ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 30 December 2021 18:01
- Hits: 11561
ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (สำนักงาน กกต.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน ก่อนเสนอรัฐสภาต่อไป
ทั้งนี้ สำนักงาน กกต. เสนอว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ การกำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี และการแบ่งเขตเลือกตั้ง รวมถึงการคำนวณสัดส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ จึงต้องดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยด่วน
สาระสำคัญ
ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ได้แก้ไข/ปรับปรุงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ให้สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564 มาตรา 83 มาตรา 86 และมาตรา 91 และให้สอดคล้องกับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1.1 แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามของคำว่าเขตเลือกตั้ง โดยหมายความว่าท้องที่ที่กำหนดเป็นเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งหรือแบบบัญชีรายชื่อ แล้วแต่กรณี (มาตรา 3)
1.2 แก้ไขเพิ่มเติมให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 400 คน และการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจำนวน 100 คน ซึ่งเป็นการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งบัญชีรายชื่อผู้สมัครที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้น โดยเลือกเพียงพรรคการเมืองเดียว และใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง (มาตรา 4)
1.3 แก้ไขเพิ่มเติมให้พรรคการเมืองต้องส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้วจึงมีสิทธิส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ และต้องกำหนดให้ส่งบัญชีรายชื่อดังกล่าวก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยต้องกำหนดวันที่พรรคการเมืองจะส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อไม่น้อยกว่า 3 วัน (มาตรา 5)
1.4 แก้ไขเพิ่มเติมให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 7 คน มีหน้าที่เกี่ยวกับการออกเสียงลงคะแนนในที่เลือกตั้งและนับคะแนนของหน่วยเลือกตั้งแต่ละแห่ง (มาตรา 6)
1.5 แก้ไขเพิ่มเติมจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีและการแบ่งเขตเลือกตั้งทุกจังหวัดจากค่าเฉลี่ยจำนวนราษฎรทั้งประเทศกับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 400 คน โดยต้องแบ่งพื้นที่ของเขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้ติดต่อกันและต้องจัดให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกัน (มาตรา 7)
1.6 แก้ไขเพิ่มเติมการกำหนดหน่วยเลือกตั้งและที่เลือกตั้งในการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ โดยกำหนดให้ใช้หน่วยเลือกตั้งและที่เลือกตั้งตามที่กำหนดไว้สำหรับการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง (มาตรา 8)
1.7 แก้ไขเพิ่มเติมการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งของแต่ละหน่วยเลือกตั้ง และปิดประกาศไว้ ณ ที่เลือกตั้ง หรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้ง หรือสถานที่ที่ประชาชนสะดวกในการตรวจสอบก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 25 วัน และให้แจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในทะเบียนบ้านไปยังเจ้าบ้านให้ทราบก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 20 วัน และอาจจัดให้มีการตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (มาตรา 9)
1.8 แก้ไขเพิ่มเติมการตรวจสอบสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง กรณีก่อนการประกาศผลการเลือกตั้ง ซึ่งหากผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งตรวจสอบแล้วเห็นว่าผู้สมัครผู้ใดไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งและผู้สมัครผู้นั้นได้คะแนนอยู่ในลำดับที่จะได้รับการเลือกตั้ง ให้เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อวินิจฉัย และในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งวินิจฉัยว่าผู้สมัครผู้นั้นมีเหตุดังกล่าว ให้มีคำสั่งยกเลิกการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นและสั่งให้ดำเนินการเลือกตั้งใหม่ และหากผู้สมัครผู้นั้นรู้อยู่แล้วว่าตนเป็นผู้ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งแล้วปกปิดหรือไม่แจ้งข้อความจริงนั้น ให้ถือว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม และให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น (มาตรา 11 และมาตรา 12)
1.9 แก้ไขเพิ่มเติมวิธีการส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งหากพรรคการเมืองใดส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว ให้มีสิทธิส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อได้พรรคละหนึ่งบัญชี มีจำนวนไม่เกิน 100 รายชื่อ ตามวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง โดยต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากบุคคลนั้น และบุคคลดังกล่าวต้องเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองที่จะเสนอรายชื่อเพียงพรรคเดียว และรายชื่อในบัญชีผู้สมัครของพรรคการเมืองต้องไม่ซ้ำกับพรรคการเมืองอื่นและไม่ซ้ำกับรายชื่อผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง (มาตรา 13)
1.10 กำหนดวิธีการให้หมายเลขที่จะใช้ออกเสียงลงคะแนนแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อได้รับหมายเลขที่จะใช้ออกเสียงลงคะแนนแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นเรียงตามลำดับก่อนหลังในการยื่นบัญชีรายชื่อ ถ้าพรรคการเมืองใดมิได้ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ แต่ส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เมื่อผู้สมัครของพรรคการเมืองนั้นยื่นใบสมัครในเขตเลือกตั้งใด ให้ได้รับหมายเลขประจำตัวผู้สมัครต่อจากหมายเลขสุดท้ายของหมายเลขแบบบัญชีรายชื่อ ส่วนในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งแทนตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งซึ่งว่างลง ให้ผู้สมัครได้รับหมายเลขประจำตัวผู้สมัครเรียงตามลำดับก่อนหลังในการมายื่นใบสมัคร (มาตรา 14)
1.11 แก้ไขเพิ่มเติมค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง โดยให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัครแต่ละคนที่จะใช้จ่ายในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองจะใช้จ่ายในการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อและให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการให้มีการตรวจสอบบัญชีรายรับและรายจ่าย (มาตรา 15 และมาตรา 16)
1.12 แก้ไขเพิ่มเติมการหาเสียงเลือกตั้ง โดยห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่นหรือพรรคการเมืองใด ให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองใด หรือการชักชวนให้ไปลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 17)
1.13 แก้ไขเพิ่มเติมการออกเสียงลงคะแนน โดยให้ใช้บัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบละหนึ่งใบ ส่วนหีบบัตรเลือกตั้งให้มีลักษณะตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด (มาตรา 18 และมาตรา 19)
1.14 แก้ไขเพิ่มเติมการนับคะแนน ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยความเห็นชอบของกระทรวงการต่างประเทศจะกำหนดให้มีการนับคะแนนนอกราชอาณาจักรก็ได้ หากจะเป็นการสะดวก รวดเร็ว และมีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่าการดำเนินการนับคะแนนที่เขตเลือกตั้ง และมิให้นำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 19 มาใช้บังคับ (มาตรา 23 และมาตรา 24)
1.15 แก้ไขเพิ่มเติมในกรณีที่ผลการนับคะแนนปรากฏว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ตรงกับจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้ออกเสียงลงคะแนน ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งดำเนินการตรวจสอบความถูกต้อง หากยังไม่ตรงกันอีกให้รายงานต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งพร้อมเหตุผล และให้รายงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อพิจารณาสั่งให้มีการนับคะแนนใหม่หรือสั่งให้ออกเสียงลงคะแนนใหม่แบบแบ่งเขตเลือกตั้งหรือแบบบัญชีรายชื่อแล้วแต่กรณีในหน่วยเลือกตั้งนั้น เว้นแต่หน่วยเลือกตั้งนั้นมีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในจำนวนที่ไม่ทำให้ผลการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นเปลี่ยนแปลงไป มิให้การเลือกตั้งจัดให้มีการออกเสียงลงคะแนนใหม่ (มาตรา 27)
1.16 แก้ไขเพิ่มเติมการประกาศผลการเลือกตั้ง โดยเมื่อรวบรวมผลการนับคะแนนทุกหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น รวมทั้งคะแนนที่ได้จากการออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้งและการลงคะแนนเลือกตั้งนอกราชอาณจักรแล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งดำเนินการประกาศผลการรวมคะแนนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง คะแนนที่ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด ผลการรวมคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ และคะแนนที่ไม่เลือกพรรคการเมืองใด แล้วรายงานคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยเร็ว (มาตรา 28)
1.17 กำหนดการคำนวณสัดส่วนเพื่อหาผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ดังนี้
(1) ให้รวมผลคะแนนทั้งหมดที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อทั้งประเทศ
(2) ให้นำคะแนนรวมจาก (1) หารด้วยหนึ่งร้อย ผลลัพธ์ที่ได้ให้ถือเป็นคะแนนเฉลี่ยต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อหนึ่งคน
(3) ในการคำนวณหาจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะได้รับ ให้นำคะแนนรวมจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับ หารด้วยคะแนนเฉลี่ยตาม (2) ผลลัพธ์ที่ได้เป็นจำนวนเต็มคือจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นได้รับ โดยเรียงตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น
(4) ในกรณีที่จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองได้รับรวมกันทุกพรรคการเมืองมีจำนวนไม่ครบหนึ่งร้อยคน ให้พรรคการเมืองที่มีผลลัพธ์ตาม (3) เป็นเศษที่มีจำนวนมากที่สุด ได้รับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้นอีก 1 คน เรียงตามลำดับ จนกว่าจะมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองทั้งหมดได้รับรวมกันครบจำนวน 100 คน
(5) ในการดำเนินการตาม (4) ถ้ามีคะแนนเท่ากัน ให้พรรคการเมืองที่มีคะแนนเท่ากันจับสลากโดยตัวแทนของพรรคการเมืองที่มีคะแนนเท่ากันภายในวันและเวลาที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด เพื่อให้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อครบจำนวน
จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่จะได้รับตามผลการคำนวณข้างต้น จะต้องไม่เกินจำนวนผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อเท่าที่มีอยู่ในแต่ละบัญชีรายชื่อผู้สมัครที่พรรคการเมืองนั้นได้จัดทำขึ้น (มาตรา 30)
1.18 กำหนดบทเฉพาะกาล
(1) เพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองในการส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกภายหลังประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งและประกาศเขตเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันนับแต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด (มาตรา 35)
(2) ในวาระเริ่มแรก มิให้นำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มาใช้บังคับจนกว่าจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปครั้งแรกภายหลังประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ (มาตรา 36)
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 28 ธันวาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12990