รายงานผลการเจรจาการบินระหว่างไทย – แคนาดา
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 05 January 2022 09:46
- Hits: 8545
รายงานผลการเจรจาการบินระหว่างไทย – แคนาดา
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบบันทึกข้อตกลงระหว่างไทย - แคนาดา (บันทึกข้อตกลงฯ) และเห็นชอบร่างความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งแคนาดาและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยว่ด้วยการขนส่งทางอากาศ (ความตกลงฯ ฉบับใหม่) โดยหากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขเอกสารที่ไม่ใช่สาระสำคัญ หรือไม่ขัคต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงคมนาคม (คค.) ดำเนินการต่อไปใด้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง รวมทั้งอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายลงนามความตกลงฯ ฉบับใหม่ และให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่ผู้ที่ได้รับมอบหมายดังกล่าวด้วย พร้อมมอบให้ กต. ดำเนินการแจ้งเป็นหนังสือผ่านช่องทางทางการทูตถึงการดำเนินการตามกระบวนการภายในที่จำเป็นเพื่อให้ความตกลง ฯ ฉบับใหม่มีผลใช้บังคับที่เสร็จสมบูรณ์แล้วตามที่กระทรวงคมนาคม (คค) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. คณะผู้แทนรัฐบาลไทยและคณะผู้แทนรัฐบาลแคนาดาได้จัดการประชุมเจรจาร่วมกันเมื่อวันที่ 21 - 22 มิถุนายน 2560 ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย และได้จัดทำบันทึกข้อตกลงฯ (Agreed Minutes) ลงนามร่วมกันเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560 พร้อมกับร่างความตกลงฯ ฉบับใหม่เพื่อใช้แทนความตกลงฯ ฉบับเดิม และต่อมาคณะกรรมการผู้แทนรัฐบาลเพื่อพิจารณาทำความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศกับรัฐบาลต่างประเทศเป็นประจำได้มีมติรับทราบผลการเจรจาดังกล่าวแล้ว ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2561 โดยบันทึกข้อตกลงฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
รายการ |
สาระสำคัญ |
|
การจัดทำร่างความ ตกลงฯ |
คณะผู้แทนทั้งสองฝ่ายตกลงจัดทำร่างความตกลงฯ ฉบับใหม่เพื่อใช้แทนความตกลงฯ ฉบับเดิมที่ได้ลงนามเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2532 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งกฎหมายภายในของทั้งสองฝ่าย |
|
การคงไว้ซึ่งสายการบินที่กำหนด |
คณะผู้แทนทั้งสองฝ่ายตกลงให้สายการบินแอร์แคนาดาและบริษัท การบินไทยจำกัด (มหาชน) ยังคงเป็นสายการบินที่กำหนดภายใต้ความตกลงฯ ฉบับใหม่ (สามารถกำหนดสายการบินอื่นๆ เพิ่มเติม) |
|
การบริการภาคพื้น |
คณะผู้แทนทั้งสองฝ่ายตกลงว่าสายการบินของแคนาดาไม่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินบริการภาคพื้นของตนเองได้ที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ (ทั้งนี้ คค. แจ้งว่า สายการบินของประเทศไทยได้รับอนุญาตให้ดำเนินบริการภาคพื้นของตนเองในแคนาดาได้) |
|
การมีผลบังคับใช้ระหว่างรอลงนามเต็ม |
ในระหว่างการรอให้ความตกลงฯ ฉบับใหม่มีผลใช้บังคับ คณะผู้แทนตกลงว่าภายหลังจากการลงนามในบันทึกข้อตกลงฯ และการลงนามย่อในความตกลงฯ ฉบับใหม่โดยคู่ภาคี การให้บริการเดินอากาศจะได้รับอนุญาตให้ดำเนินการได้ตามหลักการที่ได้ระบุไว้ในความตกลงฯ ฉบับใหม่และให้นำบทบัญญัติภายใต้ความตกลงฯ ฉบับใหม่มาใช้บังคับไปพลางก่อนเท่าที่จะสามารถดำเนินการได้ตามกฎหมายและข้อบังคับภายในประเทศ |
2. ร่างความตกลงฯ ฉบับใหม่มีเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นไปตามที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศแนะนำและสอดคล้องกับร่างความตกลงฯ ฉบับมาตรฐานไทย โดยมีการปรับปรุงข้อบทต่างๆ อาทิ
หัวข้อ (เลขที่ข้อในร่างความตกลงฯ ฉบับใหม่) |
สาระสำคัญ |
|
การกำหนดสายการบิน (ข้อ 3) |
แต่ละฝ่ายมีสิทธิกำหนดสายการบินสายหนึ่งหรือหลายสายการบินเพื่อดำเนินบริการ |
|
มาตรฐานความปลอดภัย ใบสำคัญ และใบอนุญาต (ข้อ 7) |
ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่การเดินอากาศของทั้งสองฝ่าย ในการตรวจสอบอากาศยานและเอกสารต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและรักษาระดับมาตรฐานความปลอดภัยให้คงอยู่อย่างต่อเนื่อง |
|
การรักษาความปลอดภัยค้านการบิน (ข้อ 8) |
คู่ภาคีจะรับรองว่ามีการบังคับใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยของอากาศยานที่เพียงพอและจะให้ความช่วยเหลือทั้งหมดที่จำเป็นต่อกันเพื่อป้องกันการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายและการคุกคามอื่นใดต่อการรักษาความปลอดภัยของการบินพลเรือน รวมถึงให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่การเดินอากาศของแต่ละฝ่ายสามารถประเมินมาตรการรักษาความปลอดภัยต่อผู้ให้บริการอากาศยานของอีกฝ่ายหนึ่งได้ |
|
ราคา และข้อกำหนด และเงื่อนไขทั่วไปของการขนส่ง (ข้อ 11) |
สายการบินที่กำหนดสามารถกำหนดราคาค่าขนส่งตามบริการที่ได้ตกลงกันซึ่งจะเป็นไปตามกลไกตลาด โดยไม่ต้องยื่นราคาค่าขนส่งต่อเจ้าหน้าที่การเดินอากาศ เว้นแต่มีการร้องขอให้เปิดเผยการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับราคาค่าขนส่งแก่เจ้าหน้าที่การเดินอากาศ |
|
การใช้ท่าอากาศยานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการบินและบริการ (ข้อ 12) |
ให้สายการบินของภาคีอีกฝ่ายใช้ท่าอากาศยาน เส้นทางบิน การควบคุมจราจรทางอากาศและการบริการเดินอากาศ การรักษาความปลอดภัยด้านการบิน และสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยไม่เลือกปฏิบัติ |
|
การมีผลใช้บังคับของความ ตกลงฯ ฉบับใหม่ (ข้อ 26) |
- ความตกลงฯ ฉบับใหม่นี้จะมีผลใช้บังคับในวันที่ของหนังสือทางการทูตฉบับสุดท้ายซึ่งคู่ภาคีได้แจ้งระหว่างกันไว้ว่าได้ดำเนินการตามกระบวนการภายในที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อให้ความตกลงฯ ฉบับใหม่มีผลใช้บังคับแล้ว - การมีผลใช้บังคับของความตกลงฯ ฉบับใหม่นี้จะส่งผลให้ความตกลงฯ ฉบับเดิมสิ้นสุดลง |
|
สิทธิการบิน (ภาคผนวก) |
1) ใบพิกัดเส้นทางบิน: - ทั้งสองฝ่ายตกลงกัน ดังนี้ ไทย จุดใดๆ ในไทย – จุดระหว่างทางใดๆ - จุดใดๆ ในแคนาดา - จุดพ้นใดๆ แคนาดา จุดใดๆ ในแคนาดา – จุดระหว่างทางใดๆ - จุดใดๆ ในไทย - จุดพ้นใดๆ 2) สิทธิความจุความถี่ : 21 เที่ยวต่อสัปดาห์ สำหรับการทำการบินด้วยสิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพ ที่ 3 และ 4 3) สิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 5:7 เที่ยวต่อสัปดาห์ โดยจุดต่อไปนี้สามารถใช้เป็นจุดระหว่างทางหรือจุดพ้นได้ ฝ่ายไทย 1 จุดในยุโรป 2 จุดในเอเชีย และ 1 จุดในภาคพื้นทวีปสหรัฐอเมริกา ฝ่ายแคนาดา 1 จุดในยุโรป 2 จุดในเอเชีย และ 1 จุดในออสตราเลเซีย 4) การทำการบินโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกัน (Code Sharing) สายการบินที่กำหนดของทั้งสองฝ่ายสามารถทำการบินโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกันกับสายการบินของประเทศเดียวกัน สายการบินของประเทศคู่ภาคีทั้งเส้นทางภายในประเทศและเส้นทางระหว่างประเทศ และสายการบินของประเทศที่สามได้ 5) การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Intermodal Transport) สายการบินที่กำหนดสามารถขนส่งรูปแบบอื่นต่อเนื่องกับการขนส่งทางอากาศ โดยสามารถดำเนินการบริการร่วมกับผู้ประกอบการอื่นได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและข้อบังคับของประเทศภาคี และบริการดังกล่าวต้องเป็นแบบตลอดเส้นทางและเป็นราคาเดียว (a through service and at a single price) |
ทั้งนี้ประโยชน์ที่จะได้รับจากผลการเจรจาดังกล่าว การปรับปรุงข้อบท และสิทธิการบินต่างๆ ตามความตกลงฯ ฉบับใหม่และบันทึกข้อตกลงฯ ข้างต้น เป็นการเปิดโอกาสให้สายการบินที่กำหนดของทั้งสองฝ่ายสามารถขยายบริการและเครือข่ายการบินเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับสายการบินในการวางแผนการให้บริการ อันเป็นการส่งสริมการเดินทางของผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า และส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การค้า และบริการระหว่างประเทศทั้งสองประเทศต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 4 มกราคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A1038