การทบทวนสัดส่วนที่ใช้เป็นกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะ ตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 30 December 2021 17:43
- Hits: 8226
การทบทวนสัดส่วนที่ใช้เป็นกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะ
ตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ (คณะกรรมการฯ) เสนอรายงานการทบทวนสัดส่วนที่ใช้เป็นกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะ ตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 (พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังฯ) (เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังฯ มาตรา 50 วรรคสี่ ซึ่งบัญญัติให้มีการทบทวนสัดส่วนที่ใช้เป็นกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะที่กำหนดไว้อย่างน้อยทุกสามปีและรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบด้วย) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. คณะกรรมการฯ ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2564 ได้พิจารณาพื้นที่ทางการคลัง ณ เพดานหนี้สาธารณะปัจจุบัน ดังนี้
1.1 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ กำหนดเพื่อวัดระดับหนี้ ป้องกันไม่ให้กู้เงินมากเกินควรและไม่เป็นอุปสรรคในการดำเนินนโยบายการคลัง โดย ณ เพดานปัจจุบันที่กำหนดให้ต้องไม่เกินร้อยละ 60 นั้น จะไม่สามารถรองรับการกู้เพิ่มเติมในอนาคตได้
1.2 สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ กำหนดเพื่อวัดความสามารถในการชำระหนี้ ส่งเสริมให้มีการชำระหนี้และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ ควบคุมไม่ให้ความเสี่ยงในการปรับโครงสร้างหนี้สูงเกินไป และรองรับการกู้เงินด้วยการใช้เครื่องมือการกู้เงินที่หลากหลาย โดย ณ เพดานปัจจุบันที่กำหนดให้ต้องไม่เกินร้อยละ 35 สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะสามารถบริหารจัดการได้ ทั้งนี้ ควรส่งเสริมให้มีการบริหารความเสี่ยงด้านการปรับโครงสร้างหนี้และส่งเสริมให้รัฐบาลเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้
1.3 สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด กำหนดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกู้เงินต่างประเทศมากเกินควร โดย ณ เพดานปัจจุบันที่กำหนดให้ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ยังสามารถรองรับการกู้เงินต่างประเทศได้หากมีความจำเป็น
1.4 สัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ กำหนดเพื่อวัดความสามารถในการชำระหนี้ต่างประเทศ โดย ณ เพดานปัจจุบันที่กำหนดให้ต้องไม่เกินร้อยละ 5 ยังสามารถรองรับการกู้เงินต่างประเทศได้ หากมีความจำเป็น
2. คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้เงื่อนไขและสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันมีความแตกต่างจากเมื่อครั้งที่มีการกำหนดสัดส่วนที่ใช้เป็นกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องทบทวนสัดส่วนดังกล่าว โดยต้องคำนึงถึงพื้นที่ทางการคลังที่เพียงพอซึ่งสามารถรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจและความจำเป็นหากต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต รวมทั้งความสามารถในการชำระหนี้ให้อยู่ในระดับมั่นคงตามเกณฑ์มาตรฐานสากลด้วย ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จึงมีมติเห็นชอบการทบทวนสัดส่วนที่ใช้เป็นกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะ ดังนี้
กรอบการบริหารหนี้สาธารณะตามมาตรา 50 |
กรอบเดิม |
กรอบใหม่ |
(1) สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ |
ไม่เกินร้อยละ 60 |
ไม่เกินร้อยละ 70 |
(2) สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ |
ไม่เกินร้อยละ 35 |
คงเดิม |
(3) สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด |
ไม่เกินร้อยละ 10 |
คงเดิม |
(4) สัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ |
ไม่เกินร้อยละ 5 |
คงเดิม |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 28 ธันวาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12985