ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 29 December 2021 17:26
- Hits: 9921
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เสนอผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้ พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564) ในคราวประชุมครั้งที่ 19/2564 ที่ได้มีมติที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณากลั่นกรองความเหมาะสมของข้อเสนอแผนงานหรือโครงการเพื่อขอใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 รวมทั้งการพิจารณาข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการที่ได้รับอนุมัติให้ใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ดังนี้
1. อนุมัติโครงการค่าบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพ ปี 2565 รอบที่ 1 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรอบวงเงิน 31,662.9175 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 1 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยบริการสถานพยาบาลที่ให้บริการสาธารณสุขโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับประชาชนทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศ พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการ และดำเนินการจัดทำความต้องการใช้จ่ายเป็นรายเดือน เพื่อให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะสามารถจัดหาเงินกู้ พร้อมทั้งปฏิบัติตามข้อ 15 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 อย่างเคร่งครัดตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ เห็นควรให้ สปสช. พิจารณาแบ่งการเบิกจ่ายเงินออกเป็น 2 ครั้ง (เดือนธันวาคม 2564 และกลางเดือนมกราคม 2565)
2. เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีแนวโน้มลดลง และอัตราการครองเตียงในสถานพยาบาลภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จึงเห็นควรให้การใช้สิทธิ UCEP กลับเข้าสู่ระบบปกติ โดยยกเลิกค่าใช้จ่ายในสถานบริการเอกชน (UCEPCOVID) สำหรับการดูแลกรณีโรคโควิด-19 โดยผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะสามารถใช้สิทธิผ่านสถานพยาบาลภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม และกรมบัญชีกลาง ตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขกำหนดค่าใช้จ่ายที่ได้มีการกำหนดไว้
3. มอบหมายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การสนับสนุนค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคโควิด-19 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การควบคุมและป้องกันการระบาดของโรค ทั้งในเรื่องของจำนวนประชาชนได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้นที่ช่วยให้ประเทศไทยจะเข้าสู่สภาวะปกติที่สามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ศักยภาพของสถานบริการภาครัฐที่เพิ่มขึ้นจากผลของความรุนแรงจากการติดเชื้อลดลง และนโยบายการเปิดประเทศ โดยคำนึงถึงการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าสูงสุด โดยอาจจะกำหนดให้ผู้ป่วยที่มีอาการน้อยเข้ารับการรักษาพยาบาลแบบ Home Isolation/Community Isolation ผู้ป่วยที่มีอาการหนักเข้ารับการรักษาในสถานบริการภาครัฐเป็นลำดับแรก หรือกำหนดเงื่อนไขให้ประชาชนร่วมรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลสำหรับการเข้ารับบริการในสถานพยาบาลทางเลือกที่มีค่าใช้จ่ายสูงตามตนเองประสงค์ อาทิ Hospitel โรงพยาบาลเอกชน สำหรับกรณีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่จะใช้สิทธิภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่เป็นผู้ไม่ประสงค์จะฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 อาจจะต้องมีส่วนร่วมในการออกค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลด้วย
4. อนุมัติโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการสินค้าเกษตรสู่ผู้บริโภคของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรอบวงเงิน 221.3820 ล้านบาท (ปรับลดจำนวน 57.5180 ล้านบาท) โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 3 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงตลาดของเกษตรกร ทำให้กิจกรรมหรือธุรกิจของเกษตรกรมีการเติบโต และส่งผลให้เกิดการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนเพื่อดำเนินธุรกิจในระบบเศรษฐกิจ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ทั้งนี้ ให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สามารถถัวจ่ายเงินระหว่าง 3 รายการ ได้แก่ (1) รายการสื่อสารทางยุทธศาสตร์และการประชาสัมพันธ์ (2) รายการพัฒนาระบบแพลตฟอร์มการตลาดออนไลน์ และ (3) รายการพัฒนาออกแบบหลักสูตรค่าประสานงานภาคสนาม การติดตามและประเมินผล ได้
5. มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการ และดำเนินการจัดทำความต้องการใช้จ่ายเป็นรายเดือน เพื่อให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะสามารถจัดหาเงินกู้ พร้อมทั้งปฏิบัติตามข้อ 15 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 รวมถึงดำเนินการเพิ่มเติมตามมติคณะกรรมการฯ โดยเคร่งครัด
6. เห็นชอบให้สำนักงานประกันสังคม เปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด และโครงการเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยขยายระยะเวลาโครงการ จากเดิม สิ้นสุดเดือนธันวาคม 2564 เป็น สิ้นสุดเดือนมีนาคม 2565 เนื่องจากจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการเบิกจ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมายในกลุ่มผู้ที่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาตามโครงการฯ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ให้ความเห็นชอบตามขั้นตอนแล้ว อย่างไรก็ดี เห็นควรให้สำนักงานประกันสังคมเร่งดำเนินการพิจารณาความเหมาะสมของการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวตามขั้นตอนโดยเร็ว เพื่อให้ความช่วยเหลือของภาครัฐถึงกลุ่มเป้าหมายได้โดยเร็ว
7. เห็นชอบให้กรมการขนส่งทางบก เปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการช่วยเหลือกลุ่มอาชีพผู้ขับรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) และรถจักรยานยนต์สาธารณะ ที่มีอายุเกิน 65 ปี ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยขยายระยะเวลาโครงการ จากเดิมสิ้นสุดเดือนพฤศจิกายน 2564 เป็น สิ้นสุดเดือนมกราคม 2565 เพื่อให้กรมการขนส่งทางบกมีระยะเวลาเพิ่มขึ้นในการตรวจสอบข้อมูลกลุ่มเป้าหมายที่ยื่นขอทบทวนสิทธิหรืออุทธรณ์ในการขอรับเงินจากโครงการเยียวยาฯ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ให้ความเห็นชอบตามขั้นตอนแล้ว
A12980