รายงานผลการจัดสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 11 และข้อเสนอเชิงนโยบายด้านคุณธรรมต่อรัฐบาลและหน่วยงานเชิงนโยบาย
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 05 January 2022 10:25
- Hits: 8726
รายงานผลการจัดสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 11 และข้อเสนอเชิงนโยบายด้านคุณธรรมต่อรัฐบาลและหน่วยงานเชิงนโยบาย
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการจัดสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 11 และข้อเสนอเชิงนโยบายด้านคุณธรรมต่อรัฐบาลและหน่วยงานเชิงนโยบายตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอ และให้กระทรวงวัฒนธรรมรับความเห็นและข้อเสนอเพิ่มเติมของกระทรวงสาธารณสุข สำนักงาน ก.พ. และสำนักงาน ก.พ.ร. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไป และให้หน่วยงานของรัฐรับข้อเสนอเชิงนโยบายด้านคุณธรรมไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
วธ. รายงานว่า
1. คณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติได้ดำเนินการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติฯ มาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้เวทีสมัชชาคุณธรรมในระดับจังหวัด ภูมิภาค และการจัดสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นและสร้างการรับรู้การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ และคุณธรรมสำคัญ 4 ประการ คือ พอเพียง วินัย สุจริต และจิตอาสา ผ่านกลไกอนุกรรมการส่งเสริมคุณธรรมระดับจังหวัด จนเกิดการบูรณาการกับหน่วยงานและกลุ่มเครือข่ายทางสังคมต่างๆ ได้แก่ เครือข่ายภาครัฐ เครือข่ายภาคธุรกิจเอกชน เครือข่ายภาคการศึกษา เครือข่ายศาสนา เครือข่ายสื่อมวลชน และเครือข่ายภาคประชาสังคม ชุมชน ครอบครัว เด็กและเยาวชนเกิดการขับเคลื่อนจังหวัดคุณธรรมนำร่อง ตามแนวทางแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติฯ โดยหน่วยงานองค์กรภาคส่วนต่างๆ มีการประกาศเจตนารมณ์ร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนจังหวัดคุณธรรมที่มาจากการจัดงานสมัชชาคุณธรรมระดับจังหวัด และมีการขยายผลการขับเคลื่อนคุณธรรมในระดับองค์กรและพื้นที่จังหวัดคุณธรรมอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งมีกระบวนการรวบรวมสังเคราะห์ข้อมูลเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายในระดับจังหวัด ภูมิภาค เข้าสู่การผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายด้านคุณธรรมต่อรัฐบาลในงานสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติที่จัดขึ้นในแต่ละปีจนถึงปัจจุบัน
2. การจัดงานสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 11 ระหว่างวันที่ 26-27 สิงหาคม 2564 ในรูปแบบออนไลน์ ด้วยแนวคิด Sustainability with Moral : New Moral New Normal “คุณธรรมวิถีใหม่ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันด้านคุณธรรมให้กับประชาชนและรองรับสถานการณ์วิกฤตโดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเป็นเวทีกลางการเชื่อมโยงเครือข่ายทางสังคมทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันหาทางออกในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และร่วมแสดงความคิดเห็นแนวทางการขับเคลื่อนคุณธรรมวิถีใหม่สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีการจัดกิจกรรมที่สำคัญ เช่น การประกาศยกย่องบุคคลผู้สร้างแรงบันดาลใจที่มีพฤติกรรมด้านคุณธรรมที่ควรค่าแก่การยกย่องการนำเสนอสื่อ องค์ความรู้ และกรณีตัวอย่างชุมชน องค์กรต้นแบบด้านคุณธรรม รวมถึงการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นและเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ของกลุ่มเครือข่ายทางสังคมจนก่อให้เกิดข้อเสนอเชิงนโยบายด้านคุณธรรมต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสอดรับกับการแก้ไขปัญหาคุณธรรมของทุกเครือข่ายและแนวทางการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์โควิด-19 ของสังคมไทย ดังนี้
ข้อเสนอเชิงนโยบาย |
แนวทางและแผนการดำเนินงาน |
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง |
||
1. การสำรวจ รวบรวม เรียบเรียง ความสำเร็จของการแก้ไขปัญหาสังคมด้วยคุณธรรมหรือนวัตกรรมความดีในช่วงวิกฤตโควิด-19 เพื่อนำมาสื่อสาร เผยแพร่ และรณรงค์สู่สังคมในวงกว้าง รวมทั้งรวบรวมประวัติ ผลงาน และเกียรติคุณของบุคคลที่ทำคุณงามความดีในแต่ละพื้นที่ให้ได้รับการยกย่องเชิดชูและยึดถือให้เป็นแบบอย่างใน หอจดหมายเหตุหรือหอเกียรติยศของแต่ละจังหวัด |
ค้นหา สำรวจ และรวบรวมเรื่องราวคุณธรรมความดีของสังคมไทยในสถานการณ์โควิด-19 เพื่อจัดทำเป็นบันทึกความดีของสังคมและรวบรวมไว้ให้เป็นข้อมูลสำคัญในหอจดหมายเหตุ และค้นหา คัดเลือกบุคคล องค์กร และสื่อส่งเสริมคุณธรรมเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติในด้านคุณธรรม ที่ควรค่าแก่การยกย่องและจัดทำเป็นฐานข้อมูลบุคคล องค์กร สื่อส่งเสริมคุณธรรมทั้งในระบบออนไลน์และระบบออนไซต์ต่อไป |
หน่วยงานภาครัฐโดยกลไกอนุกรรมการส่งเสริมคุณธรรมระดับกระทรวงและระดับจังหวัด |
||
2. การสนับสนุนส่งเสริมและผลักดันการพัฒนาคน เครื่องมือ และกลไกของชุมชนให้มีระบบ พี่เลี้ยงชุมชน โดยการพัฒนาศักยภาพคนท้องถิ่นให้มีทักษะการเป็นพี่เลี้ยงและนำไปสู่โมเดลครอบครัวพลังบวกในสังคมที่ไร้ความรุนแรง และพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมในรูปแบบภาคีเครือข่ายที่ยั่งยืน ร่วมกับการพัฒนากิจกรรมสร้างสรรค์โดยคนท้องถิ่นด้วยทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่นให้มีการเชื่อมโยงกับเครือข่ายอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นกลไกพี่เลี้ยงระหว่างชุมชน |
- ส่งเสริมและพัฒนาพี่เลี้ยงชุมชน เพื่อสร้างพลังที่เข้มแข็งให้กับครอบครัวและชุมชนให้เกิดรูปแบบการสร้างภูมิคุ้มกันของเด็ก เยาวชนและครอบครัวที่เป็นรูปธรรมที่ยั่งยืน |
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) |
||
- ถอดบทเรียนชุมชนท้องถิ่นต้นแบบด้านคุณธรรมและส่งเสริมระบบกลไกพี่เลี้ยงชุมชนเพื่อพัฒนาแหล่งเรียนรู้ชุมชนด้านคุณธรรมต่อเนื่องทุกปี |
พม. มท. วธ. |
|||
- จัดให้มีกระบวนการสมัชชาคุณธรรมเพื่อเป็นเวทีกลางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับเครือข่ายชุมชน ในการขยายผลความรู้และชื่นชมยกย่องให้เป็นต้นแบบต่อสังคมไทย |
วธ. |
|||
3. การสนับสนุนและส่งเสริมการสร้างระบบเครดิตทางสังคม* ให้เป็นเครื่องมือในการสร้างบรรทัดฐานของประเทศ และใช้ข้อมูลเครดิตของบุคคลและองค์กรในการสร้างค่านิยมและวัฒนธรรมแห่งความซื่อสัตย์ มีคุณธรรมมีจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อสังคม ผ่านกลไกการสร้างแรงจูงใจในการทำความดีเพื่อยกระดับเครดิตโดยรวมของสังคมให้ดีขึ้น |
- สนับสนุนการคิดค้นและพัฒนาระบบเครดิตทางสังคมให้เป็นเครื่องมือในการสร้างบรรทัดฐานด้านคุณธรรมของสังคมไทยและส่งเสริมการทำความดี โดยแสดงถึงการให้คุณค่าในการทำความดีของคนในสังคมไทย เพื่อเป็นแรงจูงใจและเป็นพลังทางสังคมในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีงาม |
ภาครัฐทุกหน่วยงาน |
||
- ศึกษา รวบรวมระบบเครดิตทางสังคมทั้งในประเทศและต่างประเทศ และดำเนินการศึกษาทดลองการใช้ระบบเครดิตทางสังคมที่เหมาะสมกับสังคมไทยทั้งในระดับองค์กร ชุมชนท้องถิ่น ระดับเครือข่าย ระดับเมืองและระดับประเทศ - จัดให้มีการนำเสนอผลการศึกษาทดลองการใช้ระบบเครดิตทางสังคมในสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 12 เพื่อให้เกิดการยอมรับในมติสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ และนำไปสู่การขยายผลในระยะต่อไป |
วธ. |
|||
4. การสนับสนุนและส่งเสริมการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ทางสังคมด้วยมิติความดีด้วยการส่งเสริมระบบเครือข่ายทางสังคมคุณธรรม ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมกันสร้างกลไกการมีส่วนร่วมการสื่อสารข้อมูลและการเผยแพร่ความสำเร็จของการขับเคลื่อนคุณธรรม โดยมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันจากทุกภาคส่วนในสังคมให้สามารถขับเคลื่อนสังคมคุณธรรมในรูปแบบวิถีใหม่ได้อย่างยั่งยืน |
- สนับสนุนการดำเนินงานเชื่อมโยงและบูรณาการองค์กรเครือข่ายทางสังคมในระดับจังหวัดเพื่อจัดให้มีแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณธรรมในระดับจังหวัดและสนับสนุนงบประมาณ ติดตามผลการดำเนินงานจังหวัดคุณธรรมให้เป็นจริงต่อไป |
มท. |
||
- จัดให้มีกระบวนการสมัชชาคุณธรรมหรือตลาดนัดคุณธรรมทุกระดับเพื่อเป็นเวทีกลางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับเครือข่ายทางสังคม |
วธ. |
3. คณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 ได้มีมติรับทราบรายงานผลการจัดสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 11 และข้อเสนอเชิงนโยบายด้านคุณธรรมต่อรัฐบาลและหน่วยงานเชิงนโยบายและให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
________________________
*หมายเหตุ : ระบบเครดิตทางสังคม เป็นเครื่องมือและกลไกในการสร้างแรงจูงใจให้เกิดกรอบพฤติกรรมเชิงบวกที่นำไปสู่การอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข โดยการกำหนดค่านิยมและพฤติกรรมเชิงบวกที่ทุกสังคมเห็นพ้องร่วมกัน แต่แตกต่างไปตามบริบททางพื้นที่และวัฒนธรรม
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 4 มกราคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A1042