รายงานผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 05 January 2022 10:16
- Hits: 10001
รายงานผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และเห็นชอบข้อเสนอแนะเชิงกลยุทธ์เพื่อการพัฒนาคุณธรรมความโปร่งใสของภาครัฐ ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) เสนอ ทั้งนี้ ให้ส่งความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไปพิจารณาต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
คณะกรรมการ ป.ป.ช. รายงานว่า ได้มอบหมายให้สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และได้ประกาศผลคะแนนการประเมิน ITA ให้หน่วยงานภาครัฐที่เข้ารับการประเมิน ITA และสาธารณชนได้รับทราบ รวมทั้งจัดทำรายงานผลการประเมิน ITA เสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุม ครั้งที่ 162/2564 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 มีมติเห็นชอบและให้เสนอรายงานผลการประเมิน ITA ต่อคณะรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. การประเมิน ITA เป็นแนวนโยบายที่สำคัญในการป้องกันการทุจริตที่บังคับใช้กับหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ และเป็นกลไกการป้องกันการทุจริตเชิงรุกได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งได้ถูกกำหนดเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนแผนงานระดับประเทศ เช่น แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ 21 การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (พ.ศ. 2561-2580) ได้นำผลการประเมิน ITA ไปกำหนดตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายของแผนแม่บทฯ โดยในระยะแรก (พ.ศ. 2561-2565) กำหนดค่าเป้าหมายให้หน่วยงานภาครัฐ ในปี 2565 มีผลการประเมินผ่านเกณฑ์ (85 คะแนนขึ้นไป) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80
2. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 8,300 แห่งทั่วประเทศ เข้าร่วมการประเมิน ITA ผ่านระบบ ITAS ที่เว็บไซต์ http://itas.nacc.go.th ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ - 31 กรกฎาคม 2564 โดยครอบคลุมหน่วยงานภาครัฐทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และองค์กรอิสระ ซึ่งเป็นการประเมินด้านธรรมาภิบาลและการบริหารจัดการภาครัฐที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในปัจจุบัน โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ จำนวน 1,331,588 คน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐมีการตื่นตัวต่อประเด็นการต่อต้านการทุจริตมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีความกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นต่อการปฏิบัติงานและการให้บริการภาครัฐเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาให้มีประสิทธิภาพและมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ การประเมิน ITA มีการเก็บข้อมูลจาก 3 ส่วน ดังนี้
การเก็บข้อมูล |
ตัวชี้วัด |
คะแนน/ระดับผลการประเมิน |
||||||||||||||||||||||||||
การเก็บข้อมูลจากบุคลากรในหน่วยงานภาครัฐ (ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน) การเก็บข้อมูลจากผู้รับบริการหรือผู้ติดต่อหน่วยงานภาครัฐ (ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก) |
ตัวชี้วัดที่ 1 การปฏิบัติหน้าที่ ตัวชี้วัดที่ 2 การใช้งบประมาณ ตัวชี้วัดที่ 3 การใช้อำนาจ ตัวชี้วัดที่ 4 การใช้ทรัพย์สินของราชการ ตัวชี้วัดที่ 5 การแก้ไขปัญหาการทุจริต ตัวชี้วัดที่ 6 คุณภาพการดำเนินงาน ตัวชี้วัดที่ 7 ประสิทธิภาพการสื่อสาร ตัวชี้วัดที่ 8 การปรับปรุงการทำงาน |
|
||||||||||||||||||||||||||
การเปิดเผยข้อมูลทางเว็บไซต์ของหน่วยงาน (ตรวจสอบการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ) (Open Data Integrity and Transparency Assessment: OIT) |
ตัวชี้วัดที่ 9 การเปิดเผยข้อมูล ตัวชี้วัดที่ 10 การป้องกันการทุจริต |
3. ผลการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 พบว่ามีคะแนนเฉลี่ยในภาพรวมของประเทศ 81.25 คะแนน อยู่ในระดับผลการประเมิน ระดับ B สูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา 13.35 คะแนน มีจำนวนหน่วยงานภาครัฐที่มีผลการประเมิน ITA ผ่านค่าเป้าหมายตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ 21 การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบฯ 4,146 หน่วยงาน หรือร้อยละ 49.95 สูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาร้อยละ 36.76
4. ในปีนี้หน่วยงานภาครัฐส่วนใหญ่ได้เข้าสู่องค์กรที่มีคุณธรรมและความโปร่งใสตามหลักเกณฑ์การประเมิน ITA ในระดับค่อนข้างสูง โดยอยู่ที่ระดับ A คิดเป็นร้อยละ 38.73 ของหน่วยงานที่เข้าร่วมการประเมินทั้งหมด เพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 26.22 ทั้งนี้ เมื่อจำแนกผลการประเมินตามประเภทของหน่วยงานภาครัฐที่มีสถานะหรือการบริหารจัดการภาครัฐเดียวกันหรือคล้ายกันแล้ว สามารถจำแนกกลุ่มประเภทออกเป็น 8 ประเภท ได้แก่ (1) หน่วยธุรการขององค์กรศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ และหน่วยงานในสังกัดรัฐสภา มีคะแนนเฉลี่ย 92.44 คะแนน (2) ส่วนราชการระดับกรม มีคะแนนเฉลี่ย 92.07 คะแนน (3) รัฐวิสาหกิจ มีคะแนนเฉลี่ย 93.31 คะแนน (4) องค์การมหาชน มีคะแนนเฉลี่ย 93.26 คะแนน (5) กองทุน มีคะแนนเฉลี่ย 93.22 คะแนน (6) สถาบันอุดมศึกษา มีคะแนนเฉลี่ย 89.87 คะแนน (7) จังหวัด มีคะแนนเฉลี่ย 92.43 คะแนน และ (8) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีคะแนนเฉลี่ย 80.63 คะแนน
5. ผลการประเมิน ITA รายพื้นที่พบว่า พื้นที่ส่วนกลางมีคะแนนเฉลี่ยสูงที่สุด 92.01 คะแนน ส่วนพื้นที่ในระดับภูมิภาคที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงที่สุด คือ พื้นที่ภาค 2 (จังหวัด อปท. และ อปท. รูปแบบพิเศษในจังหวัดจันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรี ระยอง และสระแก้ว) มีคะแนนเฉลี่ย 83.69 คะแนน และพื้นที่ที่มีคะแนนเฉลี่ยต่ำที่สุดคือ พื้นที่ภาค 3 (จังหวัด และ อปท. ในจังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ยโสธร ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ) มีคะแนนเฉลี่ย 75.74 คะแนน
6. ผลการประเมิน ITA ภาพรวมของหน่วยงานภาครัฐในจังหวัด ประกอบด้วย จังหวัด (ส่วนราชการส่วนภูมิภาคระดับจังหวัด) องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล และองค์การบริหานส่วนตำบล (อบต.) พบว่า จังหวัดที่ได้คะแนนเฉลี่ยสูงสุด คือ จังหวัดภูเก็ต มีผลคะแนน 94.06 คะแนน ส่วนจังหวัดที่มีคะแนนเฉลี่ยต่ำที่สุด คือ จังหวัดร้อยเอ็ด มีผลคะแนน 69.78 คะแนน และมีจังหวัดที่มีผลคะแนนเฉลี่ยน้อยกว่า 75 คะแนน ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ 69.95 คะแนน จังหวัดอุบลราชธานี 70.31 คะแนน และจังหวัดมหาสารคาม 72.11 คะแนน
7. การอภิปรายผลการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เช่น (1) หน่วยงานที่ได้คะแนนต่ำกว่าระดับ C ยังคงมีปัญหาการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารูปแบบลักษณะของปัญหายังคงเดิม แต่ขนาดของปัญหาได้ลดน้อยลงเป็นอย่างมาก และหน่วยงานภาครัฐมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นถึงร้อยละ 39.68 ซึ่งเกิดจากการกำหนดกลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดและความร่วมมือกันของหลายภาคส่วนในปีที่ผ่านมา และ (2) รูปแบบการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะของหน่วยงานที่ได้คะแนนต่ำยังคงเดิม โดยหน่วยงานดังกล่าวส่วนมากไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะทางเว็บไซต์ของหน่วยงานตามแบบ OIT ในรายตัวชี้วัดและ ข้อคำถามการประเมิน
8. คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีข้อเสนอแนะเชิงกลยุทธ์เพื่อการพัฒนาคุณธรรมความโปร่งใสของภาครัฐสู่มาตรฐานในระดับ A และ AA ในระดับนโยบาย โดยมุ่งเน้นการรักษาแนวปฏิบัติที่ดีไว้ให้คงอยู่ และต่อยอดขยายผลในส่วนที่จะช่วยในการพัฒนาการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐมีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดมากยิ่งขึ้น รวม 5 ข้อ ดังนี้
ประเด็นข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. |
หน่วยงานรับผิดชอบ |
|
8.1 เร่งส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้และทักษะการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ การป้องกันการทุจริต และการให้บริการสาธารณะทางเว็บไซต์ของหน่วยงานให้มีคุณภาพและเป็นไปตามมาตรฐานการประเมินที่กำหนด โดยการกำหนดนโยบาย โครงการ กิจกรรม งบประมาณ และการกำกับควบคุมมุ่งเน้นไปที่กลุ่มเป้าหมาย หน่วยงานที่มีผลการประเมินระดับ B-C-D ซึ่งมีจำนวนรวมกันกว่า ร้อยละ 46.28 ของหน่วยงานภาครัฐทั้งหมด และเป็นกลุ่มที่มีโอกาสและความพร้อมในการพัฒนาต่อยอดสูงภายใต้ระยะเวลาที่จำกัด |
กระทรวงมหาดไทย (มท.) (อปท.) |
|
8.2 ส่งเสริมสนับสนุนและให้คำแนะนำในด้านกระบวนการบริหารจัดการภายในหน่วยงานแก่ อปท. โดยเฉพาะในกลุ่มหน่วยงานที่มีผลการประเมินในระดับ E-F ทั้งนี้ ตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ซึ่งระบุไว้ในกฎหมายจัดตั้ง อปท. แต่ละประเภท |
มท. (ผู้ว่าราชการจังหวัดและ นายอำเภอ) |
|
8.3 ขับเคลื่อนการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ให้สอดคล้องกับหลักการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เพื่อยกระดับการเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานภาครัฐให้เป็นหน้าที่หลักที่ต้องปฏิบัติ ยกเว้นเฉพาะข้อมูลข่าวสารที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าไม่ให้เปิดเผย และต้องจัดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารดังกล่าวได้โดยสะดวก |
สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) |
|
8.4 ให้หน่วยงานที่กำกับดูแลการปฏิบัติราชการของหน่วยงานภาครัฐดำเนินการกำกับติดตามการประเมิน ITA และผลักดันให้หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางการประเมิน ITA ที่กำหนดในหน่วยงานต่างๆ ดังนี้ |
||
1) สถาบันอุดมศึกษา |
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) (สำนักงานปลัดกระทรวง) |
|
2) จังหวัด (ส่วนราชการส่วนภูมิภาคระดับจังหวัด) |
มท. (สำนักงานปลัดกระทรวง) |
|
3) องค์การมหาชน |
สำนักงาน ก.พ.ร. |
|
4) กรมหรือเทียบเท่า |
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) |
|
5) หน่วยงานในสังกัดรัฐสภา องค์กรศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ และหน่วยงานของรัฐอื่นๆ |
สำนักงาน ป.ป.ช. |
|
6) รัฐวิสาหกิจ |
กระทรวงการคลัง (กค.) [สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)] |
|
7) กองทุน |
กค. (กรมบัญชีกลาง) |
|
8) อปท. |
มท. [กรมส่งเสริมการปกครอง ท้องถิ่น (สถ.)] |
|
8.5 ให้ความร่วมมือและเข้าร่วมการประเมิน ITA ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565-2570 โดยการกำหนดกลุ่มเป้าหมายหน่วยงานภาครัฐที่เข้าร่วมการประเมิน ITA แนวทางการประเมิน ITA และเครื่องมือการประเมิน ITA ให้เป็นไปตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. กำหนด |
หน่วยงานภาครัฐ |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 4 มกราคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A1041