ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนพฤศจิกายน 2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 30 December 2021 17:41
- Hits: 8211
ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนพฤศจิกายน 2564
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนพฤศจิกายน 2564 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ความก้าวหน้ายุทธศาสตร์ชาติและการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
1.1 โครงการสำคัญประจำปี 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติ (9 พฤศจิกายน 2564) เห็นชอบโครงการสำคัญประจำปี 2566 จำนวน 406 โครงการ ที่ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (ปี 2566-2570) ทั้งนี้ สศช. อยู่ระหว่างจัดทำคู่มือการจัดทำโครงการฯ และจะจัดประชุมชี้แจงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
1.2 ความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) สศช. ได้ลงพื้นที่จังหวัดอุดรธานีและจังหวัดพิษณุโลก พบปัญหาและอุปสรรค เช่น หน่วยงานในพื้นที่ขาดความเข้าใจในการใช้ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP) และระบบแฟ้มบ้านพัฒนาคนไทย* (TPMAP Logbook) และการวิเคราะห์ข้อมูลจากระบบ TPMAP เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผน ติดตามการดำเนินงาน รวมทั้งประชาชนในพื้นที่บางส่วนยังมีทัศนคติที่ต้องการความช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐโดยไม่ต้องการพัฒนาตนเองให้หลุดพ้นจากความยากจน นอกจากนี้ สศช. ได้ลงพื้นที่เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร และจังหวัดสงขลา ทั้งนี้ จะมีการจัดทำข้อสังเกตที่ได้จากการลงพื้นที่และข้อเสนอแนวทางการดำเนินงานเสนอต่อ ศจพ. ต่อไป
2. ความก้าวหน้าแผนการปฏิรูปประเทศ
2.1 การรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ครั้งที่ 12 (เดือนเมษายน-มิถุนายน 2564) ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรและที่ประชุมวุฒิสภา ดังนี้
2.1.1 สศช. ได้รายงานความคืบหน้าฯ ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 โดยมีความเห็นและประเด็นอภิปรายที่สำคัญ เช่น (1) การขจัดอุปสรรคในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและการเบิกจ่ายเงินเพื่อให้เกิดความรวดเร็ว คุ้มค่า และโปร่งใส (2) การปรับการเบิกจ่ายงบประมาณที่เป็นโครงการที่มีความสำคัญเร่งด่วนต่อประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น และ (3) การผลักดันให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการทางกฎหมายได้อย่างเสมอภาค ทั่วถึง และเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ สศช. จะนำความเห็นและประเด็นอภิปรายประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
2.1.2 สศช. ได้รายงานความคืบหน้าฯ ต่อที่ประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 โดยมีความเห็นและประเด็นอภิปรายที่สำคัญ เช่น (1) การเร่งรัดการขับเคลื่อนการดำเนินการตามแผนงาน/โครงการของหน่วยงานทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นให้เป็นรูปธรรม (2) การประสานและบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินกิจกรรม/โครงการมีประสิทธิภาพ และ (3) การเร่งรัดการออกร่างกฎหมายที่มีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนให้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม
2.2 การติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติของคณะกรรมาธิการการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ สศช. ได้รายงานความคืบหน้าการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบด้านการเมือง และด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ต่อคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภาในการประชุมวุฒิสภาสมัยสามัญประจำปีแล้ว
3. ผลการดำเนินการอื่นๆ
3.1 คณะรัฐมนตรีมีมติ (9 พฤศจิกายน 2564) เห็นชอบแนวทางการติดตามตรวจสอบ และประเมินผลเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติ และได้มอบหมายให้ สศช. ทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องชัดเจนเพื่อให้การดำเนินการตามแนวทางการติดตามเป็นไปอย่างถูกต้องและไปในทิศทางเดียวกัน
3.2 การสร้างการตระหนักรู้ ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมของภาคีต่างๆ ต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ สศช. ได้จัดทำสื่อวีดิทัศน์เพื่อเผยแพร่การร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพลิกโฉมประเทศไทยสู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน รวมทั้งเพื่อนำไปใช้ในการรวบรวมความคิดเห็นและเผยแพร่ต่อสาธารณชน ทั้งนี้ สศช. อยู่ระหว่างระดมความคิดเห็นต่อร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ทั้งในระดับภูมิภาค 18 กลุ่มจังหวัด กลุ่มเฉพาะ และระดับหมุดหมาย 13 หมุดหมาย
4. ประเด็นที่ควรเร่งรัดเพื่อการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ สศช. ได้ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของส่วนราชการ จังหวัด และกลุ่มจังหวัด จากการใช้จ่ายงบประมาณตามแผนปฏิบัติงานในรอบปีที่ผ่านมา พบว่า ภาพรวมงบประมาณของส่วนราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 3,012,156.19 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 91.67 ของการเบิกจ่ายต่องบประมาณ โดยมีเงินคงเหลือจากการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายหมวดการลงทุนที่ไม่ได้เบิกจ่ายมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 29.21 ของเงินคงเหลือยังไม่เบิกจ่าย ในขณะที่ผลการเบิกจ่าย จำแนกตามกระทรวง พบว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักนายกรัฐมนตรีมีอัตราการเบิกจ่ายต่องบประมาณหลังโอนเปลี่ยนแปลงที่น้อยที่สุด โดยมีหน่วยงานของศาล และหน่วยงานอิสระของรัฐที่สามารถเบิกจ่ายได้ครบถ้วนตามจำนวน นอกจากนี้ พบว่า ผลการเบิกจ่ายของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดมีความล่าช้าและไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งนี้ ยอดการใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าวมีความสัมพันธ์โดยตรงกับผลการดำเนินโครงการในห้วงเวลาที่ผ่านมา หากไม่สามารถใช้จ่ายงบประมาณได้ตามเป้าหมายจะส่งผลให้การดำเนินโครงการในพื้นที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ซึ่งอาจส่งผลต่อการขับเคลื่อนการดำเนินการที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติและประชาชนขาดโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากการดำเนินงานของภาครัฐ ดังนั้น การบูรณาการของทุกภาคส่วนในการติดตามผลการปฏิบัติงานและการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณอย่างต่อเนื่องจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
_______________________
*ระบบแฟ้มบ้านพัฒนาคนไทย (TPMAP Logbook) คือ ระบบที่สามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกส่วนบุคคลสำหรับเจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการในการติดตามแก้ไขปัญหา กำหนดนโยบาย ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน และสามารถรายงานผลการปฏิบัติงานต่างๆ ได้
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 28 ธันวาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12984