ร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ. 2555 พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 30 December 2021 18:06
- Hits: 12963
ร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ. 2555 พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ. 2555 พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ สคก. โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้พิจารณาดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 21 กันยายน 2564 [มอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) สคก. การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกันพิจารณาปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ. 2555 ให้สอดคล้องกับ WADA Code โดยให้พิจารณารูปแบบความเหมาะสมที่จะตราเป็นกฎหมายตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือตราเป็นพระราชกำหนดตามมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แล้วนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาต่อไปโดยเร็ว] แล้ว เห็นว่า
1. โดยที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามในการกีฬา (International Convention against Doping in Sport) ซึ่งได้จัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2548 ซึ่งอนุสัญญาดังกล่าวกำหนดให้รัฐภาคีผูกพันในการดำเนินมาตรการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามตามหลักการที่กำหนดไว้ใน WADA Code และโดยที่องค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (World Anti-Doping Agency : WADA) ได้ปรับปรุง WADA Code ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นเหตุให้สาระสำคัญของบทบัญญัติบางมาตราของพระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ. 2555 ไม่สอดคล้องกับ WADA Code จึงทำให้ WADA บังคับใช้มาตรการลงโทษ (Consequences of non-compliance) แก่ประเทศไทย รวม 4 มาตรการ และส่งผลให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและผลกระทบทางสังคม ดังนี้
1.1 มาตรการลงโทษ (Consequences of non-compliance) รวม 4 มาตรการ มีดังนี้
(1) สำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาจะสูญเสียสิทธิในการดำรงตำแหน่งในสำนักงานของ WADA หรือตำแหน่งอื่นใดที่เกี่ยวข้องเสียสิทธิการเป็นเจ้าภาพในกิจกรรมที่ WADA จัดหรือมีส่วนร่วมจัด หรือเสียสิทธิเข้าร่วมโครงการที่ WADA จัดขึ้น เช่น การจัดหลักสูตรฝึกอบรม การจัดสัมมนา การประชุมทางวิชาการ และเสียสิทธิการได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก WADA โดยมีกรอบระยะเวลาเพื่อใช้บังคับแก่สำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา (Doping Control Agency of Thailand: DCAT) ไปจนกว่าจะแก้ไขกฎหมายในสาระสำคัญแล้วเสร็จ
(2) ผู้แทนสำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาจะไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการหรือคณะกรรมการอื่นใดของ Signatory (องค์กรที่ยอมรับประมวลกฎต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลกและตกลงปฏิบัติตามประมวลกฎดังกล่าว) และองค์กรที่มีความเกี่ยวข้องกับ Signatory โดยมีกรอบระยะเวลาจะใช้บังคับแก่สำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา เป็นระยะเวลา 1 ปี (ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2564 ถึง 7 ตุลาคม 2565) หรือจนกว่าจะแก้ไขกฎหมายแล้วเสร็จ แล้วแต่ระยะเวลาใดยาวกว่ากัน
(3) ประเทศไทยอาจไม่ได้รับสิทธิในการเสนอเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาชิงแชมป์ระดับภูมิภาค ระดับทวีป หรือระดับโลก มหกรรมกีฬาที่จัดโดยองค์กรผู้จัดมหกรรมกีฬาสำคัญ (Major Event Organizations) หรือรายการแข่งขันกีฬาต่างๆ ของสหพันธ์กีฬานานาชาติ แต่จะไม่กระทบสิทธิในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาที่ประเทศไทยได้รับก่อนวันที่ 8 ตุลาคม 2564 รวมทั้งไม่กระทบสิทธิในการเสนอเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์และพาราลิมปิกเกมส์ โดยมีกรอบระยะเวลาใช้บังคับกับประเทศไทยไปจนกว่าจะแก้ไขกฎหมายแล้วเสร็จ ดังนั้น หากประเทศไทยสามารถดำเนินการแก้ไขกฎหมายได้แล้วเสร็จโดยเร็ว ก็จะสามารถเสนอเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาข้างต้นได้ทันที
(4) การไม่ให้แสดง โบก หรือชัก ธงชาติไทยในการแข่งขันกีฬาชิงแชมป์ระดับภูมิภาค ระดับทวีป หรือระดับโลก หรือมหกรรมกีฬาที่จัดโดยองค์กรผู้จัดมหกรรมกีฬาสำคัญ เว้นแต่เป็นการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์และพาราลิมปิกเกมส์ โดยมีกรอบระยะเวลาใช้บังคับสำหรับการแข่งขันกีฬาครั้งถัดไปหรือจนกว่าจะดำเนินการแก้ไขกฎหมายแล้วเสร็จ แล้วแต่ระยะเวลาใดยาวกว่ากัน ซึ่งในขณะนี้มีมหกรรมชิงแชมป์ระดับภูมิภาคที่สำคัญที่ประเทศไทยได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน คือ เอเชียนอินดอร์มาร์เชียลอาร์ตสเกมส์ (Asian Indoor and Martial Arts Games) ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2564 (ค.ศ. 2021) ซึ่งจะจัดให้มีขึ้นในระหว่างวันที่ 10 - 20 มีนาคม 2565 หากมีการเลื่อนการจัดการแข่งขันออกไปหลังจากมีการแก้ไขกฎหมายเสร็จเพื่อให้ประเทศไทยสามารถแสดง โบก หรือชัก ธงชาติไทยในการแข่งขันได้ มาตรการดังกล่าวจะถูกบังคับใช้ในการจัดการแข่งขันที่เลื่อนออกไปด้วย อย่างไรก็ตาม หากสามารถดำเนินการแก้ไขกฎหมายได้แล้วเสร็จโดยเร็ว กกท. อาจขอให้ WADA พิจารณายกเลิกการใช้บังคับมาตรการลงโทษนี้ก่อนระยะเวลาเดิมที่ได้กำหนดไว้
ทั้งนี้ ในกรณีที่ไม่มีการแก้ไขกฏหมายให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2565 WADA อาจมีการเสนอเพิ่มเติมระดับความรุนแรงของมาตรการลงโทษตามที่กำหนดไว้ เช่น การห้ามส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันกีฬาระดับภูมิภาค ระดับทวีป หรือระดับโลก การห้ามแสดงธงชาติไทยหรือสัญลักษณ์ธงชาติไทย การตัดสิทธิผู้แทนสำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาในการดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการหรือคณะกรรมการอื่นใดของ Signatory และองค์กรที่มีความเกี่ยวข้องกับ Signatory เป็นเวลาสี่ปี การห้ามเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์และพาราลิมปิกเกมส์ การห้ามนักกีฬาและผู้ซึ่งสนับสนุนการกีฬาเข้าร่วมกีฬาโอลิมปิกเกมส์และพาราลิมปิกเกมส์ หรือมหกรรมกีฬาที่จัดโดยสหพันธ์กีฬานานาชาติหรือองค์กรผู้จัดมหกรรมกีฬาสำคัญในการจัดการแข่งขันครั้งถัดไป และหากไม่สามารถเร่งดำเนินการปรับปรุงกฎหมายให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมกราคม พ.ศ. 2565 ประเทศไทยจะถูกตัดสิทธิในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันกีฬา
1.2 ผลกระทบทางเศรษฐกิจ
ในปี พ.ศ. 2565 คาดการณ์ไว้ว่าเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 55,000 ล้านบาท (จากการจัดการแข่งขันกีฬาในแต่ละประเภทและระดับ ประมาณ 46,000 ล้านบาท และจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดการแข่งขันกีฬา ประมาณ 9,000 ล้านบาท)
1.3 ผลกระทบทางสังคม
การที่ WADA ใช้บังคับมาตรการการลงโทษโดยห้ามมิให้แสดง โบก หรือชัก ธงชาติไทยตลอดการแข่งขันกีฬา หรือในบางช่วงเวลาของการแข่งขัน เช่น พิธีรับเหรียญรางวัล พิธีเปิดปิดการแข่งขันกีฬา นอกจากจะกระทบต่อชื่อเสียงของประเทศ ยังกระทบต่อขวัญและกำลังใจ ความภาคภูมิใจ และความสามัคคีของคนในชาติไทย ไม่ว่าจะเป็นของตัวนักกีฬา สมาคมกีฬา บุคคลที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนชาวไทยที่ให้การสนับสนุนและเฝ้าติดตามเชียร์ทัพนักกีฬาไทยในการแข่งขันกีฬา รวมทั้งส่งผลให้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่มุ่งให้มีการส่งเสริมและการพัฒนาการกีฬาไปสู่ความเป็นเลิศและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
2. คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) พิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อพิจารณากรอบระยะเวลาการบังคับของแต่ละมาตรการลงโทษของ WADA และผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมแล้ว เป็นกรณีที่มีความจำเป็นต้องเร่งดำเนินการให้ทันตามกำหนดระยะเวลาเพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในการไม่ได้รับสิทธิเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬา รวมทั้งการถูกตัดสิทธิในด้านต่างๆ จึงเป็นกรณีเข้าเงื่อนไขในการรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจและเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ที่ต้องมีการตราพระราชกำหนดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ด้วยเหตุนี้ จึงได้จัดทำเป็น “ร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ. 2555 พ.ศ. ....”
3. สคก. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานของรัฐและผู้เกี่ยวข้อง โดยนำหลักการซึ่งเป็นสาระสำคัญของร่างพระราชกำหนดฯ ไปรับฟังในชั้นก่อนการจัดทำร่างกฎหมายผ่านทางเว็บไซต์ของระบบกลางทางกฎหมาย (https://www.law.go.th/) ระหว่างวันที่ 14 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 28 ตุลาคม 2564 ด้วยแล้ว
สาระสำคัญของร่างพระราชกำหนด
1. แก้ไขบทนิยามต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับ WADA Code และมาตรฐานสากล ดังนี้
1.1 แก้ไขนิยามคำว่า “สารต้องห้าม” หมายถึงสารหรือประเภทของสารตามภาคผนวกหนึ่งท้ายอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามในการกีฬา ซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และยกเลิกอำนาจของรัฐมนตรีในการประกาศกำหนดรายชื่อสารต้องห้ามโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา
1.2 เพิ่มบทนิยามคำว่า “วิธีการต้องห้าม” หมายถึงวิธีการใดๆ ตามที่ได้กำหนดไว้ในรายการต้องห้ามตามภาคผนวกหนึ่งท้ายอนุสัญญาระหว่างประเทศฯ และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องกับ WADA Code ที่มีการควบคุมวิธีการต้องห้ามในการใช้สารต้องห้าม
1.3 แก้ไขนิยามคำว่า “สมาคมกีฬา” ให้รวมถึงองค์กรกีฬาระดับประเทศหรือระดับภูมิภาคในประเทศไทย เพื่อให้สามารถตรวจเก็บตัวอย่างเพื่อหาสารต้องห้ามและวิธีการต้องห้าม และสามารถลงโทษนักกีฬาในสังกัดขององค์กรดังกล่าวได้
1.4 แก้ไขนิยามคำว่า “บุคคลซึ่งสนับสนุนการกีฬา” โดยกำหนดให้หมายถึงบุคคลซึ่งสนับสนุนการกีฬา ผู้ฝึกสอน ผู้ฝึกซ้อม ผู้จัดการ ตัวแทน คณะทำงานร่วมทีม เจ้าหน้าที่ บุคลากรทางการแพทย์และทางเวชกิจฉุกเฉิน หรือบิดามารดาของนักกีฬา หรือบุคคลอื่นใด ซึ่งให้การรักษา ให้ความช่วยเหลือ หรือทำงานร่วมกับนักกีฬาที่เข้าร่วม หรือเตรียมตัว สำหรับการแข่งขันกีฬา เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการที่กำหนดไว้ใน WADA Code และมาตรฐานสากล
2. แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบและหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา ดังนี้
2.1 แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา โดยยกเลิกการกำหนดให้ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาเป็นผู้ช่วยเลขานุการ ทั้งนี้ เพื่อให้สำนักงานฯ มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจ (operating independence)
2.2 แก้ไขเพิ่มเติมหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา โดยยกเลิกอำนาจในการเสนอแนะรัฐมนตรีในการกำหนดรายชื่อของสารต้องห้าม และอำนาจในการประกาศกำหนดระดับ ประเภท ชนิดกีฬา และการแข่งขันกีฬาที่ควบคุมการใช้สารต้องห้าม
3. ปรับปรุงการปฏิบัติงานและหน้าที่และอำนาจของสำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา ดังนี้
3.1 ปรับปรุงการปฏิบัติงานของสำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาให้มีความเป็นอิสระยิ่งขึ้น โดยแยกการปฏิบัติงานระหว่างคณะกรรมการควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายต่างๆ และคณะกรรมการเฉพาะเรื่องที่มีหน้าที่พิจารณาอนุญาต พิจารณาโทษ หรือวินิจฉัยอุทธรณ์ และสำนักงานฯ ที่เป็นองค์กรที่ต้องปฏิบัติงานให้มีความเป็นอิสระต่อกัน โดยตัดหน้าที่ปฏิบัติการอื่นใดตามที่รัฐมนตรี คณะกรรมการฯ และคณะกรรมการเฉพาะเรื่องมอบหมาย ทั้งนี้ เพื่อให้สำนักงานฯ มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจ
3.2 ปรับปรุงหน้าที่และอำนาจของสำนักงานฯ โดยเพิ่มเติมในส่วนของการดำเนินการเกี่ยวกับวิธีการต้องห้ามในลักษณะเดียวกับสารต้องห้าม ตามที่ได้มีการเพิ่มบทนิยามคำว่า “วิธีการต้องห้าม” เพื่อควบคุมการใช้วิธีการต้องห้ามด้วย และกำหนดให้มีหน้าที่ในการจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับสารต้องห้ามและวิธีการต้องห้าม และเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก
4. ปรับปรุงหลักเกณฑ์การใช้สารต้องห้ามหรือวิธีการต้องห้ามโดยยกเลิกการกำหนดลักษณะการกระทำที่เป็นการต้องห้ามในพระราชบัญญัติ และกำหนดให้คณะกรรมการควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การห้ามการใช้สารต้องห้ามหรือวิธีการต้องห้ามของนักกีฬาและบุคคลซึ่งสนับสนุนการกีฬา เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ใน WADA Code และมาตรฐานสากล
5. ปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาในการพิจารณาของคณะกรรมการเฉพาะเรื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการที่กำหนดไว้ใน WADA Code และมาตรฐานสากล เช่น ให้นักกีฬาที่ประสงค์จะใช้สารต้องห้ามหรือวิธีการต้องห้ามเพื่อการรักษา ยื่นคำขอต่อสำนักงานฯ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการการแพทย์พิจารณาต่อไป
6. ให้คณะกรรมการพิจารณาโทษมีอำนาจพิจารณาโทษแก่นักกีฬาหรือบุคคลซึ่งสนับสนุนการกีฬาที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติข้อห้ามนักกีฬากระทำการ และหากนักกีฬาหรือผู้ที่เกี่ยวข้องไม่เห็นด้วยกับคำสั่ง ให้มีสิทธิอุทธรณ์ได้
7. ยกเลิกการกำหนดโทษ ซึ่งกำหนดให้โทษทางกีฬามิใช้โทษทางอาญาโดยกำหนดให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาประกาศเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการลงโทษที่กำหนดไว้ใน WADA Code ซึ่งเป็นมาตรการการลงโทษทางการกีฬาที่ถือปฏิบัติกันในวงการการกีฬาทั่วโลก ที่ไม่ใช่โทษทางอาญา
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 28 ธันวาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12991