ร่างพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. ... และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ...
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 19 November 2014 22:36
- Hits: 2994
ร่างพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. ... และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ...
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบดังนี้
1. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. ... และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... รวม 2 ฉบับ ของกระทรวงการคลัง ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
2. ให้กระทรวงการคลังเร่งรัดดำเนินการจัดทำร่างอนุบัญญัติที่จำเป็นแก่การใช้บังคับพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับ ตามข้อสังเกตของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) โดยเร็วต่อไป
3. ให้กระทรวงการคลังรับข้อสังเกตของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. ร่างพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. ...
กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเสียภาษีการรับมรดก โดยกำหนดให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา และไม่ใช้บังคับแก่มรดกที่เจ้ามรดกได้ตายก่อนวันที่ร่างพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และมรดกที่คู่สมรสของเจ้ามรดกได้รับจากเจ้ามรดก ดังนี้
1.1 กำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดก ได้แก่ บุคคลผู้มีสัญชาติไทย ผู้มิได้มีสัญชาติไทย แต่มีภูมิลำเนาหรือมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลาสามปีติดต่อกันถึงวันมีสิทธิได้รับมรดก และบุคคลผู้มิได้มีสัญชาติไทย แต่ได้รับมรดกอันเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย
1.2 กำหนดให้มูลค่ามรดกที่ต้องเสียภาษีการรับมรดก ผู้ได้รับมรดกไม่ว่าจะได้รับมาในคราวเดียวหรือหลายคราว ถ้าแต่ละรายรวมกันแล้วมีมูลค่าเกินห้าสิบล้านบาทต้องเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกิน ห้าสิบล้านบาท ซึ่งมูลค่ามรดกนี้หมายถึงมูลค่าของทรัพย์สินทั้งสิ้นที่ได้รับเป็นมรดกหักด้วยภาระหนี้สินอันตกทอดมาจากการรับมรดกนั้น
1.3 กำหนดบทยกเว้นการเสียภาษีการรับมรดกให้แก่บุคคลหรือองค์กรที่ได้รับมรดก ได้แก่ บุคคลผู้ได้รับมรดกที่เจ้ามรดกแสดงเจตนาหรือเห็นได้ว่าประสงค์ให้ใช้มรดกนั้นเพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์ หน่วยงานของรัฐและนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์โดยให้กำหนดเป็นกฎกระทรวง
1.4 กำหนดอัตราภาษีสำหรับการเสียภาษีการรับมรดก ผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดก ต้องคำนวณและเสียภาษีในอัตราร้อยละสิบของมูลค่ามรดกในส่วนที่ต้องเสียภาษี ทั้งนี้ อัตราร้อยละสิบดังกล่าวจะตราพระราชกฤษฎีกาลดลงตามที่เห็นสมควรก็ได้
1.5 กำหนดการยื่นแบบ การชำระภาษีและการประเมินภาษีการรับมรดก
1.6 กำหนดความผิดและลงโทษสำหรับการกระทำความผิดหรือการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย เช่น กรณีไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีโดยไม่มีเหตุอันสมควรต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท กรณีทำลาย ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่บุคคลอื่นซึ่งทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสี่แสนบาท และกรณีผู้ใดโดยความเท็จ โดยเจตนาละเลย โดยฉ้อโกงหรือใช้อุบายโดยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใด หลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีตามพระราชบัญญัตินี้ เป็นต้น
2. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ...เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อจัดเก็บภาษีเงินได้จากการรับให้ อันเป็นการสอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีรับมรดก ดังนี้
2.1 กำหนดให้เงินได้ที่ได้รับจากการรับมรดกได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้
2.2 กำหนดให้ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของเงินได้ส่วนที่เกิน สิบล้านบาทโดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีได้ สำหรับเงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทน ให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายซึ่งไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม ที่ไม่ได้รับยกเว้น
2.3 กำหนดให้การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทน ให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายซึ่งไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมให้ผู้โอนหักภาษีไว้ร้อยละ 5 ของเงินได้เฉพาะในส่วนที่เกินสิบล้านบาท
2.4 กำหนดบทเฉพาะกาล ให้การเสียภาษีเงินได้ในส่วนของเงินได้พึงประเมินที่ไม่ได้รับยกเว้นตามประมวลรัษฎากรซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ให้คิดเฉพาะเงินได้ที่ได้รับมาภายหลังวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 พฤศจิกายน 255