฉบับแรกของอาเซียนในด้านการจัดการภัยพิบัติและให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มท. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการดำเนินการดังกล่าว) โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายนิพนธ์ บุญญามณี) และผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงมหาดไทย (พลตำรวจโท ณัฐพิชย์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา) เป็นรองประธานการประชุมฯ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายนิพนธ์ฯ) ได้กล่าวถ้อยแถลงของประเทศ ในหัวข้อ “การสร้างความเข้มแข็งในการเป็นหุ้นส่วนและการประยุกต์ใช้นวัตกรรมด้านการจัดการภัยพิบัติของอาเซียน” โดยเน้นย้ำความสำคัญของการเสริมสร้างความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ประเทศคู่เจรจา และองค์กรภาคีเครือข่ายต่างๆ รวมไปถึงการใช้นวัตกรรมในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่สมดุลหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รวมทั้งได้แสดงความพร้อมของไทยในโอกาสรับตำแหน่งประธานการประชุมคณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ (ASEAN Committee on Disaster Management: ACDM) ในปี 2565 โดยมีแนวทางในการขับเคลื่อนงานของไทย คือ “BALANCING ACT” โดยเฉพาะการเตรียมการล่วงหน้าก่อนเกิดภัยพิบัติ การคำนึงถึงเพศภาวะและความครอบคลุมถึงประชากรทุกกลุ่ม การขับเคลื่อนหลักการ Bangkok Principles เพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในภาคสาธารณสุข และการสร้างความเข้มแข็งในระดับท้องถิ่น
2. มติที่ประชุม AMMDM ครั้งที่ 9 และการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง
2.1 รับทราบผลการดำเนินงานของ ACDM และศูนย์ประสานงานอาเซียนในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance on disaster management: AHA Centre) โดยเฉพาะการสนับสนุนการจัดการกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศมาเลเซีย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และประเทศไทย พร้อมทั้งได้แสดงความยินดีกับการปฏิบัติงานครบรอบ 10 ปี ของ AHA Centre
2.2 รับทราบความคืบหน้าการทบทวนระเบียบการจัดการทางการเงินกองทุนอาเซียนสำหรับการจัดการภัยพิบัติและบรรเทาสถานการณ์ฉุกเฉิน ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ตลอดจนยอดเงินคงเหลือและข้อเสนอการจัดสรรเงินในกองทุน รวมถึงการใช้กองทุนให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นกรณีพิเศษเพื่อจัดส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้แก่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ซึ่งเป็นการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อ*
2.3 เห็นชอบการเปิดตัวเว็บไซต์ระบบติดตามและประเมินผลการดำเนินงานภายใต้แผนงานความตกลงอาเซียนว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติและการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินและเอกสารผลลัพธ์ต่างๆ ได้แก่ (1) รายงานการดำเนินงานของอาเซียนเพื่อมุ่งสู่ความสามารถในการอยู่ร่วมกับภัยพิบัติอย่างยั่งยืน (2) รายงานแนวทางการบูรณาการความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติในภูมิภาคอาเซียนร่วมกับองค์กรอาเซียนเฉพาะสาขาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (3) แผนยุทธศาสตร์การปฏิบัติงานร่วมระหว่างอาเซียนและองค์การสหประชาชาติ ฉบับที่ 4 ค.ศ. 2021 - 2025 (4) รายงานแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคด้านการปรับตัวต่อภัยแล้ง ค.ศ. 2021 - 2025 และ (5) กรอบแผนงานด้านการจัดการภัยพิบัติระดับภูมิภาคเพื่อส่งเสริมการปกป้อง การคำนึงถึงเพศภาวะและประชากรทุกกลุ่ม ค.ศ. 2021 – 2025
2.4 เห็นชอบในหลักการต่อร่างเอกสารสำหรับการดำเนินความร่วมมือระหว่างอาเซียน-จีน ด้านการจัดการภัยพิบัติ จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ (1) ร่างขอบเขตการดำเนินงานสำหรับกลไกความร่วมมือ ACDM Plus China และการประชุม AMMDM Plus China (2) ร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุม AMMDM Plus China ครั้งที่ 1 และ (3) ร่างแผนงานความร่วมมืออาเซียน-จีน ด้านการจัดการภัยพิบัติ ค.ศ. 2021 – 2025 และร่างเอกสารสำหรับการดำเนินความร่วมมือระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น ด้านการจัดการภัยพิบัติ จำนวน 2 ฉบับได้แก่ ร่างขอบเขตการดำเนินงานสำหรับกลไกความร่วมมือ ACDM Plus Japan และการประชุม AMMDM Plus Japan และร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุม AMMDM Plus Japan ครั้งที่ 1
2.5 ที่ประชุมฯ แสดงความยินดีต่อการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกันระหว่างอาเซียนและสหพันธรัฐรัสเซีย [ตามมติคณะรัฐมนตรี (19 พฤษภาคม 2563)] เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และขอให้สำนักเลขาธิการอาเซียนเร่งรัดการจัดทำบันทึกความเข้าใจด้านการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชุมชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระหว่างอาเซียนและสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ รวมทั้งแสดงความยินดีต่อความสำเร็จในการจัดตั้งกลไกความร่วมมือระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติร่วมกับประเทศคู่เจรจา 2 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน และประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนแผนงาน AADMER Work Programme ค.ศ. 2021 – 2025 และการจัดตั้งกลไกดังกล่าวร่วมกับสาธารณรัฐเกาหลี ในปี 2565
__________________
* ฉันทามติ 5 ข้อ ของอาเซียน ประกอบด้วย (1) ต้องมีการยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเมียนมาทันที โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องใช้ความอดทนอดกลั้นอย่างที่สุด (2) ต้องมีการหารือที่สร้างสรรค์ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้น เพื่อหาทางออกโดยสันติวิธีเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน (3) ผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนจะทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการเป็นสื่อกลางของกระบวนการหารือภายใต้การช่วยเหลือของเลขาธิการอาเซียน (4) อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมผ่านศูนย์ประสานงานเพื่อการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติของอาเซียน และ (5) ผู้แทนพิเศษรวมถึงคณะผู้แทนจะเดินทางเยือนเมียนมาเพื่อพบกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
A1220