ความก้าวหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย และผลการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 29
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 30 December 2021 17:51
- Hits: 8573
ความก้าวหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย และผลการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 29
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอความก้าวหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย (ไทย) และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีน) ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย และผลการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 29 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ความก้าวหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงฯ สรุปได้ ดังนี้
1.1 โครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา
หัวข้อ |
ความก้าวหน้า |
|
(1) สัญญาการก่อสร้างงานโยธา จำนวน 14 สัญญา |
• ก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา ได้แก่ สัญญา 1-1 กลางดง-ปางอโศก • อยู่ระหว่างก่อสร้าง 7 สัญญา เช่น สัญญา 2-1 สีคิ้ว-กุดจิก สัญญา 3-5โคกกรวด-นครราชสีมา และสัญญา 4-7 สระบุรี-แก่งคอย • เตรียมการก่อสร้าง 3 สัญญา เช่น สัญญา 4-2 ดอนเมือง-นวนคร และสัญญา 4-6 พระแก้ว-สระบุรี • อยู่ระหว่างดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง 3 สัญญา เช่น สัญญา 3-1 แก่งคอย-กลางดง และปางโศก-บันไดม้า และสัญญา 4-1 บางซื่อ-ดอนเมือง |
|
(2) งานจ้างออกแบบรายละเอียด (สัญญา 2.1) [คณะรัฐมนตรีมีมติ (22 สิงหาคม 2560) เห็นชอบร่างสัญญาดังกล่าวแล้ว] |
การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ลงนามสัญญากับรัฐวิสาหกิจจีน [China Railway Design Corporation (CRDC) และ China Railway International Corporation (CRIC)] เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2560 วงเงิน 1,706.7 ล้านบาท โดยผู้รับจ้างฝ่ายจีนได้ออกแบบแล้วเสร็จ |
|
(3) งานจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง (สัญญา 2.2) [คณะรัฐมนตรีมีมติ (29 สิงหาคม 2560) เห็นชอบร่างสัญญาดังกล่าวแล้ว] |
• รฟท. ได้ลงนามสัญญากับ CRDC และ CRIC เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2560 วงเงิน 3,500 ล้านบาท โดยผู้รับจ้างอยู่ระหว่างควบคุมการก่อสร้าง ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาปี 2564 และประกันผลงาน 2 ปี • รฟท. และผู้รับจ้างฝ่ายจีนได้ร่วมกันจัดทำร่างบันทึกแนบท้ายสัญญา 2.2 เพื่อรองรับการจ่ายค่าจ้างที่ปรึกษาในการควบคุมการก่อสร้างที่อยู่ระหว่างกรก่อสร้างและสัญญาที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งนี้ อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อลงนามตามขั้นตอนของกฎหมาย |
|
(4) งานระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกล การจัดหาขบวนรถไฟและการจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) [ค ณ ะ รั ฐ ม น ต รี มี ม ติ (29 กันยายน 2563) เห็นชอบร่างสัญญาดังกล่าวแล้ว] |
รฟท. ได้ลงนามสัญญากับ CRDC และ CRIC เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563 วงเงิน 50,644.5 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินงาน 64 เดือน โดยแบ่งงานออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ 1) งานออกแบบระบบรถไฟความเร็วสูงและออกแบบระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนออกแบบขบวนรถไฟ 2) งานฝึกอบรมบุคลากรเพื่อการเดินรถและการซ่อมบำรุงและการถ่ายทอดเทคโนโลยี 3) งานก่อสร้างติดตั้งระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ระบบรถไฟความเร็วสูงที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ รฟท.ได้แจ้งให้ฝ่ายจีนเริ่มงานออกแบบเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 (รวมระยะเวลาออกแบบ 8 เดือน) |
1.2 โครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคายเป็นส่วนต่อขยายของโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา ระยะทางรวมประมาณ 356.01 กิโลเมตร ขนาดทาง 1.435 เมตร ประกอบด้วย 5 สถานี ได้แก่ สถานีบัวใหญ่สถานีบ้านไผ่ สถานีขอนแก่น สถานีอุดรธานี และสถานีหนองคาย เพื่อเตรียมพัฒนาเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมต่อการค้าการลงทุนกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) และจีน โดยจะมีศูนย์ซ่อมบำรุงเบา/หนัก ศูนย์ซ่อมบำรุงทาง ยานกองเก็บตู้สินค้า และย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้า ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทที่ปรึกษาได้ออกแบบรายละเอียดงานโยธาและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเสร็จแล้ว และได้ตรวจรับงานเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 [ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นว่า เพื่อให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมทางรถไฟในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศมีความเชื่อมโยงกันตลอดทั้งสายและสามารถรองรับความต้องการในการเดินทางของประชาชนและการขนส่งสินค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นจากการเปิดประเทศและการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงกันของประเทศเพื่อนบ้าน คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้ คค. (รฟท.) เร่งรัดดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยให้ถือเป็นนโยบายสำคัญที่ต้องขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม]
1.3 การเชื่อมโยงโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ในการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 27 และการประชุมสามฝ่ายไทย-สปป. ลาว-จีน ระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์-1 มีนาคม 2562 ณ กรุงปักกิ่ง จีน ที่ประชุมเห็นชอบให้การสร้างสะพานแห่งใหม่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเชื่อมต่อรถไฟ ช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ ซึ่งจะมีทั้งทางรถไฟขนาดมาตรฐาน (1.435 เมตร) และขนาดทาง 1 เมตร ตั้งอยู่ทางทิศใต้ ห่างจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาว (หนองคาย-เวียงจันทน์) ประมาณ 30 เมตร ทั้งนี้ ไทย สปป. ลาว และจีน ได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟระหว่างหนองคาย-เวียงจันทน์ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2562 และปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอให้มีการประชุมร่วมสามฝ่ายเพื่อหารือแนวทางการก่อสร้างและการเดินรถร่วมกันต่อไป
1.4 การดำเนินการอื่นๆ คค. อยู่ระหว่างดำเนินการ ดังนี้ (1) จัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อพิจารณาการจัดตั้งองค์กรพิเศษเพื่อกำกับการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง โดยองค์กรดังกล่าวจะเป็นอิสระจากการกำกับกิจการของ รฟท. และ (2) จัดหาบุคลากรมาปฏิบัติงานในสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางเพื่อรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในโครงการรถไฟความเร็วสูงโดยเป็นองค์การมหาชนภายใต้การกำกับดูแลของ คค. มีหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ วิจัยและประเมินความต้องการด้านเทคโนโลยีระบบราง
2. ผลการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีนครั้งที่ 29 เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล มีสาระสำคัญ เช่น
2.1 รับทราบความก้าวหน้าของการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา โดยทั้งสองฝ่ายจะใช้ความพยายามเพื่อให้สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ตามแผนงาน และช่วงนครราชสีมา-หนองคาย โดยทั้งสองฝ่ายจะหารือเกี่ยวกับงานบริการที่ปรึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานงานโยธาและระบบไฟฟ้าและเครื่องกล
2.2 ทั้งสองฝ่ายหารือเกี่ยวกับการดำเนินการช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ซึ่งโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีการใช้เส้นทางและโครงสร้างร่วมกัน โดยจะพยายามไม่ให้กระทบต่อการปฏิบัติตามสัญญา 2.3 (งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล การจัดหาขบวนรถไฟ และการฝึกจัดอบรมบุคลากร) ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะปรับงานออกแบบรายละเอียดของช่วงดังกล่าวให้ยืดหยุ่นตามมาตรฐานจีนและสนับสนุนฝ่ายไทยในการแก้ไขปัญหาประเด็นทางด้านเทคนิคต่อไป
2.3 เห็นชอบในหลักการให้จัดการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 30 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ภายหลังการประชุมไตรภาคีระหว่างไทย-สปป. ลาว-จีน เกี่ยวกับการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟระหว่างหนองคาย-เวียงจันทน์ (คค. แจ้งว่าได้จัดการประชุมไตรภาคีฯ แล้วเมื่อวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2564 และอยู่ระหว่างจะจัดการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 30 ต่อไป)
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 28 ธันวาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12987