การทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบการ SMEs และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 05 January 2022 10:53
- Hits: 9023
การทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบการ SMEs และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอดังนี้
1. ทบทวนมติคณะรัฐมนตรี ดังนี้
1.1 การปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำออมสินช่วยเหลือ SMEs ในภาคการท่องเที่ยว (โครงการ Soft Loan ออมสินฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย) |
|||
มติคณะรัฐมนตรี ที่จะขอทบทวน |
การดำเนินการ ตามมติคณะรัฐมนตรีเดิม |
กค. เสนอขอทบทวนในครั้งนี้ |
|
วันที่ 18 สิงหาคม 2563 และวันที่ 29 มิถุนายน 2564 |
1) ธนาคารออมสิน (ธ.ออมสิน) ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(Small and Medium Enterprises : SMEs) รายย่อยในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว และ Supply Chain (เช่น ร้านอาหาร ธุรกิจสปา นวดแผนไทย รถรับจ้างนำเที่ยว เกสต์เฮ้าส์) 2) กำหนดระยะเวลารับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2564 |
1) ขยายกลุ่มเป้าหมายของโครงการฯ ให้ครอบคลุมถึงธุรกิจอื่นที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) (โรคโควิด 19) เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เป็นไปอย่างทั่วถึงและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น (เช่น ผู้ผลิตรายย่อย ผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีก เป็นต้น) 2) ขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 |
|
1.2 การขยายระยะเวลามาตรการสินเชื่อสู้ภัย COVID - 19 |
|||
วันที่ 5 พฤษภาคม 2564 |
กำหนดระยะเวลารับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 |
ขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 |
|
หมายเหตุ : การปรับปรุงหลักเกณฑ์และการขยายระยะเวลาของโครงการ/มาตรการดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดภาระงบประมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากยังอยู่ภายใต้กรอบงบประมาณชดเชยเดิม รวมทั้งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอื่นๆ ยังคงเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของโครงการที่คณะรัฐมนตรีได้เคยให้ความเห็นชอบไว้ |
2. มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กค. รายงานว่า
1. ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบโครงการ Soft Loan ออมสินฟื้นฟูท่องเที่ยวไทยและมาตรการสินเชื่อสู้ภัยโควิด 19 (มติคณะรัฐมนตรี 24 มีนาคม 2563 18 สิงหาคม 2563 3 พฤศจิกายน 2563 และ 29 มิถุนายน 2564) กค. ได้ดำเนินโครงการและมาตรการดังกล่าว มีผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 ดังนี้
โครงการ/มาตรการ |
ผลการดำเนินโครงการ/มาตรการ |
|
โครงการ Soft Loan ออมสินฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย |
ธ.ออมสินได้อนุมัติสินเชื่อตามโครงการฯ ไปแล้วจำนวน 4,137 รายจำนวนเงินทั้งสิ้น 1,746 ล้านบาท และยังมีวงเงินคงเหลืออีกจำนวน 3,254 ล้านบาท (วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท) |
|
มาตรการสินเชื่อสู้ภัยโควิด 19 |
- ธ.ออมสินได้อนุมัติสินเชื่อตามมาตรการฯ ไปแล้วจำนวน 820,380 ราย จำนวนเงินทั้งสิ้น 8,204 ล้านบาท และยังมีวงเงินคงเหลืออีกจำนวน 1,796 ล้านบาท (วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท) - ธ.ก.ส. ได้อนุมัติสินเชื่อตามมาตรการฯ ไปแล้วจำนวน 28,911 ราย จำนวนเงินทั้งสิ้น 288 ล้านบาท และยังมีวงเงินคงเหลืออีกจำนวน 9,712 ล้านบาท (วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท) |
2. จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่เริ่มคลี่คลายและนำไปสู่การผ่อนคลายมาตรการควบคุมในเขตพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ส่งผลให้เริ่มมีการเปิดสถานที่และการให้บริการของสถานบริการ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ เริ่มกลับมาดำเนินได้ตามปกติ รวมไปถึงการเริ่มเปิดประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ยังมีประชาชนและผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้มีรายได้ลดลงและประสบปัญหาทางด้านการเงิน ส่งผลให้ขาดเงินทุนสำหรับการเริ่มกลับมาประกอบอาชีพหรือเสริมสภาพคล่องสำหรับการดำเนินธุรกิจต่อไป ดังนั้น เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs และประชาชนให้มีเงินทุนเพียงพอที่จะนำไปใช้เพื่อการประกอบอาชีพหรือการดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง กค. จึงขอเสนอการทบทวน มติคณะรัฐมนตรีเพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบการ SMEs และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs และประชาชนให้สามารถประกอบอาชีพและดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เป็นการป้องกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 4 มกราคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A1048