ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. ….
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 30 December 2021 18:25
- Hits: 12895
ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบ ดังนี้
1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ สำนักงบประมาณ สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
2. ให้ รง. รับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงคมนาคม สำนักงบประมาณ สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
3. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่ รง. เสนอ
ทั้งนี้ รง. เสนอว่า
1. โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 40 บัญญัติให้บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ และมาตรา 74 บัญญัติให้รัฐพึงส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามารถในการทำงานอย่างเหมาะสมกับศักยภาพและวัยและให้มีงานทำ และพึงคุ้มครองผู้ใช้แรงงานให้ได้รับความปลอดภัยและมีสุขอนามัยที่ดีในการทำงาน ได้รับรายได้ สวัสดิการ ประกันสังคม และสิทธิประโยชน์อื่นที่เหมาะสมแก่การดำรงชีพ และพึงจัดให้มีหรือส่งเสริมการออมเพื่อการดำรงชีพเมื่อพ้นวัยทำงาน และรัฐพึงจัดให้มีระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการดำเนินการ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลและ รง. เน้นการดูแล “แรงงานในระบบ” แต่จากการแข่งขันอย่างรุนแรงภายใต้ระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ทำให้รูปแบบการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจมีการปรับตัวเกิดรูปแบบการจ้างแรงงานแบบใหม่ การเหมาช่วง จึงส่งผลให้แรงงานนอกระบบมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเกินครึ่งหนึ่งของกำลังแรงงานทั้งประเทศ แรงงานนอกระบบเป็นกำลังแรงงานกลุ่มใหญ่ของประเทศ เป็นผู้ที่มีส่วนสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแต่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานหรือการประกอบอาชีพ ความปลอดภัยในการทำงาน หลักประกันทางสังคม ตลอดจนการรวมกลุ่ม รวมตัวในการจัดตั้งองค์กรเพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้เกิดความเป็นธรรมในการจ้างงาน ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2563 พบว่าจำนวนประชากรรวมของประเทศไทย จำนวน 66.6 ล้านคน มีจำนวนผู้มีงานทำ 37.5 ล้านคน จำแนกออกเป็น แรงงานในระบบ 17.1 ล้านคน แรงงานนอกระบบ 20.4 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 54.3 ของผู้มีงานทำทั้งหมด
2. ประกอบกับปัจจุบันยังไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบไว้อย่างชัดเจน ทำให้แรงงานนอกระบบซึ่งเป็นกำลังแรงงานกลุ่มใหญ่ของประเทศ ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานหรือการประกอบอาชีพดังกล่าว ดังนั้น เพื่อให้แรงงานนอกระบบได้รับการส่งเสริมการประกอบอาชีพ และพัฒนาสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย รวมทั้งเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รง. จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. …. เพื่อให้แรงงานนอกระบบสามารถรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มอาชีพ จัดตั้งองค์กรแรงงานนอกระบบ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้เกิดความเป็นธรรมในการทำงาน และได้รับโอกาสในการกู้ยืมเงินจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบอาชีพ อันจะทำให้แรงงานนอกระบบมีหลักประกันทางสังคม มีความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
3. โดยที่ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้กำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ รง. จึงได้เสนอเรื่องการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวต่อคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนพิจารณา และคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนได้เสนอผลการพิจารณา ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 เห็นชอบผลการพิจารณาการขอจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ ตามร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. …. ในคราวประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ตามที่คณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนเสนอ
4. นอกจากนี้ ร่างพระราชบัญญัติได้กำหนดให้เงินและดอกผลที่กองทุนได้รับทั้งหมด ไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ซึ่งกระทรวงการคลัง (กค.) ได้พิจารณาเห็นชอบด้วยแล้วตามนัยมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
5. รง. ชี้แจงเพิ่มเติมในประเด็นเกี่ยวกับขั้นตอนการขอจัดตั้งหน่วยงานของรัฐ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2550 ว่า ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. …. มาตรา 37 กำหนดให้จัดตั้งสำนักงานบริหารกองทุนเป็นหน่วยงานภายในสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการบริหารกองทุน และมาตรา 38 กำหนดให้ประธานกรรมการบริหารกองทุนแต่งตั้งข้าราชการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ประเภทอำนวยการระดับต้นขึ้นไป เป็นผู้อำนวยการสำนักงานบริหารกองทุน ประกอบกับได้กำหนดบทเฉพาะกาลในมาตรา 56 ในระยะเริ่มแรกให้กองบริหารการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ทำหน้าที่สำนักงานบริหารกองทุนไปพลางก่อน จนกว่าจะมีการจัดตั้งสำนักงานบริหารกองทุนตามมาตรา 37 และให้ผู้อำนวยการกองบริหารการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสำนักงานบริหารกองทุน จนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักงานบริหารกองทุนตามมาตรา 38 จึงไม่เป็นการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐขึ้นใหม่ เนื่องจากเป็นการกำหนดให้หน่วยงานภายในของสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานที่มีอยู่เดิมเป็นผู้รับผิดชอบ
6. รง. ได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้แล้ว ผ่านทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของ รง. (www.mol.go.th) ระหว่างวันที่ 1 – 30 กันยายน 2563 และจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งนี้ ได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย ตามแนวทางมติคณะรัฐมนตรี (19 พฤศจิกายน 2562) เรื่อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 และได้เผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นพร้อมการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายผ่านทางเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบแล้ว และได้เสนอแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
กำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานนอกระบบ (แรงงานนอกระบบ หมายถึง คนทำงานสัญชาติไทยที่มีอายุตั้งแต่สิบห้าปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งไม่ได้เป็นลูกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน หรือไม่ได้เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่งกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม) การขึ้นทะเบียนกลุ่มแรงงานนอกระบบตามลักษณะของอาชีพ และการรวมกลุ่มเพื่อจัดตั้งองค์กรได้ กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบแห่งชาติ กำหนดให้มีกองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ กำหนดให้มีพนักงานตรวจแรงงานนอกระบบ กำหนดให้มีช่องทางการยื่นคำร้องและการพิจารณาคำร้อง บทกำหนดโทษ และบทเฉพาะกาล รายละเอียด ดังนี้
1. กำหนดให้แรงงานนอกระบบหมายความถึงคนทำงานสัญชาติไทยที่มีอายุตั้งแต่สิบห้าปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งไม่ได้เป็นลูกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน หรือไม่ได้เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่งกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม รวมถึงผู้ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด แต่มิให้หมายความรวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐและของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญหรือตามกฎหมาย
2. กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมีอำนาจออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การส่งเสริมการมีงานทำหรือการพัฒนาฝีมือแรงงาน ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ และสนับสนุนการดำเนินการสร้างหลักประกันทางสังคมให้กับแรงงานนอกระบบ กลุ่มแรงงานนอกระบบ และองค์กรแรงงานนอกระบบ รวมถึงออกกฎกระทรวงกำหนดสภาพการทำงาน ค่าตอบแทน หรือสิทธิประโยชน์อื่นๆ รวมทั้งรูปแบบหรือเงื่อนไขในการทำสัญญา เพื่อคุ้มครองแรงงานนอกระบบบางกลุ่มหรือบางประเภทซึ่งมีการจ้างทำงานหรือให้บริการระหว่างแรงงานนอกระบบกับผู้จ้างทำงาน
3. กำหนดให้แรงงานนอกระบบมีสิทธิขึ้นทะเบียนแรงงานนอกระบบ และกำหนดให้แรงงานนอกระบบตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปขึ้นทะเบียนกลุ่มแรงงานนอกระบบตามลักษณะของอาชีพ รวมทั้งกำหนดให้แรงงานนอกระบบตั้งแต่ 15 กลุ่มขึ้นไปขึ้นทะเบียนเพื่อจัดตั้งองค์กรแรงงานนอกระบบได้ รวมทั้งกำหนดให้องค์กรแรงงานนอกระบบมีสิทธิเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาให้หน่วยงานของรัฐจัดให้มีการส่งเสริมการมีงานทำ การเข้าถึงแหล่งทุนและสิทธิประโยชน์อื่นๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ
4. กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ โดยมีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดนโยบายและแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ และเสนอแนวทางในการแก้ไข ปรับปรุง กฎหมาย กฎกระทรวง หรือประกาศที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบต่อคณะรัฐมนตรี
5. กำหนดให้มีกองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ โดยกำหนดให้เงินและดอกผลที่กองทุนได้รับ ได้แก่ ค่าปรับที่ได้รับจากการลงโทษผู้กระทำความผิดเงินค่าสมาชิก เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคหรืออุทิศให้ เงินที่ได้รับจากต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ ดอกผลและผลประโยชน์ที่เกิดจากกองทุน เงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินของกองทุนหรือที่ได้จากการจัดหารายได้ เงินหรือทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุนหรือที่กองทุนได้รับจัดสรรจากกฎหมายอื่น ไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน
6. กำหนดให้คณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ โดยมีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์กำกับดูแลการบริหารจัดการ และติดตามการดำเนินงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของการใช้จ่ายเงินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน และพิจารณาอนุมัติแผนการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ
7. กำหนดให้พนักงานตรวจแรงงานนอกระบบมีอำนาจในการเข้าไปในสถานที่ทำงานของแรงงานนอกระบบ หรือสำนักงานของผู้จ้างทำงาน หรือสถานประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับแรงงานนอกระบบในเวลาทำงาน เพื่อตรวจสภาพการทำงานของแรงงานนอกระบบ สอบถามข้อเท็จจริง และมีหนังสือสอบถามหรือเรียกผู้จ้างทำงาน เจ้าของสถานประกอบกิจการมาชี้แจงข้อเท็จจริงหรือให้ส่งสิ่งของหรือเอกสารที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้จ้างทำงาน เจ้าของสถานประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับแรงงานนอกระบบ
8. กำหนดให้มีบทกำหนดโทษ
8.1 กำหนดให้ผู้ใดขัดขวางหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานนอกระบบต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
8.2 กำหนดให้ผู้จ้างทำงานผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
8.3 กำหนดให้ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานนอกระบบที่สั่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
8.4 กำหนดให้บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าเจ้าพนักงานดังต่อไปนี้ เห็นว่าผู้กระทำผิดไม่ควรได้รับโทษจำคุกหรือไม่ควรถูกฟ้องร้อง ให้มีอำนาจเปรียบเทียบ ดังนี้
(1) ปลัดกระทรวงหรือผู้ซึ่งปลัดกระทรวงมอบหมาย สำหรับความผิดที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร
(2) ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย สำหรับความผิดที่เกิดขึ้นในจังหวัดอื่น
9. กำหนดให้มีบทเฉพาะกาล
9.1 กำหนดให้คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่ง ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการ ทั้งนี้ ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
9.2 กำหนดให้กองบริหารการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ทำหน้าที่สำนักงานบริหารกองทุนไปพลางก่อน จนกว่าจะมีการจัดตั้งสำนักงานบริหารกองทุน และให้ผู้อำนวยการกองบริหารการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสำนักงานบริหารกองทุน จนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักงานบริหารกองทุน
9.3 กำหนดให้คณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบจังหวัดประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่ง ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการแต่งตั้งอนุกรรมการ ทั้งนี้ ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
9.4 กำหนดให้โอนบรรดาทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ เงินงบประมาณ และรายได้ที่ประกอบเป็นกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้านไปเป็นของกองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบตามพระราชบัญญัตินี้
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 28 ธันวาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12995