ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 30 December 2021 17:25
- Hits: 7465
ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกินตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอ และให้กระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติรับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
สาระสำคัญของเรื่อง
คณะกรรมการ ป.ป.ช. รายงานว่า
1. โดยที่ภาคอุตสาหกรรมมีบทบาทสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรฐกิจของประเทศ ส่งผลให้เกิดธุรกิจการขนส่งเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะการขนส่งด้วยรถบรรทุก เนื่องจากเป็นการขนส่งที่สะดวก รวดเร็วและเข้าถึงจุดหมายปลายทางโดยตรง อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการรถบรรทุกมีแนวโน้มแข่งขันด้านราคาค่าขนส่งอย่างรุนแรง จึงเป็นมูลเหตุจูงใจให้เกิดพฤติกรรมบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้หรือเกินมาตรฐานของถนนที่ออกแบบไว้ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อถนนและเป็นภาระต่องบประมาณในการซ่อมแซมและบำรุงรักษาถนนเพิ่มขึ้น รวมทั้งเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน นอกจากนี้ ยังมีการทุจริตของเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้หรือปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความผิดฐานใช้รถบรรทุกน้ำหนักเกิน ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงได้เสนอมาตรการเกี่ยวกับการป้องกันการทุจริตกรณีรถบรรทุกน้ำหนักเกินต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่อง เช่น การสำรวจความเหมาะสมและการจัดตั้งด่านชั่งน้ำหนักถาวรทดแทนของเดิมที่มีอยู่ การจัดตั้งด่านชั่งน้ำหนักถาวรเพิ่มเติมโดยให้กระจายบนทางหลวงสายสำคัญ และการปรับปรุงหน่วยเฉพาะกิจให้มีอำนาจตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่และมีอำนาจตรวจสอบน้ำหนักรถบรรทุก อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไข
2. คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษามาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกินและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาปัญหาการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกินและมีข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต 3 ประการ ประกอบกับมีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ ดังนี้
2.1 การกำหนดมาตรการลงโทษผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้รถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนด เช่น เจ้าของสินค้าและผู้รับจัดการขนส่ง โดยเฉพาะการขนส่ง โดยระบบคอนเทนเนอร์นอกเขตทำเนียบท่าเรือ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดกำหนดให้มีความผิดและต้องรับโทษ
2.2 การปรับปรุงและพัฒนาการควบคุม กำกับดูแล ตรวจสอบการใช้รถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกิน ควรดำเนินการ ดังนี้
2.2.1 กำหนดให้ผู้ประกอบการขนส่งจัดให้มีและทำให้ปรากฏซึ่งข้อความบอกให้ทราบชนิดและน้ำหนักสินค้าที่ทำการขนส่งโดยรถบรรทุก ซึ่งมีความสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 35 ที่มีการระบุเกี่ยวกับการจัดให้มีใบกำกับสินค้าที่ทำการขนส่ง ประกอบกับ การดำเนินการของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางได้กำหนดเงื่อนไขการประกอบการขนส่งไม่ประจำทางด้วยรถที่ใช้ในการขนสัตว์และสิ่งของ ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกฯ มาตรา 32 (6) คือ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งจัดทำใบกำกับการขนส่งซึ่งต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าที่ทำการขนส่งไว้ประจำรถขณะทำการขนส่ง อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับเฉพาะการขนส่งไม่ประจำทางเท่านั้น ซึ่งจากข้อเท็จจริง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 พบว่า มีรถบรรทุกจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก รวม 1,089,621 คัน จำแนกเป็น รถบรรทุกไม่ประจำทาง (ส่วนมากเป็นรถกึ่งพ่วง) จำนวน 293,167 คัน และรถบรรทุกส่วนบุคคล (ส่วนมากเป็นรถกระบะบรรทุก) จำนวน 796,454 คัน
2.2.2 ปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานตรวจสอบควบคุมน้ำหนักรถบรรทุก มีการดำเนินการ ดังนี้ (1) กรมทางหลวง (ทล.) มีสถานีตรวจสอบน้ำหนักจำนวน 70 แห่ง (ปี 2558) โดยในเส้นทางที่ไม่มีสถานีตรวจสอบน้ำหนักจะมีหน่วยชั่งน้ำหนักเคลื่อนที่ตรวจสอบและจับกุมรถที่บรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนด (2) ทช. มีแผนจัดตั้งสถานีตรวจสอบน้ำหนักในสายทางที่มีปริมาณรถบรรทุกสูง (มากกว่า 1,700 คันต่อวัน) โดยเริ่มจากเส้นทางที่มีปริมาณรถบรรทุกสูง มากกว่า 3,000 คันต่อวัน เป็นลำดับแรก และกำหนดให้โครงการก่อสร้างใหม่ (โครงการขนาดใหญ่) ต้องมีสถานีตรวจสอบน้ำหนัก นอกจากนี้ ปัจจุบันมีการติดตั้งด่านชั่งน้ำหนักขณะรถวิ่ง (Weigh In Motion: WIM) ที่ติดตั้งอุปกรณ์ชั่งน้ำหนักไว้บนพื้นถนนจำนวน 10 แห่ง เช่น ทางหลวงหมายเลข 340 บางบัวทอง - สุพรรณบุรี และทางหลวงสาย 304 มีนบุรี-ฉะเชิงเทรา
2.2.3 พิจารณาให้เอกชนมีส่วนร่วมในการจัดตั้งด่านชั่งน้ำหนักและพิจารณานำค่าปรับส่วนหนึ่งมาจัดสรรเป็นรายได้ของเอกชน ซึ่งสอดคล้องกับที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (23 มกราคม 2550) เห็นชอบการจัดตั้งศูนย์ป้องกันการทุจริตและการละเมิดกฎหมายเกี่ยวกับทางหลวงเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบด้านคมนาคมขนส่งใน 17 สายทางหลักและถนนโครงข่ายในรัศมี 200 กิโลเมตร รอบกรุงเทพมหานคร ซึ่งโครงการดังกล่าวมีสาระสำคัญประการหนึ่ง คือ การให้เอกชนเข้ามาร่วมโครงการจัดตั้งด่านชั่งน้ำหนักโดยเป็นผู้ลงทุนในการจัดหาอุปกรณ์และเทคโนโลยีและจัดบุคลากรมาดำเนินการ รวมทั้งมีรายรับจากสินบนนำจับตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม กค. มีความเห็นว่า การเชิญชวนให้เอกชนเข้าร่วมโครงการดังกล่าวเป็นเรื่องการเข้าร่วมดำเนินกิจการของรัฐ ดังนี้ เอกชนที่ได้รับการคัดเลือกให้ร่วมเข้าโครงการจึงไม่ได้เป็นผู้แจ้งความนำจับที่มีสิทธิได้รับเงินสินบนจากเงินค่าปรับตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง และไม่สามารถทำความตกลงกับ กค. ได้ด้วย
2.3 การบังคับใช้กฎหมายกรณีมีการใช้รถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนด ควรดำเนินการ ดังนี้
2.3.1 กำหนดมาตรการเพิกถอนการจดทะเบียนรถระงับการใช้รถ หรือพักใช้ใบอนุญาตประกอบการขนส่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้รถบรรทุกสิ่งของที่มีน้ำหนักเกิน ซึ่งส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น ขบ. ทล. และ ทช. อาจพิจารณาดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 15/2560 เรื่อง มาตรการเพื่อความปลอดภัยในรถสาธารณะ ซึ่งกำหนดให้นายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกมีอำนาจสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนรถ ระงับการใช้รถ หรือพักใช้ใบอนุญาตประกอบการขนส่งได้ไม่เกินหกเดือน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกฎหมายอื่นยังไม่มีบทบัญญัติที่จะนำมาพิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอได้ เว้นแต่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย
2.3.2 ให้มีมาตรการพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถ โดยข้อเสนอนี้อาจไม่สามารถดำเนินการได้ตามกฎหมายที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากการพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถสามารถกระทำได้เฉพาะกรณีผู้ขับรถหรือผู้ขับขี่ได้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติการขนส่งทางบกฯ มาตรา 96-99 มาตรา 102-103 และ 109 บัญญัติให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถได้ 2 กรณี คือ (1) เหตุเพราะการขาดคุณสมบัติ ลักษณะ และอายุตามที่กฎหมายกำหนด และ (2) กรณีผู้ขับรถฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติทั้งหลายในหมวดที่ว่าด้วยผู้ประจำรถ เช่น ขับรถโดยไม่มีใบอนุญาตเสพหรือเมาสุรา
2.3.3 กำหนดมาตรการริบรถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยที่กฎหมายว่าด้วยทางหลวงในปัจจุบันมีบทกำหนดโทษจำและปรับสำหรับการนำรถบรรทุกสิ่งของที่มีน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนดมาใช้ในทางหลวง ซึ่งการกระทำความผิดดังกล่าวอาจเป็นเหตุให้ศาลริบรถบรรทุกดังกล่าวตามอำนาจแห่งประมวลกฎหมายอาญาได้ด้วย อย่างไรก็ตาม จากสถิติการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินในช่วงปี 2557 - 2560 ทล. ได้จับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกิน จำนวน 1,267 คัน 1,554 คัน 1,240 คัน และ 2,875 คัน ตามลำดับ แต่ไม่ปรากฏว่า ทล. ได้ดำเนินการกับผู้กระทำผิดตามกฎหมายทางหลวงและประมวลกฎหมายอาญาแต่อย่างใด
3. ฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการเกี่ยวกับแนวทางการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน สรุปได้ ดังนี้
3.1 ข้อเสนอแนะ เช่น (1) ควรปรับปรุงอัตราโทษในพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และสภาวการณ์ด้านการขนส่งในปัจจุบัน (2) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางถนนควรมีการควบคุมน้ำหนักที่ต้นทางและตรวจสอบน้ำหนักที่ปลายทางให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ศูนย์กระจายสินค้า ท่าเรือ และนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งหากมีการบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด อาจพิจารณาไม่รับสินค้าจากรถบรรทุกน้ำหนักเกิน และ (3) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรบูรณาการการจัดทำบันทึกข้อตกลงในการขนส่ง (MOU) เพื่อกำหนดเกี่ยวกับความกว้าง ความยาว ความสูง และน้ำหนักบรรทุกให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะการขนส่งผลผลิตทางการเกษตรเพื่อลดความยุ่งยากในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
3.2 ปัญหาและอุปสรรค เช่น (1) การจัดทำและใช้บันทึกข้อตกลงแนวทางปฏิบัติในการขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงงานผลิตน้ำตาลในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ อุตรดิตถ์ แพร่ พิจิตร ตาก อุทัยธานี และกำแพงเพชร ก่อให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงเนื่องจากบันทึกข้อตกลงฯ ระบุว่า ในการบรรทุกทั้งอ้อยท่อนและอ้อยลำให้มีความสูงจากพื้นถนนไม่เกิน 3.8 เมตร และมีน้ำหนักประมาณ 35-40 ตัน ซึ่งเกินกว่าที่พระราชบัญญัติทางหลวงฯ บัญญัติไว้ว่าไม่ให้เกิน 25 ตัน (อ้อยท่อนและอ้อยลำ ควรมีความสูงไม่เกิน 3.2 เมตร) ส่งผลให้เกิดข้อพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่ ผู้ประกอบการและเกษตรกรหลายครั้ง ซึ่ง ทล. ได้จัดประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่กระทรวงอุตสาหกรรมไม่เข้าร่วมการประชุม และ (2) กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องรถบรรทุกน้ำหนักเกินอยู่ในความรับผิดชอบของหลายหน่วยงาน เช่น ทล. ทช. และ อปท. ซึ่งแต่ละหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต่างกัน และไม่มีการประสานความร่วมมือกัน จึงเป็นเหตุให้การบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งแต่ละหน่วยงานมีปัญหา อุปสรรค และข้อจำกัดในการดำเนินการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกิน เช่น กรุงเทพมหานครไม่มีการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินเนื่องจากไม่มีเครื่องชั่งน้ำหนัก ส่วน ทช. และ อปท. มีกำลังคนไม่เพียงพอที่จะจัดตั้งส่วนงานที่ดูแลเรื่องรถบรรทุกน้ำหนักเกินเป็นการเฉพาะและไม่มีความชำนาญในการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกิน
4. รายงานการวิจัย เรื่อง แนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริต : ศึกษากรณีรถบรรทุกน้ำหนักเกินพิกัดที่กฎหมายกำหนด ผลการวิจัยพบว่า มูลเหตุจูงใจในการทุจริตเพื่อให้รถบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าพิกัดที่กฎหมายกำหนดสามารถสัญจรได้ มาจากเหตุผลทางเศรษฐกิจ โดยการติดสินบนมีความคุ้มค่าและสร้างผลกำไร รวมทั้งมีโอกาสถูกดำเนินคดีน้อยมาก ดังนั้น วิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตที่ได้ผลจะต้องลดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยนำเทคโนโลยีการตรวจชั่งน้ำหนักระบบอัตโนมัติที่เหมาะสมมาใช้ ซึ่งจากการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องพบว่า ไม่มีผลกระทบเชิงลบและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย จึงเชื่อมั่นว่ามาตรการที่นำเสนอจะสามารถแก้ไขปัญหาการทุจริตที่มีอยู่ได้
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 28 ธันวาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12981