ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การส่งเสริมการค้าชายแดนของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 30 December 2021 17:38
- Hits: 7520
ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การส่งเสริมการค้าชายแดนของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การส่งเสิรมการค้าชายแดน ของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การส่งเสริมการค้าชายแดน ของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมการค้าชายแดน ดังนี้ 1) ส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้าในประเทศ 2) การเจรจาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน และ 3) การพัฒนาการเชื่อมโยงการค้าผ่านแดนไปประเทศที่สาม
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ พณ. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงกลาโหม (กห.) กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
พณ. ได้ดำเนินการตามคำสั่งรองนายกรัฐมนตรีตามข้อ 2 โดยสรุปผลการพิจารณาได้ ดังนี้
ข้อเสนอแนะ |
ผลการพิจารณา |
|
1. ส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้าในประเทศ โดยเร่งรัดพัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (National Single Window : NSW) และการเชื่อมโยงกับ ASEAN Single Window (ASW) เพื่อสนับสนุนการค้าชายแดน |
- หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ปรับรูปแบบกิจกรรมการพัฒนาผู้ประกอบการและการจัดงานแสดงสินค้าและการเจรจาจับคู่ธุรกิจเป็นลักษณะออนไลน์ เชื่อมโยงข้อมูลการนำเข้า ส่งออก ใบอนุญาต และใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งประเทศอาเซียน 9 ประเทศ (ยกเว้นเมียนมา) สามารถรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form D แบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-From D) ได้แล้ว ก่อสร้างอาคารด่านศุลกากรสะเดาและด่านศุลกากรแม่สอด แห่งที่ 2 (พร้อมอาคาร X-ray ตู้สินค้า) การสร้างถนนเชื่อมโยงด่านสะเดาแห่งใหม่กับด่านบูกิตกายูฮิตัมของมาเลเซียทั้งสองฝ่ายเห็นชอบจุดเชื่อมต่อแล้ว และทบทวนผลการวิเคราะห์โครงการและจัดลำดับความสำคัญในการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าจังหวัดชายแดนแห่งอื่นๆ อีก 9 แห่ง (จังหวัดหนองคาย จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดเชียงราย) ตลอดจนการพัฒนาโครงการด้านการคมนาคมขนส่ง ทั้งโครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบด้านการขนส่งที่เกี่ยวข้องตามยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 - 2565 ในส่วนที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน |
|
2. การเจรจาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ด้านชายแดนไทย - สปป.ลาว โดยผลักดันความร่วมมือในกรอบอนุภูมิภาคเพื่ออำนวยความสะดวกและส่งเสริมการค้าชายแดน และเจรจาเร่งรัดการจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขนส่งสินค้าทางถนนข้ามพรมแดนไทย - มาเลเซีย |
- หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เจรจาเร่งรัดการเปิดใช้พื้นที่ควบคุมร่วมกัน (Common Control Area: CCA) ระหว่างไทย - สปป.ลาว (มุกดาหาร - สะหวันนะเขต) เจรจาจัดทำร่างความตกลงว่าด้วยกรรมสิทธิ์ การใช้ การบริหารและการบำรุงรักษาสะพานมิตรภาพไทย - กัมพูชา (บ้านหนองเอี่ยน - สตึงบท) เจรจาจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขนส่งสินค้าทางถนนข้ามพรมแดนไทย - มาเลเซีย และร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขนส่งผู้โดยสารทางถนนข้ามพรมแดนไทย - มาเลเซีย ได้ข้อยุติต่อร่างบันทึกความเข้าใจทั้งสอบฉบับแล้ว |
|
3. การพัฒนาการเชื่อมโยงการค้าผ่านแดนไปประเทศที่สาม การเชื่อมโยงเส้นทางการค้าไปจีน และการเชื่อมโยงเส้นทางการค้าไปอินเดียโดยผลักดันการเจรจาร่างความตกลงด้านยานยนต์เพื่อการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าระหว่างไทย - เมียนมา - อินเดีย |
- หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดและการขนส่งผลไม้ไปจีน ณ ด่านโหย่วอี้กวน ส่งผลให้การส่งออกผลไม้ไปจีนทางบกในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ถึงร้อยละ 198 การเพิ่มด่านหนองคายเป็นด่านนำเข้าส่งออกผลไม้ไปจีนทางบก รองรับการเปิดใช้เส้นทางรถไฟจีน - สปป.ลาว และการรถไฟแห่งประเทศไทยมีแผนการเปิดเดินขบวนรถเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเปิดเดินขบวนรถสินค้าโดยเฉพาะ (ไม่พ่วงรวมกับรถโดยสาร) วันละ 7-10 ขบวน (ไป-กลับ) รวมทั้งที่ประชุมสามฝ่าย (อินเดีย เมียนมา และไทย) ได้มีมติเห็นชอบร่างความตกลงยานยนต์ระหว่างอินเดีย เมียนมา และไทย (IMTMVA) ร่วมกันแล้ว |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 28 ธันวาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12983