ภาวะสังคมไทยไตรมาสสาม ปี 2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 30 December 2021 17:47
- Hits: 8912
ภาวะสังคมไทยไตรมาสสาม ปี 2564
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอภาวะสังคมไทยไตรมาสสาม ปี 2564 (เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564) [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2561 มาตรา 20 (2) ที่บัญญัติให้ สศช. ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย และติดตามภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศและของโลก รวมทั้งปัญหาและโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม และคาดการณ์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทั้งในบริบทประเทศและโลก เพื่อจัดทำข้อเสนอในเชิงนโยบาย และมาตรการการพัฒนาประเทศหรือรองรับผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเสนอคณะรัฐมนตรี] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ความเคลื่อนไหวทางสังคมไตรมาสสาม ปี 2564 ประกอบด้วย
1.1 สถานการณ์ด้านแรงงานไตรมาสสาม ปี 2564 พบว่า ตลาดแรงงานได้รับผลกระทบรุนแรงจากมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่เข้มงวด ส่งผลให้มีผู้ว่างงานและอัตราการว่างงานสูงสุดตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19
1.1.1 ภาพรวมการจ้างงาน ผู้มีงานทำมีจำนวนลดลงร้อยละ 0.6จากช่วงเดียวกันของปีก่อน การจ้างงานในภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มฤดูการเพาะปลูกข้าว ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 1.3 โดยสาขาที่มีการจ้างงานลดลงมาก ได้แก่ สาขาก่อสร้าง โรงแรม/ภัตตาคาร ส่วนสาขาที่ขยายตัวได้ ได้แก่ สาขาการผลิต ขายส่ง/ขายปลีก และขนส่ง/เก็บสินค้า ทั้งนี้ การว่างงานเพิ่มขึ้นสูงสุดตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 โดยมีจำนวนผู้ว่างงาน 8.7 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 2.25 ส่วนการว่างงานของแรงงานในระบบ มีผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานร้อยละ 2.47 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าและปีก่อน เนื่องจากช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการและผู้ประกันตนในพื้นที่ควบคุมสูงสุด และมีจำนวนผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย 2.1 แสนคน ในเดือนกันยายน 2564 เพิ่มขึ้นจาก 0.9 แสนคน ณ สิ้นไตรมาสก่อน
1.1.2 ประเด็นที่ต้องติดตามในระยะต่อไป ได้แก่ (1) การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยวและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งในเดือนตุลาคมที่ผ่านมามีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่และการเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่จะช่วยเพิ่มการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ควรมีมาตรการเพิ่มเติม เช่น 1) การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เข้มงวด 2) การกำหนดมาตรการช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยวขนาดเล็ก และ 3) การดำเนินมาตรการอื่นๆ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและการจ้างงาน โดยเฉพาะโครงการที่ก่อให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น (2) ผลกระทบของอุทกภัยต่อแรงงานภาคเกษตรและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร โดยในช่วงที่ผ่านมามีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยทั้งสิ้น 33 จังหวัด รวม 225 อำเภอ ซึ่งรัฐบาลได้มีมาตรการเยียวยาเบื้องต้นจากความเสียหายของผลผลิตทางการเกษตรแล้ว แต่อาจต้องมีมาตรการสนับสนุนด้านการเงินเพื่อนำไปใช้ในการซ่อมแซมบ้านเรือนและเป็นทุนในการทำการเกษตร (3) ภาระค่าครองชีพที่อาจปรับเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ราคาสินค้าหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้นและกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน โดยเฉพาะผู้ว่างงานชั่วคราวที่ไม่ได้รับค่าจ้างที่มีจำนวนสูงถึง 7.8 แสนคน (4) การจัดการปัญหาการสูญเสียทักษะจากการว่างงานเป็นเวลานานและการยกระดับทักษะให้กับแรงงาน โดยแรงงานต้องมีการพัฒนาทักษะของตนให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง เช่น รูปแบบการทำงานและทักษะเทคโนโลยี ซึ่งภาครัฐควรส่งเสริมให้ผู้ว่างงานเข้ารับการอบรมเพื่อพัฒนาทักษะเพิ่มขึ้น และ (5) การส่งเสริมให้แรงงานที่ประกอบอาชีพอิสระที่ลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ของสำนักงานประกันสังคม เพื่อรับการช่วยเหลือเยียวยาให้เป็นผู้ประกันตนอย่างต่อเนื่อง จากมาตรการช่วยเหลือเยียวยากลุ่มแรงงานนอกระบบในช่วงการระบาดที่ผ่านมา มีแรงงานประมาณ 7 ล้านคน สมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 จึงควรเร่งประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจกับแรงงานกลุ่มดังกล่าวเพื่อให้ทราบสิทธิประโยชน์ของการเป็นผู้ประกันตนและมีมาตรการเพื่อโน้มน้าวแรงงานให้คงสถานะเป็นผู้ประกันตนอย่างต่อเนื่อง
1.2 หนี้สินครัวเรือนขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ปรับลดลงเล็กน้อยแต่ยังคงอยู่ในระดับสูง ด้านคุณภาพสินเชื่อต้องเฝ้าระวังหนี้เสียจากบัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้น
1.2.1 ภาพรวมหนี้สินครัวเรือน โดยไตรมาสสอง ปี 2564 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.27 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 จากร้อยละ 4.7 ในไตรมาสก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 89.3 ต่อ GDP ลดลงจากร้อยละ 90.6 ในไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวเร็วกว่าหนี้สินครัวเรือน อย่างไรก็ตาม สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่คุณภาพสินเชื่อยังต้องเฝ้าระวังหนี้บัตรเครดิตที่มีหนี้เสียเพิ่มขึ้น โดยสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสินเชื่อบัตรเครดิตต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเป็นไตรมาสที่สองติดต่อกันจากร้อยละ 3.04 ในไตรมาสก่อน เป็นร้อยละ 3.51 รวมทั้งหนี้สินครัวเรือนยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจาก (1) ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่สามารถขยายตัวได้ปกติซึ่งจะกระทบต่อสภาพคล่องและความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน และ (2) ผลกระทบของอุทกภัยซึ่งทำให้ครัวเรือนต้องก่อหนี้เพื่อนำมาซ่อมแซมบ้านเรือนและเครื่องใช้ที่ได้รับความเสียหาย
1.2.2 ประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป ได้แก่ (1) หนี้เสียโดยเฉพาะบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยปรับสูงเมื่อเทียบกับหนี้ประเภทอื่น (2) การส่งเสริมให้ลูกหนี้เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ซึ่งปัจจุบันหนี้เสียของครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งอาจเกิดจากลูกหนี้ไม่ทราบเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือจึงควรเร่งประชาสัมพันธ์ให้ลูกหนี้เข้าร่วมการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อลดภาระและเพิ่มสภาพคล่อง และ (3) การก่อหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น เนื่องจากพบว่ามีมูลค่าหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึง 1.5 เท่า
1.3 ภาวะทางสังคมอื่นๆ ได้แก่ (1) การเจ็บป่วยโดยรวมลดลงแต่ยังต้องเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจิตและการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้น รวมถึงอาการหลงเหลือหลังติดเชื้อโควิด-19 (2) การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลงแต่ยังต้องเฝ้าระวังผลกระทบจากการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาบุหรี่ปรับตัวสูงขึ้นและทำให้ประชาชนหันไปบริโภคสินค้าทดแทน เช่น ยาเส้นและบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงการลักลอบนำเข้าบุหรี่ผิดกฎหมาย (3) คดีอาญาโดยรวมเพิ่มขึ้นแต่ยังต้องเฝ้าระวังคดีลักทรัพย์และคดีจับกุมการเสพยาเสพติด (4) การเกิดอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตลดลง โดยสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุมาจากการขับรถตัดหน้าและการขับรถเร็ว ทั้งนี้ การลดความสูญเสียควรเริ่มจากการปลูกฝังความรู้ความเข้าใจและจิตสำนึกในการใช้รถใช้ถนนที่ปลอดภัยตั้งแต่วัยเด็ก และ (5) การร้องเรียนผ่านสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ลดลง โดยส่วนใหญ่เป็นการร้องเรียนสินค้าและบริการทั่วไป ขณะที่การร้องเรียนผ่านสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นประเด็นถูกคิดค่าบริการผิดพลาด ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อลูกหนี้โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เนื่องจากยังมีช่องว่างทางด้านกฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและสัญญาเช่าซื้อฯ ดังนั้น สคบ. จึงได้ออกประกาศคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้เพื่อปรับลดค่าธรรมเนียมทวงถามหนี้ และอยู่ระหว่างปรับปรุง (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่องให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถแทรกเตอร์ และเครื่องจักรกลการเกษตร เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. .... เพื่อสร้างความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค
2. สถานการณ์ทางสังคมที่สำคัญ ได้แก่
2.1 มรดกทางวัฒนธรรม โอกาสของ Soft Power* กับการยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย ประเทศไทยสามารถผลักดันโมเดลไทยแลนด์ 4.0 ผ่านการยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วยการใช้ Soft Power ซึ่งเป็นการกระทำสิ่งต่างๆ ที่จะส่งผลต่อความชอบและพฤติกรรมของคนในประเทศและคนต่างชาติด้วยการโน้มน้าวและไม่มีการบังคับ ทำให้ Soft Power มีความหลากหลายและเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กันในทุกด้าน เช่น วัฒนธรรม ธุรกิจและการค้า และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งนี้ การให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ด้วยการนำวัฒนธรรมมาต่อยอดเพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ มีปัจจัยดังนี้ (1) การตั้งเป้าหมาย และการมีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนด้วย Soft Power (2) กำหนดหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการขับเคลื่อนแผนการดำเนินงาน และ (3) ต้องมีการส่งเสริมและสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
2.2 Blockchain กับการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการข้อมูลภาครัฐ ปัจจุบันภาครัฐมีการกำหนดนโยบายและการให้สวัสดิการบนพื้นฐานของการวิเคราะห์ข้อมูลมากขึ้น ทำให้ความถูกต้อง ครบถ้วน และการจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบเป็นสิ่งสำคัญ โดยเทคโนโลยีที่มีบทบาทในปัจจุบัน คือ เทคโนโลยี Blockchain ซึ่งเป็นการจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ที่ทำให้ข้อมูลมีความถูกต้องและสามารถตรวจสอบได้ รวมถึงสามารถกำหนดระดับการเข้าถึงและการเปิดเผยข้อมูลได้อีกด้วย ทั้งนี้ การนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้กับงานบริการภาครัฐสามารถแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ (1) การพิสูจน์ตัวตน (2) การบริหารจัดการการจัดเก็บข้อมูล และ (3) การติดตามธุรกรรม โดยการดำเนินการดังกล่าวต้องมีการเตรียมความพร้อม เช่น การบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ การกำหนดมาตรฐานการใช้เทคโนโลยี Blockchain และการปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการใช้เทคโนโลยี
2.3 จัดการปัญหาน้ำท่วมในต่างประเทศ : บทเรียนสำหรับประเทศไทยโดยประเทศไทยเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมอย่างต่อเนื่องซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ การจัดการน้ำท่วมในประเทศต่างๆ สามารถนำมาใช้เป็นบทเรียนและประยุกต์ใช้กับประเทศไทยได้ โดยมีประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ ดังนี้ (1) ผังเมืองและผังน้ำ (2) การคาดการณ์สถานการณ์และเส้นทางการไหลของน้ำต้องมีความชัดเจน (3) ระบบเตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมต้องทันต่อสถานการณ์และทั่วถึง (4) การพัฒนา ฟื้นฟู บำรุงรักษาพื้นที่รองรับน้ำและพื้นที่ชะลอน้ำให้มีจำนวนมากขึ้นและพร้อมใช้งาน (5) การส่งเสริมให้ประชาชนปรับตัวเพื่อพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม และ 6) การเตรียมพื้นที่รองรับกรณีมีผู้ประสบภัย
3. บทความเรื่อง “โควิด-19 ภัยต่อสุขภาพ กับความยากจนและความเหลื่อมล้ำ” สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิค-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยหดตัวอย่างรุนแรงเนื่องจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคที่มีความเข้มงวด อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 ความยากจนไม่ได้เพิ่มมากขึ้นเหมือนที่คาดการณ์ไว้ ส่วนความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งเป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของรัฐบาลที่ทำให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถรักษาระดับค่าครองชีพได้ชั่วคราว แต่หากความช่วยเหลือของรัฐบาลสิ้นสุดลงในช่วงที่เศรษฐกิจและการจ้างงานยังไม่ฟื้นตัวสถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำจะรุนแรงกว่าเดิม ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า (1) สมาร์ทโฟน อินเทอร์เน็ต และทักษะดิจิทัล เป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลต่อการเข้าถึงความช่วยเหลือเยียวยาและเป็นภาระที่ครัวเรือนยากจนต้องรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือเยียวยาต่างๆ ต้องดำเนินการผ่านสมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ต และ (2) โควิด-19 ส่งผลกระทบที่แตกต่างกันในแต่ละสาขาเศรษฐกิจและอาจนำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นในภายหลัง
นอกจากนี้ แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายลงแต่ยังมีผลกระทบต่อเนื่อง เช่น (1) คนว่างงานเพิ่มและว่างงานยาวนานขึ้น (2) ครัวเรือนต้องนำเงินออมมาใช้จ่ายและมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้น และ (3) รัฐบาลต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการช่วยเหลือเยียวยา ดังนั้น จึงควรมีแนวทางดำเนินการในระยะต่อไป ดังนี้ (1) การช่วยเหลือเยียวยายังคงเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยต้องเน้นเรื่องการจ้างงานและการช่วยเหลือในลักษณะเฉพาะกลุ่ม (2) การพัฒนาทักษะและการอบรมเป็นสิ่งสำคัญ โดยควรพิจารณาให้มีความเชื่อมโยงกับความต้องการของตลาดและตำแหน่งงาน (3) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายอินเทอร์เน็ตให้พร้อมใช้งานและสามารถเข้าถึงได้ และ (4) การปรับโครงสร้างหนี้และการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีดอกเบี้ยต่ำ
___________________
*Soft Power หมายถึง ความสามารถในการส่งผลกระทบต่อผู้อื่นเพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่ต้องการด้วยแรงดึงดูดหรือจูงใจมากกว่าบีบบังคับ โดยมีองค์ประกอบ 3 ส่วน ได้แก่ วัฒนธรรม ค่านิยมทางการเมือง และนโยบายต่างประเทศ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 28 ธันวาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12986