กรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษาในความรับผิดชอบของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 05 January 2022 10:29
- Hits: 8823
กรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษาในความรับผิดชอบของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เสนอดังนี้
1. อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษาในความรับผิดชอบของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 114,634.7682 ล้านบาท และระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์
2. อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 29,100 ล้านบาท และระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการที่ มุ่งผลสัมฤทธิ์
สาระสำคัญ
กรอบวงเงินด้านการอุดมศึกษา และกรอบวงเงินด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
กรอบวงเงินด้านการอุดมศึกษา และกรอบวงเงินด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวนรวมทั้งสิ้น 143,734.7682 ล้านบาท จัดทำขึ้นเพื่อตอบโจทย์สำคัญและเร่งด่วนของประเทศ โดยมุ่งตอบสนองการขับเคลื่อนประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ทั้งด้านการแพทย์และสุขภาพ ด้านเกษตรและอาหาร เศรษฐกิจฐานรากเพื่อขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ อุตสาหกรรมและบริการ แห่งอนาคต การผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล
1. กรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษาในความรับผิดชอบของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 114,634.7682 ล้านบาท และระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ สรุปดังนี้
1) งบประมาณที่ขอรับจัดสรรตามมาตรา 45 (1) (2) และ (3) แห่งพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 ประกอบด้วย งบบุคลากร จำนวน 70,409.6395 ล้านบาท งบดำเนินงานและงบรายจ่ายอื่น จำนวน 36,755.5287 ล้านบาท และงบประมาณเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาและการผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทางตามความต้องการของประเทศ จำนวน 7,469.6000 ล้านบาท
2) แนวทางการจัดสรรงบประมาณตามกรอบวงเงินดังกล่าวจะถูกจัดสรรโดยใช้หลักการจัดสรรงบประมาณให้สนองด้านอุปสงค์ (Demand-side Financing) ตามแนวทางการพัฒนาระบบ (Roadmap) การจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์สำหรับการอุดมศึกษาซึ่งให้ความสำคัญกับการส่งมอบผลลัพธ์ (Outcome) สำคัญ ได้แก่ การผลิตกำลังคนที่ตอบสนองต่อความต้องการ (Real Demand) ได้อย่างแท้จริง สะท้อนได้จากความสามารถในการได้งานทำ (Employability) เพิ่มสูงขึ้น ความคุ้มค่าและผลตอบแทนจากการลงทุน (Return of Investment) ที่ชัดเจน และความเชื่อมโยงในการร่วมลงทุนในการพัฒนากำลังคนกับภาคเอกชน (Co-Creation) ซึ่งเป็นผู้ถืออุปสงค์อย่างแท้จริง โดยในปีงบประมาณ 2566 จะมุ่งเน้นการจัดสรรงบประมาณตามแนวทางดังต่อไปนี้
2.1) การจัดทำแผนปฏิบัติการการอุดมศึกษา แผนปฏิบัติการการพัฒนากำลังคนของประเทศและการจัดการศึกษาตลอดชีวิต และฐานข้อมูลด้านการอุดมศึกษาเพื่อเป็นเครื่องมือในการวางแผนกำลังคน และกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษา รวมถึงการกำหนดแนวทางการบริหารงบประมาณด้านการอุดมศึกษา (Plan-based Budgeting)ที่สอดคล้องกับแผนดังกล่าว
2.2) การวิเคราะห์และจัดสรรงบประมาณประจำตามมาตรา 45 (1) และ 45 (2) แห่งพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 ตามแผนพัฒนากำลังคนที่ถูกกำหนดตามแผนด้านการอุดมศึกษา (Plan-based)
2.3) การวิเคราะห์และจัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ ตามมาตรา 45 (3) แห่งพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 ที่สอดคล้องกับแนวทางพลิกโฉมมหาวิทยาลัยและแผนงานที่เกี่ยวข้อง
2. กรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 29,100 ล้านบาท และระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ สรุปดังนี้
1) งบประมาณแบ่งเป็น 6 ประเภท ได้แก่ (ก) งบสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund) จำนวน 17,460 ล้านบาท เป็นการสนับสนุนทุนการวิจัยที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ และ (ข) งบสนับสนุนงานพื้นฐาน (Fundamental Fund) จำนวน 11,640 ล้านบาท เป็นการสนับสนุนงานมูลฐานเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมและสร้างความเข้มแข็งตามพันธกิจหน่วยงาน
2) แนวทางการจัดสรรงบประมาณของกรอบวงเงินดังกล่าวเป็นแบบเงินก้อน (Block grant) และการจัดสรรงบประมาณแบบต่อเนื่องหลายปี (Multi-year budgeting) ที่สอดคล้องกับแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีการกระจายอำนาจให้หน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และหน่วยบริหารและจัดการทุน (Program Management Unit: PMU) เพื่อให้การดำเนินงานวิจัยและพัฒนาเกิดความคล่องตัว มีความยืดหยุ่น และดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณ ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่มีคุณภาพ แก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศได้ในเวลาที่เหมาะสมและพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน
3. แผนงานสำคัญภายใต้กรอบวงเงินด้านการอุดมศึกษา และกรอบวงเงินด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ดังนี้
1) ด้านการอุดมศึกษา
1.1) การผลิตบัณฑิตและพัฒนากำลังคนที่รองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-Long Learning) ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงาน และตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อการพัฒนาประเทศ (Demand-driven and Result-oriented Workforce) ประกอบด้วย (ก) การผลิตบัณฑิตในระบบอุดมศึกษา (Degree Program) ในระดับอนุปริญญา ปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษาสำหรับปีการศึกษา 2565 จำนวน 1,367,864 คน โดยมีเป้าหมายการพัฒนากำลังคนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG และอุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 410,360 คน คิดเป็นร้อยละ 30 ของทั้งหมด และ (ข) การผลิตกำลังแรงงานในหลักสูตรระยะสั้น (Non-degree Program) ที่เปิดโอกาสให้วัยแรงงานและผู้ที่อยู่นอกวัยเรียนสามารถพัฒนาความรู้ในทักษะเดิม (Re-skill) การยกระดับทักษะเดิม (Up-skill) และการเพิ่มพูนทักษะใหม่ (New Skill) จำนวนไม่น้อยกว่า 130,000 คน เพื่อรองรับการขับเคลื่อนด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG อุตสาหกรรมเป้าหมาย เชตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) และพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone: SEZ) และรองรับ การฟื้นตัวของประเทศจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
1.2) โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) เพื่อผลิตกำลังคนสมรรถะสูงที่มีทักษะรองรับอุตสาหกรรมและบริการใหม่แห่งอนาคตที่อยู่บนพื้นฐานของเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อพัฒนาวิสาหกิจชุมชนและระบบเศรษฐกิจฐานราก ตลอดจนการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาตามอัตลักษณ์และความเชี่ยวชาญ ดำเนินการตามกลไกพลิกโฉมมหาวิทยาลัยใน 5 แพลตฟอร์ม ได้แก่ การพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน การพัฒนาแสวงหาบุคลากร ความเป็นนานาชาติ การบริหารงานวิจัยและนวัตกรรม และการสร้างแพลตฟอร์มความร่วมมือ
2) ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
2.1) การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้มีความสามารถในการแข่งขัน และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยใช้วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ประเด็นมุ่งเน้นที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนาและผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 และเป็นศูนย์กลางด้านวัคซีนในระดับอาเซียน การเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกชั้นนำของโลกด้าน Functional Ingredients, Functional Food และ Novel Food การเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของอาเซียนในด้านยานยนต์ไฟฟ้า มุ่งเน้นที่แบตเตอรี่และชิ้นส่วนสำคัญ ผู้สูงอายุมีศักยภาพและโอกาสในการพึ่งพาตนเอง และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สังคม เป็นต้น
2.2) การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนสามารถแก้ไขปัญหาท้าทายและปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลกโดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม ประเด็นมุ่งเน้นที่สำคัญ เช่น ประเทศไทยสามารถยกระดับการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ โดยการใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก เพื่อการพึ่งพาตนเองและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น
2.3) การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้าที่ก้าวหน้าล้ำยุค เพื่อสร้างโอกาสใหม่และความพร้อมของประเทศในอนาคต ประเด็นมุ่งเน้นที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีระบบโลกและอวกาศ (Earth Space Technology) โดยสามารถสร้างดาวเทียมที่วิจัยและพัฒนาโดยคนไทยและส่งไปโคจรรอบดวงจันทร์ เป็นต้น
2.4) การพัฒนากำลังคน สถาบันอุดมศึกษา และสถาบันวิจัยให้เป็นฐาน การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม ประเด็นมุ่งเน้นที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของกำลังคนระดับสูง (Hub of Talent) และศูนย์กลางการเรียนรู้ (Hub of Knowledge) ของอาเซียน รวมถึงศาสตร์ของโลกตะวันออกเป็นต้น
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 4 มกราคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A1043