รายงานประเมินผลการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562 – 2565) (ระยะครึ่งรอบ)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 05 January 2022 10:35
- Hits: 9058
รายงานประเมินผลการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562 – 2565) (ระยะครึ่งรอบ)
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ รายงานประเมินผลการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562-2565) (ระยะครึ่งรอบ) [คณะรัฐมนตรีมีมติ (29 ตุลาคม 2562) เห็นชอบและประกาศใช้แผนปฏิบัติการฯ] ซึ่งแผนปฏิบัติการฯ กำหนดให้ ยธ. (กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ) จะต้องดำเนินการรวบรวมข้อมูลผลการดำเนินงานมาจัดทำเป็นรายงานประเมินผลฯ เสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยแผนปฏิบัติการฯ เป็นการผสมผสานระหว่างมาตรการบังคับสำหรับหน่วยงานภาครัฐ และมาตรการสมัครใจสำหรับรัฐวิสาหกิจและภาคธุรกิจ ซึ่ง ยธ. ได้มีการติดตามผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ ระหว่างวันที่ 30 ธันวาคม 2563-14 พฤษภาคม 2564 โดยในภาพรวมมีหน่วยงานกรอกผลการดำเนินงานร้อยละ 100 มีการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ 130 กิจกรรม จากทั้งหมด 142 กิจกรรม คิดเป็นร้อยละ 91.55 และ มีกิจกรรมที่ยังไม่ได้ดำเนินการ 12 กิจกรรม คิดเป็นร้อยละ 8.45 ทั้งนี้ คณะกรรมการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยได้เห็นชอบรายงานประเมินผลฯ แล้ว เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานที่โดดเด่น
ด้าน |
สรุปสาระสำคัญ |
|
1.1 แผนปฏิบัติการด้านแรงงาน |
- กำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมการจ้างงานกลุ่มเปราะบาง เช่น มาตรการลดหย่อนภาษีให้ภาคธุรกิจที่จ้างงานผู้พ้นโทษ - ให้ความช่วยเหลือแรงงานและสถานประกอบการในช่วงสถานการณ์การ แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 - ประกาศนโยบายและเจตนารมณ์ส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ และส่งเสริมการขจัดการเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน |
|
1.2 แผนปฏิบัติการด้านชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม |
- กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนในรูปแบบรายงานเดียว (One Report) - กำหนดให้สินค้าและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสินค้า/ผลิตภัณฑ์ที่ควรได้รับการส่งเสริมในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ - จัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทในระดับพื้นที่ทั่วประเทศ |
|
1.3 แผนปฏิบัติการด้าน นักปกป้องสิทธิมนุษยชน |
- ยกร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการฟ้องคดีปิดปากในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ พ.ศ.... - เสนอแก้ไขร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อขยายขอบเขตบุคคลที่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติฯ - มีช่องทางร้องเรียนหลากหลายและมีมาตรการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสและผู้ให้ข้อมูล |
|
1.4 แผนปฏิบัติการด้าน การลงทุนระหว่างประเทศและบรรษัทข้ามชาติ |
- เพิ่มเงื่อนไขในการตรวจประเมินสิทธิมนุษยชนก่อนการให้เงินกู้ สำหรับดำเนินโครงการในประเทศเพื่อนบ้าน - ลงนามและดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกำหนดแนวทางการดำเนินกิจการธนาคารอย่างยั่งยืนในด้านการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์ยึดถือหลักการเงินที่มีความรับผิดชอบ และส่งเสริมหลักการสิ่งแวดล้อม-สังคม-ธรรมาภิบาล เพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน - จัดทำรูปแบบสัญญามาตรฐานที่เพิ่มประเด็นสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นที่จะต้องพิจารณาเมื่อมีการเจรจาการค้าหรือการลงทุน |
2. การดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ ของรัฐวิสาหกิจและภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นมาตรการสมัครใจ โดยมีรัฐวิสาหกิจและภาคธุรกิจร่วมให้ข้อมูลและกรอกผลการดำเนินงานในระบบรายงานผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ เช่น มีคำประกาศ/คำแถลงนโยบายด้านการเคารพสิทธิมนุษยชนขององค์กร มีการกำหนด แนวปฏิบัติขององค์กรในการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนมีการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน และมี การปลูกฝังความรับผิดชอบและสร้างความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ ในภาพรวมพบว่า รัฐวิสาหกิจและภาคธุรกิจมีความเข้าใจและปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการด้านแรงงาน และด้านชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม แต่ยังขาดความเข้าใจในด้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และด้านการลงทุนระหว่างประเทศ และบรรษัทข้ามชาติ รวมทั้งหน่วยงานที่กรอกข้อมูลผลการดำเนินงานส่วนมากเป็นภาคธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความตระหนักถึงการเคารพสิทธิมนุษยชน แต่ยังขาดความร่วมมือจากภาคธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม ซึ่ง ยธ. (กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ) จะขยายผลเพื่อต่อยอดการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ ต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 4 มกราคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A1045