รายงานสรุปผลการดำเนินการของคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 30 December 2021 17:35
- Hits: 7956
รายงานสรุปผลการดำเนินการของคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสรุปผลการดำเนินการของคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป ตามที่คณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อยเสนอ
สาระสำคัญ
1. สรุปรายงานผลการดำเนินการและความคืบหน้า 8 ประเด็นสำคัญเร่งด่วนที่คณะกรรมการฯ ขับเคลื่อน
1.1 การแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)
จากข้อมูล ณ สิ้นปี พ.ศ. 2563 เงินกู้ กยศ. มีหนี้เสีย (NPL) สูงถึง 63% ซึ่งสูงที่สุดในช่วง 25 ปี และหนี้ กยศ. เป็นประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้างในหลายมิติคณะกรรมการฯ เห็นว่า ความจำเป็นต้องเร่งปฏิรูปเงินกู้ กยศ. เพื่อให้มีรูปแบบการชำระหนี้ที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมมากขึ้น เพื่อลดโอกาสการผิดนัดชำระหนี้และกลายเป็น NPL โดย กยศ. จะเพิ่มแผนการรับชำระหนี้ให้หลากหลายมากขึ้น ทำให้ผู้กู้ที่มีความสามารถในการชำระคืนแตกต่างกัน สามารถเลือกแผนการชำระคืนให้เหมาะสมกับศักยภาพและความสามารถของตนเองได้ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
(1) การปรับปรุงรูปแบบการจ่ายชำระหนี้คืน จาก “รายปี” เป็น “รายเดือน” และจากเดิมที่ปรับ “เพิ่มขึ้นทุกปี” เป็นชำระคืนค่างวดแบบเฉลี่ย “เท่ากันทุกเดือน” พร้อมทั้งขยายระยะเวลาการผ่อนชำระจากเดิมสูงสุด 15 ปี เป็น 25 ปี ขึ้นกับขนาดของวงเงินกู้
(2) การปรับปรุงการเริ่มชำระหนี้ โดยผูกกับ “การมีงานทำ” จากเดิมกำหนดให้หลังจบการศึกษา 2 ปี ผู้กู้จะต้องเริ่มชำระคืนหนี้
(3) การปรับปรุงลำดับการตัดชำระหนี้ โดยนำไปตัด “เงินต้น” ก่อน แล้วจึงนำมาตัด “ดอกเบี้ย” จากเดิมที่ตัดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และดอกเบี้ยตามสัญญาก่อน จึงจะนำมาตัดเงินต้น ซึ่งหากภาระดอกเบี้ยมีปริมาณมาก เงินที่ผู้กู้ชำระคืนจะตัดไม่ถึงเงินต้น ทำให้ยอดหนี้ไม่ลดลง
(4) การปรับลดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ จาก 18% ต่อปี เหลือ 2% ต่อปี โดยแบ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยตามสัญญา 1% และดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ส่วนเพิ่ม 1%
(5) การยกเลิกผู้ค้ำประกันสำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษานับตั้งแต่ปีการศึกษา พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป
(6) การปรับโครงสร้างหนี้ให้กับผู้ที่มีปัญหาชำระหนี้ไม่ได้ โดยคำนวณยอดหนี้คงค้างใหม่ตามกติกาใหม่ข้างต้น โดยเฉพาะลำดับการตัดชำระหนี้ที่ให้นำเงินไปตัดเงินต้นก่อนนำมาตัดดอกเบี้ย สำหรับดอกเบี้ยผิดนัดเดิมจะแขวนไว้ก่อนและจะใช้ดอกเบี้ยผิดนัดใหม่ที่ 2% มาคำนวณแทน ซึ่งจะทำให้เกิดความเป็นธรรมและช่วยลดภาระหนี้คงเหลือ ตลอดจนดอกเบี้ยผิดนัดชำระที่ผู้กู้ต้องจ่ายปรับลดลงจากปัจจุบันอย่างมีนัยยะสำคัญ
(7) การเพิ่มหลักสูตรที่เกี่ยวกับการฝึกอาชีพระยะสั้นให้สามารถกู้ยืมจาก กยศ. ได้ เช่น หลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล 6 เดือน เป็นต้น จากเดิมที่หลักสูตรส่วนใหญ่เป็นหลักสูตรในชั้นอุดมศึกษาที่ใช้เวลาศึกษา 4-6 ปี
(8) การจัดให้มีข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกเรียน โดยสอบถามความเห็นจากผู้กู้ กยศ. เกี่ยวกับสถานศึกษาที่เคยเรียน
ประเด็นที่ควรดำเนินการในขั้นต่อไป คือ การผลักดันการแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว ไม่ว่าด้วยการตราเป็นพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนด เพื่อให้สามารถบริหารจัดการกองทุนและหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันรวมถึง กยศ. สามารถปรับโครงสร้างหนี้หรือเปลี่ยนแปลงหนี้ใหม่ให้แก่ลูกหนี้ที่ถูกคำพิพากษาแล้วได้ เช่น การชะลอการฟ้องร้องและบังคับดี หรือการชะลอการขายทอดตลาดสำหรับลูกหนี้ที่คดีใกล้ขาดอายุความ โดยปัจจุบัน กยศ. ปรับโครงสร้างหนี้ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น แอปพลิเคชัน “กยศ. Connect” ติดต่อตัวแทนของ กยศ. โดยตรง หรือติดต่อทางจดหมายเพื่อขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้เพียง 120,000 ราย
1.2 การกำหนดให้การไกล่เกลี่ยและการปรับโครงสร้างหนี้เป็นวาระของประเทศ (เน้น SFIs และ SMEs)
ที่ผ่านมาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และการไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สำหรับ SFIs มีความท้าทายจากความกังวลของคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติว่า หากยินยอมให้มีการปรับโครงสร้างหนี้อาจถูกพิจารณาว่าทำให้รัฐเสียหายอันนำมาสู่การลงโทษ โดยประเด็นดังกล่าวกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ได้หารือแนวทางในการลดข้อกังวลข้างต้น โดย ธปท. จะออกประกาศเรื่อง “การปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจอย่างยั่งยืน” ซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 120 แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อช่วยให้ SFIs สามารถปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ได้โดยไม่มีข้อกังวลเกี่ยวกับการถูกลงโทษตามกฎหมาย โดย SFIs จะออกข้อตกลงของสมาชิกสมาคมสถาบันการเงินของรัฐเพื่อกำหนดคุณสมบัติของลูกหนี้ที่จะได้รับการพิจารณาปรับโครงสร้างหนี้และกระบวนการลดภาระการชำระหนี้ โดยคำนึงถึงฐานะทางการเงินของสถาบันการเงินนั้นๆ ทั้งนี้ ประกาศของ ธปท. และข้อตกลงดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป
1.3 การแก้ไขปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์
ประเด็นได้มีการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อกำกับการทวงถามหนี้ และการแก้ไขหนี้เช่าซื้อ ดังนี้
(1) คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ได้ประกาศกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายในการทวงถามหนี้ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2564 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นกรอบอัตราค่าใช้จ่ายในการทวงถามหนี้ที่ช่วยคุ้มครองลูกหนี้ ไม่ให้ถูกเรียกเก็บเงินในการทวงถามหนี้เกินความจำเป็น โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
(1.1) อัตราค่าทวงถามหนี้กรณีทั่วไปรวมจำนำทะเบียน ให้คิดไม่เกิน 50 บาทต่อรอบการทวงถามกรณีค้างชำระ 1 งวด และคิดไม่เกิน 100 บาทต่อรอบการทวงถาม กรณีค้างชำระมากกว่า 1 งวด
(1.2) อัตราค่าทวงถามหนี้สำหรับปฏิบัติการลงพื้นที่ติดตามถามหนี้ สำหรับสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ คิดไม่เกิน 400 บาทต่อรอบการทวงถาม และเก็บต่อเมื่อลูกหนี้ค้างชำระมากกว่า 1 งวด
(1.3) การยุติการเรียกเก็บค่าทวงถามหนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาการเก็บค่าทวงถามหนี้แบบไม่มีข้อจำกัด คณะกรรมการฯ จึงกำหนดให้การเรียกเก็บค่าทวงถามหนี้ยุติเมื่อผู้ให้บริการได้รับชำระหนี้ครบตามจำนวนหรือมีหนังสือบอกเลิกสัญญา แล้วแต่เหตุการณ์ใดเกิดขึ้นก่อน
(1.4) การกำหนดค่างวดที่ถึงกำหนดชำระที่ต่ำกว่า 1,000 บาท ไม่ให้มีการเก็บค่าทวงถามหนี้ เพื่อคุ้มครองประชาชนรายย่อยที่จ่ายค่างวดจำนวนน้อยๆ
(2) การปรับปรุงประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเพื่อแก้ไขหนี้เช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ทบทวน ปรับปรุง และแก้ไขประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฯ เพื่อช่วยเหลือผู้เช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยไม่ให้สูงกว่าความเสี่ยงที่แท้จริง พร้อมทั้งปรับปรุงเงื่อนไขการยึดและการคืนรถให้มีความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น รวมทั้งกำหนดแนวทางการคิดยอดหนี้เช่าซื้อคงเหลือ (ติ่งหนี้) กรณีที่มีการคืนรถและกรณีที่เจ้าหนี้ยึดคืนให้มีความชัดเจนและเป็นธรรม ซึ่งปัจจุบันได้สอบถามความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียแล้วเสร็จแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงร่างประกาศฯ ซึ่งคาดว่าจะบังคับใช้ได้ภายในปี พ.ศ. 2564 นี้
(3) เรื่องที่จะต้องดำเนินการเพิ่มเติม
(3.1) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) หารือ ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณากำหนดหน่วยงานเพื่อเข้ามากำกับดูแลธุรกิจสินเชื่อหรือธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายสินเชื่อ (Credit) เพื่อให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์มีหน่วยงานกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ
(3.2) กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม พิจารณามาตรการดูแลประชาชนที่เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ปัจจุบันไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของ สคบ. เช่น คนขับรถแท็กซี่ คนขับขี่มอเตอร์ไซด์รับจ้างที่เช่าซื้อรถมอเตอร์ไซค์ เกษตรกรที่เช่าซื้อรถไถมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือทำมาหากิน ซึ่งปัจจุบันคนกลุ่มนี้กำลังประสบปัญหาและไม่ได้รับความเป็นธรรม
(3.3) กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาจากกรณีเช่าซื้อรถและการทวงถามหนี้ที่ไม่เป็นธรรม เพื่อให้มีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน
1.4 การแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการ โดยเฉพาะข้าราชการครูและข้าราชการตำรวจ
ได้มีการดำเนินการเพื่อแก้ไขหนี้สินให้กับข้าราชการใน 2 กลุ่ม ดังนี้
(1) กระทรวงศึกษาธิการได้จัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขหนี้สินบุคลากรครู โดยคณะกรรมการฯ ได้กำหนดแนวทางสำคัญในการแก้ไขปัญหา 4 เรื่อง ดังนี้
(1.1) การยุบยอดหนี้โดยใช้ทรัพย์สินและรายได้ในอนาคตของครู เพื่อให้ยอดหนี้ลดลงและสามารถชำระคืนได้จากเงินเดือน อาทิ การใช้หุ้นสหกรณ์ออมทรัพย์ เงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ในส่วนที่สมาชิกสะสมหรือเงินบำเหน็จตกทอด มาชำระหนี้บางส่วน และมีกลไกการหักเงินเดือนเพื่อชดเชยส่วนที่นำออกไปใช้เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น
(1.2) การปรับดอกเบี้ยเงินกู้ให้ลดลงเหลือไม่เกิน 5% เพื่อให้สอดคล้องกับสินเชื่อหักเงินเดือนข้าราชการที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยปัจจุบันสหกรณ์ออมทรัพย์ครูและตำรวจคิดดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ประมาณ 6-8% ขณะที่สินเชื่อของสถาบันการเงินที่มีความเสี่ยงสูงกว่า โดยคิดดอกเบี้ยที่ 5-11% นอกจากนี้ เงินที่ข้าราชการชำระหนี้จะถูกนำไปตัดดอกเบี้ยเป็นส่วนใหญ่และหักเงินต้นน้อย
(1.3) การปรับลดค่าธรรมเนียมทำประกันชีวิตและการค้ำประกันโดยบุคคลที่ไม่จำเป็น โดยแต่ละปีข้าราชการครูต้องจ่ายค่าธรรมเนียมประกันชีวิตและต้องมีผู้ค้ำประกันการกู้ยืม ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยการนำทรัพย์สินที่มีและรายได้ในอนาคตมาค้ำประกันเงินกู้ อย่างไรก็ดี ปัจจุบันหุ้นสหกรณ์ออมทรัพย์และเงิน ช.พ.ค. ยังไม่สามารถนำมาใช้ประกันเงินกู้ได้
(1.4) การยกระดับระบบการตัดเงินเดือนของข้าราชการให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมมากขึ้น โดยหน่วยงานต้นสังกัดที่ทำหน้าที่หักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้จะมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้
(2) กระทรวงศึกษาธิการได้ศึกษาแนวปฏิบัติที่ดีจากสหกรณ์ออมทรัพย์ต้นแบบ 2 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูกำแพงเพชรและสหกรณ์ออมทรัพย์ครูสมุทรปราการ ซึ่งสรุปบทเรียนที่สำคัญได้ ดังนี้
(2.1) การคิดดอกเบี้ยเงินกู้กับสมาชิกไม่เกิน 5% โดยเป็นผลจาก 3 ส่วนสำคัญ คือ ส่วนที่หนึ่ง การกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์พิเศษที่ 2.4% และออมทรัพย์ปกติที่ 1.7% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงเพียงพอเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยเงินฝากของสถาบันการเงินหรืออัตราผลตอบแทนจากพันธบัตรรัฐบาล ส่วนที่สอง การกำหนดเงินเฉลี่ยคืนผู้กู้ที่ 20% ของกำไรในแต่ละปี เนื่องจากกำไรส่วนใหญ่ของสหกรณ์มาจากสมาชิกผู้กู้และในอนาคตมีแผนปรับอัตราการเฉลี่ยคืนให้สูงขึ้นเป็น 25-30% ของกำไรประจำปี และส่วนที่สาม การกำหนดอัตราเงินปันผลสำหรับผู้ถือหุ้นที่ไม่เกิน 5% ซึ่งเป็นอัตราที่สมาชิกทั้งผู้ถือหุ้นและผู้กู้สามารถที่จะอยู่ได้ทั้งสองฝ่าย
(2.2) การบริหารความเสี่ยงของสินเชื่อต้องไม่สร้างภาระให้ข้าราชการมากกว่าความเสี่ยงที่แท้จริง อาทิ สมาชิกกู้เงินไม่ต้องซื้อประกันชีวิตเพื่อเป็นหลักประกันความเสี่ยงเพิ่มเติม และกำหนดให้มีผู้ค้ำประกันเท่าที่จำเป็น โดยไม่มีการฟ้องร้องผู้ค้ำประกันเป็นต้น
(2.3) การปรับโครงสร้างหนี้และการไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้ก่อนจะเป็น NPL โดยให้ลูกหนี้เลือกแผนการชำระคืนตามความสามารถ (Debtor’s Choice) นอกจากนี้ ผู้ค้ำประกันควรรับผิดชอบเฉพาะส่วนเท่านั้น
ปัจจุบันมีสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจำนวน 20 แห่ง ครอบคลุมครูทั่วประเทศกว่า 2 แสนคน สมัครเข้ามาเป็นสหกรณ์ครูต้นแบบที่จะดำเนินการตามแนวทางที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด และคาดว่าจะมีสหกรณ์ออมทรัพย์ครูอีกจำนวนมากสมัครเข้ามาเพิ่มเติมในระยะต่อไป
(3) การแก้ไขปัญหาหนี้ตำรวจ ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการ 4,937 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2564) และได้รับการแก้ไขปัญหาแล้ว 2,166 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการ 2,594 ราย นอกจากนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ขอความร่วมมือไปยังสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจเพื่อช่วยเหลือข้าราชการที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ในการพักชำระหนี้เงินต้น การปรับลดอัตราการถือหุ้นรายเดือน การจัดทำโครงการปล่อยเงินกู้ระยะสั้นดอกเบี้ยต่ำเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้กับสมาชิกในครอบครัว และการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับสมาชิกที่มีหนี้เงินกู้
(4) เรื่องที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติม
(4.1) สร้าง ecosystem เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ โดยมีกลไกขับเคลื่อนอย่างน้อย 4 ส่วน คือ (1) การกำกับดูแลโดยหน่วยงานต้นสังกัดที่ทำหน้าที่ตัดเงินเดือนให้เจ้าหนี้ โดยมีระบบและกำหนดเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการตัดเงินเดือน เพื่อให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมมากขึ้น (2) กรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ รวมถึง ธปท. กำกับดูแลให้สหกรณ์ออมทรัพย์และสถาบันการเงินให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (3) มีการกำกับดูแลชุมนุมสหกรณ์ให้ดำเนินงานตามเจตนารมณ์ที่จะเอื้อต่อการบริหารสภาพคล่องในระบบสหกรณ์เพื่อช่วยเหลือสมาชิกด้วยกัน และ (4) การแข่งขันจาก SFIs เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยมีความเป็นธรรมมากขึ้น
(4.2) หน่วยงานต้นสังกัดเร่งปรับปรุงและยกระดับระบบการตัดเงินเดือนเพื่อชำระหนี้ อาทิ กำหนดยอดเงินที่ข้าราชการสามารถกู้ได้โดยไม่เกินศักยภาพในการชำระคืนจากเงินเดือน กำหนดกติกาว่าหลังหักชำระหนี้ ข้าราชการต้องเหลือเงินเดือนไม่ต่ำกว่า 30% เพื่อป้องกันการกู้ยืมนอกระบบ และกำหนดกติกาที่สหกรณ์ออมทรัพย์หรือสถาบันการเงินที่จะมาใช้สิทธิพิเศษตัดเงินเดือนข้าราชการต้องปฏิบัติตาม เช่น คิดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราที่เหมาะสม และจัดให้มีข้อมูลเครดิตที่สามารถตรวจสอบได้ ตลอดจนสร้างการแข่งขันในระบบสหกรณ์และสถาบันการเงินที่จะมาเป็นช่องทางตัดเงินเดือนข้าราชการ
(4.3) กรมส่งเสริมสหกรณ์ปรับปรุงกฎกระทรวงและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนให้การแก้ปัญหาหนี้ข้าราชการเป็นไปอย่างราบรื่น โดยการเร่งรัดการออกกฎกระทรวง เพื่อกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนให้ครบถ้วนตามกฎหมาย โดยเฉพาะประเด็นการให้กู้และการให้สินเชื่อ การรับฝากเงิน การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง การจัดชั้นและการกันเงินสำรอง เป็นต้น เพื่อส่งเสริมให้การดำเนินการของสหกรณ์ในภาพรวมมีความมั่นคงตามหลักการกำกับดูแลความเสี่ยงที่ดี และให้ครอบคลุมมิติ ดังต่อไปนี้
1) ปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของสหกรณ์ให้ไม่เกิน 3% ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสม เพื่อลดปัญหาการแสวงหาผลตอบแทน (Search for Yield) ที่นำมาสู่ปัญหาสมาชิกแฝง ซึ่งดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงจะทำให้ผู้กู้ต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงตามไปด้วยโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะในปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำ
2) กรมส่งเสริมสหกรณ์ศึกษาและพิจารณาแก้ไขกฎเกณฑ์ให้สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์สามารถนำหุ้นบางส่วนมาใช้ชำระหนี้ได้ โดยไม่ต้องลาออกจากการเป็นสมาชิกเช่นเดียวกับที่หลายประเทศมีแนวปฏิบัติอยู่
3) ยกระดับการกำกับดูแลชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ โดยกำหนดให้มีผู้แทนจากกระทรวงการคลังและ ธปท. เป็นกรรมการหรือที่ปรึกษา คณะกรรมการที่ปรึกษาการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนียน เพื่อให้คำปรึกษา แนะนำ เสนอมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา ตลอดจนเสนอแนะการปรับปรุงระเบียบหรือคำสั่งเกี่ยวกับการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนียนแก่นายทะเบียนสหกรณ์ อันรวมถึงกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดเงินปันผลและการให้กู้ เป็นต้น โดยให้มีการประชุมเป็นประจำและมีวาระการประชุมที่ชัดเจน พร้อมทั้งสรุปรายงานการประชุมต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งกำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานต่างๆ อย่างโปร่งใส
4) กระทรวงศึกษาธิการร่วมกับ SFIs ในการติดตามแผนการแก้ไขปัญหาหนี้ครูและเร่งขับเคลื่อนโครงการแก้หนี้ครูผ่านการใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบ นอกจากนี้ มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาศึกษาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการปรับลดยอดหนี้ โดยการนำรายได้ในอนาคตของข้าราชการบางส่วนมาใช้ลดยอดหนี้ อาทิ เงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการในส่วนที่สมาชิกสะสมเอง หุ้นสหกรณ์ออกทรัพย์ และเงินบำเหน็จตกทอด เป็นต้น
1.5 การปรับลดและทบทวนโครงสร้างและเพดานอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม และการออกมาตรการคุ้มครองสิทธิของลูกหนี้
ธปท. ได้ทบทวนและปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดกระทรวงการคลังได้ปรับลดเพดานเงินกู้สินเชื่อ PICO Finance ลงจาก 36% เหลือ 33% สำหรับลูกหนี้ที่วางหลักประกัน นอกจากนี้ เมื่อเดือนตุลาคม 2564 ธปท. ได้ออกหนังสือเวียนเรื่องการกำหนดแนวปฏิบัติสำหรับการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible and Fair Lending Guidelines) เพื่อกำหนดแนวทางเพิ่มเติมให้การให้สินเชื่อของสถาบันการเงินและ SFIs เป็นธรรมยิ่งขึ้น โดยครอบคลุมกระบวนการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินตั้งแต่เริ่มต้น อาทิ กำหนดระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ที่นานเพียงพอและดอกเบี้ยเงินกู้สอดคล้องกับความเสี่ยง เป็นต้น
นอกจากนี้ ธปท. ได้ออกมาตรการแก้ไขหนี้สินระยะยาวเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2564 โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนให้สถาบันการเงินมีการปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมกับรายได้ของลูกหนี้ และเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ลูกหนี้ที่มีความต้องการ โดย ธปท. ใช้กลไกสิ่งจูงใจ (Incentive) กับสถาบันการเงินเพื่อให้ช่วยเหลือลูกหนี้และยอมไกล่เกลี่ยเพื่อชะลอการดำเนินคดี ซึ่งเป็นมาตรการเพิ่มเติมจากการพักและขยายเวลาชำระหนี้ และเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ธปท. ได้ออกมาตรการแก้ไขหนี้สินระยะยาวเพิ่มเติม ด้วยการสนับสนุนการรีไฟแนนซ์ (Refinance) และการรวมหนี้ (Debt Consolidation) โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระหนี้ดี หรือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ด้วยการนำหลักประกันของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ในการช่วยลดภาระดอกเบี้ยและค่างวดในระยะยาว นอกจากนี้ ธปท. ได้ดำเนินการลดข้อจำกัดการทำ รีไฟแนนซ์ (Refinance) หนี้ เพื่อส่งเสริมการแข่งขันของสถาบันการเงินในการรวมหนี้ให้กับลูกหนี้ควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้ การแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นจะช่วยผลักดันให้อัตราดอกเบี้ยสอดคล้องกับความเสี่ยงของลูกหนี้ยิ่งขึ้นทั้งนี้ มีประเด็นที่ยังคงต้องดำเนินการเพิ่มเติม ได้แก่
(1) กรมส่งเสริมสหกรณ์พิจารณานำสาระในมาตรการแก้ไขหนี้สินระยะยาวเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2564 ของ ธปท. ไปประยุกต์ใช้ในการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อให้สหกรณ์ออมทรัพย์ให้สินเชื่อที่รับผิดชอบและเป็นธรรมมากขึ้น
(2) กระทรวงการคลังและ ธปท. ศึกษาและพิจารณาบทบาทการดำเนินการของ SFIs เพื่อช่วยให้เกิดการแข่งขันในระบบการเงินและส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินกู้ปรับลดลง
(3) สคบ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาสัญญาว่าสามารถครอบคลุมการเช่าซื้อรถที่ใช้เพื่อการพาณิชย์ได้ด้วยหรือไม่
1.6 การแก้ไขปัญหาหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล
ธปท. ร่วมกับสถาบันการเงินกว่า 35 แห่ง จัดตั้ง “คลินิกแก้หนี้” เพื่อเป็น platform กลางในการแก้ไขปัญหาหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ปกติมักมีเจ้าหนี้หลายราย โดย บบส. สุขุมวิท ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเจรจากับเจ้าหนี้ โดยมีเกณฑ์การปรับโครงสร้างหนี้ที่เป็นมาตรฐานกลางที่มีความผ่อนปรน คือ ลูกหนี้ชำระหนี้เฉพาะในส่วนของเงินต้น สำหรับดอกเบี้ยที่ค้างชำระจะยกให้เมื่อลูกหนี้ปฏิบัติตามสัญญาได้ครบถ้วน รวมทั้งให้เวลาผ่อนชำระนานถึง 10 ปี ส่งผลให้ภาระการผ่อนต่อเดือนไม่สูงมากนัก ซึ่งที่ผ่านมาคลินิกแก้หนี้สามารถช่วยเหลือหลายหมื่นบัญชีให้แก้ไขปัญหาได้สำเร็จ นอกจากนี้ ธปท. ยังจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลออนไลน์ เพื่อแก้ปัญหาหนี้ในส่วนที่อยู่ในชั้นการบังคับคดี ซึ่งไม่สามารถเข้าคลินิกแก้หนี้ได้ และหนี้บัตรเครดิตที่ยังไม่เป็นหนี้เสียแต่ลูกหนี้จ่ายชำระเพียงอัตราขั้นต่ำ ซึ่งมีโอกาสตกอยู่ในวังวนหนี้ในอนาคต ให้ได้มีโอกาสไกล่เกลี่ยปัญหาด้วยเงื่อนไขการผ่อนชำระที่ผ่อนปรน สำหรับหนี้บัตรเครดิตที่สถานะยังดี ให้สามารถเปลี่ยนเป็นหนี้ term loan ที่ดอกเบี้ยต่ำและมีเวลาผ่อนชำระที่แน่นอน โดยมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ได้ช่วยประชาชนรายย่อยมากกว่าสองแสนราย อนึ่ง ยังคงมีประเด็นที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติม ได้แก่
(1) กระทรวงการคลังพิจารณาบทบาทของ SFIs ในการสร้างตลาดรีไฟแนนซ์ (Refinance) สำหรับลูกหนี้บัตรเครดิตที่มีประวัติการผ่อนชำระดีต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ดอกเบี้ยถูกลง
(2) กระทรวงการคลังควรมีนโยบายให้ธนาคารกรุงไทยเข้าร่วมในโครงการคลินิกแก้หนี้
1.7 การแก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งทุนของประชาชนรายย่อยและ SMEs
ได้มีการออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือประชาชน เพื่อให้ถึงแหล่งเงินทุนได้ ดังนี้
(1) ธปท. และกระทรวงการคลังมีมาตรการเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ SMEs ในช่วงโควิด-19 ผ่านโครงการ soft loan และสินเชื่อฟื้นฟูของ ธปท. ซึ่งมี SMEs จำนวนแสนกว่ารายได้รับความช่วยเหลือ
(2) ธนาคารออมสินเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการจัดตั้งบริษัทให้บริการสินเชื่อขายฝากที่ดินที่มีดอกเบี้ยต่ำ เพื่อลดภาระดอกเบี้ยและเสริมสภาพคล่องยามฉุกเฉินให้แก่ประชาชนที่มีความจำเป็น ให้เข้าถึงสินเชื่อด้วยต้นทุนต่ำ ซึ่งจะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการก่อหนี้เกินตัว โดยกลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ ครัวเรือนยากจน เกษตรกร และ SMEs โดยใช้ช่องทางสาขาของธนาคารออมสินที่มีอยู่ทั่วประเทศถึง 1,055 สาขา และทางออนไลน์ที่มีผู้ใช้บริการ 9.92 ล้านราย โดยปัจจุบันการดำเนินการอยู่ในขั้นตอนสรรหาบริษัทลูกหรือบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจที่จะเข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งได้กำหนดในแผนการดำเนินการของธนาคารออมสินปี 2565 แล้ว
(3) เรื่องที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติม
(3.1) โควิด-19 ทำให้ความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งการให้สินเชื่อโดยพิจารณาจากความเสี่ยง (Risk-based) อาจไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ ซึ่งการพิจารณา “หลักประกัน” สำหรับการให้สินเชื่อ (Collateral-based) จะมีความสำคัญมากขึ้น ดังนั้น จำเป็นต้องสนับสนุนเรื่องงบประมาณการดำเนินการแก่สถานธนานุบาลหรือโรงรับจำนำทั่วประเทศ ให้สามารถรับจำนำทรัพย์สิน ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ เพื่อช่วยลดปัญหาสภาพคล่องของครัวเรือนรายย่อย
(3.2) ธนาคารที่ดินต้องมีบทบาทต่อเนื่องจากธนาคารออมสินที่ให้บริการสินเชื่อขายฝากดอกเบี้ยถูกแก่ประชาชนรายย่อย โดยเฉพาะกรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถไถ่ถอนการขายฝากได้ทัน เพื่อไม่ให้ประชนรายย่อยต้องเสียที่ดินทำกิน
(3.3) ธปท. และกระทรวงการคลังควรมีนโยบายดูแลลูกหนี้ SMEs ที่ได้ soft loan ในระยะแรก ที่จะครบกำหนดชำระ 2 ปี หาก SMEs ดังกล่าวไม่สามารถชำระหนี้คืนได้
1.8 การปรับปรุงขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมเพื่อเอื้อให้เกิดการแก้ไขปัญหาหนี้สิน
สำนักงานศาลยุติธรรมได้ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือประชาชน และอำนวยความสะดวกในการไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สินและการปรับโครงสร้างหนี้ ดังนี้
(1) สำนักงานศาลยุติธรรมได้จัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางธุรกิจและการเงิน (Thai Business Mediation Center: TBMC) เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2564 เพื่อเป็นกลไกช่วยไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางธุรกิจและการเงิน และลดคดีที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักงานศาลยุติธรรมกับ ธปท. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นไกล่เกลี่ยข้อพิพาทผ่านระบบออนไลน์ (Online Dispute Resolution: ODR) เป็นหลัก ซึ่งประชาชนสามารถยื่นคำร้องด้วยตนเองหรือผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์
(2) กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับ ธปท. และหน่วยงานเครือข่ายตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในการไกล่เกลี่ยหนี้ที่เกิดขึ้นในทุกระดับ โดยเฉพาะในชั้นบังคับคดี และยังร่วมกับ ธปท. ในการดำเนินงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งช่วยให้ประชาชนที่มีหนี้บัตรเครดิตแม้มีคำพิพากษาแล้ว ยังสามารถหาทางออกกับเจ้าหนี้ โดยไม่ถูกยึดทรัพย์ได้
นอกจากนี้ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการคลัง ธปท. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างดำเนินการการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของ SMEs โดยในกฎหมายฉบับนี้ได้แก้ไขให้ประชาชนรายย่อยที่มีปัญหาหนี้สินสามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูได้
(3) เรื่องที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติม
(3.1) กระทรวงยุติธรรมและสำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกันกำหนดตัวชี้วัดเรื่องการขับเคลื่อนให้เกิดไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สินและจัดให้เป็นตัวชี้วัดประจำปีของกรมบังคับคดีและกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
(3.2) กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการคลัง ธปท. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูกิจการ SMEs ให้แล้วเสร็จ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 28 ธันวาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12982