ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทน ในกรณีชราภาพเป็นการเฉพาะในช่วงที่มีการลดอัตราเงินสมทบ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 05 January 2022 11:52
- Hits: 9369
ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทน ในกรณีชราภาพเป็นการเฉพาะในช่วงที่มีการลดอัตราเงินสมทบ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และ อัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพเป็นการเฉพาะในช่วงที่มีการลดอัตราเงินสมทบ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการ ต่อไปได้ และให้ รง. รับข้อเสนอแนะและความเห็นของกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ รง. เสนอว่า
1. โดยที่มาตรา 7 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวง และมาตรา 77 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542 บัญญัติให้หลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ประกอบกับมาตรา 118 แห่งพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 บัญญัติให้โอนอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในการดำเนินการเกี่ยวกับพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาเป็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
2. ในคราวประชุมคณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษา (ชุดที่ 13) ครั้งที่ 5/2564 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพให้แก่ผู้ประกันตนซึ่งออกเงินสมทบ เข้ากองทุน ในช่วงที่มีการลดอัตราเงินสมทบในงวดเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 [กฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. 3563] โดยให้คำนวณจากอัตราเงินสมทบเพิ่มในอัตราร้อยละ 0.45 ของค่าจ้างผู้ประกันตน และในงวดเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2564 [กฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564] โดยให้คำนวณจากอัตราเงินสมทบเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.3 ของค่าจ้างผู้ประกันตน และให้ดำเนินการ ออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพเป็น การเฉพาะในช่วงเวลาที่มีการลดอัตราเงินสมทบ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
3. รง. จึงได้ยกร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพเป็นการเฉพาะในช่วงที่มีการลดอัตราเงินสมทบ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงแรงงานได้ตรวจพิจารณาร่างกฎกระทรวงดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว ในการประชุมครั้งที่ 20/2564 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 และได้รับรองมติการประชุมแล้ว
4. รง. ได้ดำเนินการตามมาตรา 7 และมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
4.1 การปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบกรณีชราภาพ เพื่อการจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพเพิ่มให้ แก่ผู้ประกันตน แบ่งได้เป็น 2 ช่วงเวลา ดังนี้
4.1.1 เงินสมทบงวดเดือนมกราคม 2564 เป็นการนำอัตราเงินสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ (กองทุน 2 กรณี) ในส่วนของรัฐบาลที่เกินจากอัตราเดิมซึ่งกำหนดไว้ในอัตราร้อยละ 1 ของค่าจ้างผู้ประกันตน เพิ่มเป็นอัตราร้อยละ 1.45 ของค่าจ้างผู้ประกันตน โดยนำอัตราเงินสมทบที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.45 ของค่าจ้างผู้ประกันตน มาสมทบเพิ่มในกองทุน 2 กรณี สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 (ผู้ประกันตนซึ่งเป็นลูกจ้างซึ่งทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้าง) เดิมกำหนดอัตราเงินสมทบร้อยละ 3.7 ของค่าจ้างผู้ประกันตน เพิ่มเป็นร้อยละ 4.15 ของค่าจ้างผู้ประกันตน และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (ผู้ประกันตนซึ่งเป็นบุคคลที่เคยทำงานอยู่ในบริษัทเอกชน ตามมาตรา 33 มาก่อนแล้วลาออก แต่ต้องการรักษาสิทธิประกันสังคมไว้ จึงสมัคร เข้าใช้สิทธิประกันสังคมแทน) เดิมจัดเก็บที่ร้อยละ 3.7 ของค่าจ้างผู้ประกันตน เพิ่มเป็นร้อยละ 4.15 ของค่าจ้างผู้ประกันตน
4.1.2 เงินสมทบงวดเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2564 เป็นการนำอัตราเงินสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ (กองทุน 2 กรณี) ในส่วนของรัฐบาลที่เกินจากอัตราเดิมซึ่งกำหนดไว้ในอัตราร้อยละ 1 ของค่าจ้างผู้ประกันตน เพิ่มเป็นอัตราร้อยละ 2.3 ของค่าจ้างผู้ประกันตน โดยนำอัตราเงินสมทบที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 ของค่าจ้างผู้ประกันตน มาสมทบเพิ่มในกองทุน 2 กรณี สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เดิมกำหนดอัตราเงินสมทบร้อยละ 2.9 ของค่าจ้างผู้ประกันตน เพิ่มเป็นร้อยละ 4.2 ของค่าจ้างผู้ประกันตน และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 เดิมจัดเก็บที่ร้อยละ 0.4 ของค่าจ้างผู้ประกันตน เพิ่มเป็นร้อยละ 1.7 ของค่าจ้างผู้ประกันตน
4.2 การปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบกรณีชราภาพดังกล่าว มีผลทำให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเพิ่มขึ้น 347 บาทต่อคนต่อสามงวด สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเพิ่มขึ้น 146 บาทต่อคนต่อสามงวด โดยในภาพรวมผู้ประกันตนได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเพิ่มขึ้นรวมทั้งหมดเป็นจำนวน 1,906 ล้านบาท จำแนกเป็น ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเพิ่มขึ้นรวม 1,783 ล้านบาท และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเพิ่มขึ้นรวม 123 ล้านบาท ทั้งนี้ ไม่ทำให้ค่าใช้จ่ายของกองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้น จึงไม่มีผลกระทบต่อกองทุนประกันสังคม และเพื่อให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินบำเหน็จชราภาพที่เพิ่มขึ้นไปใช้จ่ายเพื่อยังชีพในยามชรา อันเป็นการบรรเทาปัญหาทางการเงินของผู้ประกันตนได้บางส่วน
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. กำหนดให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป
2. กำหนดให้การจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพให้แก่ผู้ประกันตนซึ่งออกเงินสมทบเข้ากองทุนในช่วงเวลาที่มีการลดอัตราเงินสมทบตั้งแต่วันที่ 1 - 31 มกราคม พ.ศ. 2564 ให้คำนวณจากอัตราเงินสมทบเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 0.45 ของค่าจ้าง
3. กำหนดให้การจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพให้แก่ผู้ประกันตนซึ่งออกเงินสมทบเข้ากองทุนในช่วงเวลาที่มีการลดอัตราเงินสมทบตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 31 มีนาคม พ.ศ. 2564 ให้คำนวณจากอัตราเงินสมทบเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 1.3 ของค่าจ้าง
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 4 มกราคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A1057