แผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาล และช่วงวันหยุด พ.ศ. 2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 29 December 2021 17:08
- Hits: 9405
แผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาล และช่วงวันหยุด พ.ศ. 2565
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาล และช่วงวันหยุด พ.ศ. 2565 ตามที่ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนเสนอ ดังนี้
สาระสำคัญ
คณะกรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ ได้มีมติในคราวประชุม 2/2564 เมื่อวันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2564 เห็นชอบแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาล และช่วงวันหยุด พ.ศ. 2565 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนใช้เป็นกรอบการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2565 โดยให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบ ซึ่งแผนบูรณาการดังกล่าวมุ่งเน้นการบริหารจัดการในลักษณะพื้นที่เป็นตัวตั้ง (Area Approach) ควบคู่กับการดำเนินการตามมาตรการ และแนวทางการดำเนินการเพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID–19) โดยบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนดำเนินงานอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่องให้ความสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เคร่งครัด ควบคู่กับการสร้างจิตสำนึกและความตระหนักด้านความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนนและประชาชน ซึ่งสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. แผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ พ.ศ. 2565 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1.1 ชื่อการรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ”
1.2 วัตถุประสงค์
1) เพื่อกำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัด แนวทาง และมาตรการการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ พ.ศ. 2565
2) เพื่อเป็นแนวทางการบูรณาการการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ พ.ศ. 2565
3) เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนและอุบัติภัยอื่นๆ ในช่วงเทศกาล ปีใหม่และสงกรานต์ พ.ศ. 2565
1.3 เป้าหมายภาพรวม เพื่อให้ประชาชนเดินทางอย่างสุขใจกับชีวิตวิถีใหม่ที่ห่างไกลอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ พ.ศ. 2565
1.4 ตัวชี้วัดการดำเนินงาน แบ่งเป็น 3 ระดับ ดังนี้
1) ระดับภาพรวม
2) ระดับหน่วยงาน
3) ระดับพื้นที่
1.5 แนวทางการดำเนินการช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ พ.ศ. 2565
1) การดำเนินการช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2565
1.1) ช่วงรณรงค์และประชาสัมพันธ์ ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2564 – 21 ธันวาคม 2564
1.2) ช่วงดำเนินการ ระหว่างวันที่ 22 ธันวาคม 2564 – 11 มกราคม 2565 แบ่งเป็น 3 ช่วง ดังนี้
ช่วงก่อนควบคุมเข้มข้น 7 วัน ระหว่างวันที่ 22 ธันวาคม 2564 – 28 ธันวาคม 2564
ช่วงควบคุมเข้มข้น 7 วัน ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2564 – 4 มกราคม 2565
ช่วงหลังควบคุมเข้มข้น 7 วัน ระหว่างวันที่ 5 มกราคม 2565 – 11 มกราคม 2565
2) การดำเนินการช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2565
2.1) ช่วงรณรงค์และประชาสัมพันธ์ ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2565 – 3 เมษายน 2565
2.2) ช่วงดำเนินการ ระหว่างวันที่ 4 เมษายน 2565 – 24 เมษายน 2565 แบ่งเป็น 3 ช่วง ดังนี้
ช่วงก่อนควบคุมเข้มข้น 7 วัน ระหว่างวันที่ 4 เมษายน 2565 – 10 เมษายน 2565
ช่วงควบคุมเข้มข้น 7 วัน ระหว่างวันที่ 11 เมษายน 2565 – 17 เมษายน 2565
ช่วงหลังควบคุมเข้มข้น 7 วัน ระหว่างวันที่ 18 เมษายน 2565 – 24 เมษายน 2565
1.6 มาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน 5 มาตรการ ประกอบด้วย
1) ด้านการบริหารจัดการ
2) ด้านลดปัจจัยเสี่ยงด้านถนนและสภาพแวดล้อม
3) ด้านลดปัจจัยเสี่ยงด้านยานพาหนะ
4) ด้านผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย
5) ด้านการช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุ
2. การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงวันหยุด สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
2.1 วัตถุประสงค์
1) เพื่อกำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัด แนวทาง และมาตรการการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน
2) เพื่อเป็นแนวทางบูรณาการการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน
ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน
3) เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนและอุบัติภัยอื่นๆ ในช่วงวันหยุด
2.2 เป้าหมายภาพรวม เพื่อให้ประชาชนเดินทางอย่างสุขใจกับชีวิตวิถีใหม่ที่ห่างไกลอุบัติเหตุในช่วงวันหยุด
2.3 ตัวชี้วัดการดำเนินงาน แบ่งเป็น 3 ระดับ ดังนี้
1) ระดับภาพรวม
2) ระดับหน่วยงาน
3) ระดับพื้นที่
2.4 แนวทางการดำเนินการ แบ่งออกเป็น 3 ช่วง ดังนี้
1) ช่วงก่อนวันหยุด
2) ช่วงวันหยุด
3) ช่วงหลังวันหยุด
สำหรับในปี พ.ศ. 2565 ได้กำหนดแนวทางการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงวันหยุดราชการกรณีพิเศษตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2565 ดังนี้
ระหว่างวันที่ 13 – 17 กรกฎาคม 2565 ( 5 วัน)
ระหว่างวันที่ 28 – 31 กรกฎาคม 2565 ( 4 วัน)
ระหว่างวันที่ 13 – 16 ตุลาคม 2565 ( 4 วัน)
ทั้งนี้ หากคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้มีวันหยุดราชการเพิ่มเติม ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจะได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีต่อไป
2.5 มาตรการการดำเนินงาน 5 มาตรการ ประกอบด้วย
1) ด้านการบริหารจัดการ
2) ด้านลดปัจจัยเสี่ยงด้านถนนและสภาพแวดล้อม
3) ด้านลดปัจจัยเสี่ยงด้านยานพาหนะ
4) ด้านผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย
5) ด้านการช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 28 ธันวาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12977