ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยโรคระบาดสัตว์เพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 19 November 2014 22:35
- Hits: 3592
ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยโรคระบาดสัตว์เพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยโรคระบาดสัตว์เพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของเรื่อง
กษ. เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาว่า
1. พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 มาตรา 4 วรรคสอง บัญญัติให้โรคระบาด หมายความว่า โรครินเดอร์เปสต์ โรคเฮโมรายิกเซพติซีเมีย โรคแอนแทรกซ์ โรคเซอร่า โรคสารติก โรคมงคล่อพิษ โรคปากและเท้าเปื่อย โรคอหิวาต์สุกรและโรคอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ต่อมาได้มีการออกกฎกระทรวงว่าด้วยโรคระบาดสัตว์เพิ่มเติม พ.ศ. 2554 กำหนดโรคระบาดสัตว์เพิ่มเติม รวม 69 ชนิด
2. ในปัจจุบันได้รับรายงานว่ายังมีการระบาดของโรคอื่น ๆ นอกจากที่กำหนดไว้ตามข้อ 1 และสถานการณ์การระบาดของโรคมีความรุนแรงและกระทบต่ออุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ และบางโรคส่งผลต่อความปลอดภัยของมนุษย์เนื่องจากเป็นโรคสัตว์ติดต่อสู่คนและมีการแพร่ระบาดจากคนสู่คน และที่ส่งผลกระทบและสามารถเห็นได้ชัดเจน คือ การระบาดของโรคตับวายเฉียบพลัน (AHPND) ในกุ้งทะเล การระบาดของโรคท้องร่วงติดต่อในสุกร (PED) และการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในลิง สมควรกำหนดให้โรคดังต่อไปนี้ รวม 7 ชนิด เป็นโรคระบาดสัตว์เพื่อให้สามารถนำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 มาดำเนินการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้สามารถขอการรับรองสถานภาพปลอดโรคจากองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organisation for Animal Health : OIE) ที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกได้ด้วย
2.1 โรคท้องร่วงติดต่อในสุกร Porcine Epidemic Diarrhea (PED) มีการระบาดของโรคดังกล่าวในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร เนื่องจาก เชื้อไวรัส PEDV ทำให้เกิดโรคในสุกรได้ทุกช่วงอายุมีอัตราการป่วยได้ถึงร้อยละ 100 มีการแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในลูกสุกรอายุต่ำกว่า 3 สัปดาห์ จะแสดงอาการรุนแรงมีอัตราการตายสูงถึงร้อยละ 50 – 100 ซึ่งลูกสุกรมักตายภายใน 2 – 7 วัน หลังจากแสดงอาการ ทำให้เกิดความสูญเสียในการผลิตสุกร
2.2 โรค Peste des Petits Ruminants (PPR) ในแพะ แม้ประเทศไทยได้รับ การรับรองสถานภาพปลอดโรค PPR จากองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) แต่เนื่องจากมีรายงานการระบาดของโรคดังกล่าวในประเทศเพื่อนบ้านและประเทศใกล้เคียง เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อโรคดังกล่าว
2.3 โรค Contagious Bovine Pleuropneumonia (CBPP) ในโค เป็นโรคที่องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ให้การรับรองสถานภาพปลอดโรค ซึ่งประเทศสมาชิกที่ต้องการได้รับการรับรองสถานภาพปลอดโรค จะต้องแสดงข้อมูลเฝ้าระวังโรคทั้งทางอาการและทางห้องปฏิบัติการ รวมถึงข้อมูลในด้านการป้องกันและควบคุมโรค
2.4 โรคตับวายเฉียบพลัน (Acute Hepatopancreatic Necrosis Disease (AHPND) มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียชนิด Vibrio parahaemolyticus ในกุ้งทะเล ซึ่งพบการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลของไทย ทำให้ผลผลิตกุ้งทะเลมีปริมาณลดน้อยลง และส่งผลกระทบต่อการส่งออกกุ้งทะเลของไทย ซึ่งมีมูลค่านับแสนล้านบาท
2.5 โรค African Swine Fever (ASF) ซึ่งยังคงมีรายงานการระบาดอยู่ในต่างประเทศ และเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากเกิดการอุบัติของโรคขึ้นในประเทศไทย และเพื่อขอการรับรองสถานะปลอดโรค ASF จากองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE)
2.6 โรคบลูทัง (Bluetongue) เนื่องจากมีรายงานการเกิดโรคในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริการ ยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย และในช่วงที่ผ่านมาได้มีการนำเข้าแพะ แกะ จำนวนมาก เพื่อมาเป็นพ่อแม่พันธุ์ในโครงการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงแพะ แกะ ในภาคใต้ ทำให้มีความเสี่ยงสูงที่โรคจะแพร่กระจายมายังประเทศไทย
2.7 โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola Virus Disease) ในลิง โรคนี้จัดเป็นโรคสัตว์ติดต่อสู่คน (Zoonosis) โดยมีหลักฐานการติดเชื้อครั้งแรกเกิดจากมุนษย์ สัมผัสสัตว์ที่มีเชื้อจากสัตว์จำพวกลิงหรือค้างคาว จากนั้นได้มีการระบาดของโรคจากคนสู่คน ด้วยวิธีการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ และปัจจุบันไม่มีวิธีการรักษาที่ได้ผลทำให้ผู้ป่วยมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 50 – 90 ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ได้ประกาศให้โรคนี้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 พฤศจิกายน 2557