การดำเนินการเพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาพหุภาคีเพื่อดำเนินมาตรการเกี่ยวกับอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนในการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีและโอนกำไรไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ (Multilateral Convention to Implement Tax Treaty Related Measures to Preve
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 29 December 2021 12:46
- Hits: 10869
การดำเนินการเพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาพหุภาคีเพื่อดำเนินมาตรการเกี่ยวกับอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนในการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีและโอนกำไรไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ (Multilateral Convention to Implement Tax Treaty Related Measures to Prevent Base Erosion and Profit Shifting: MLI)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้
1. ให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาพหุภาคีเพื่อดำเนินมาตรการเกี่ยวกับอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนในการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีและโอนกำไรไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ (Multilateral Convention to Implement Tax Treaty Related Measures to Prevent Base Erosion and Profit Shifting: MLI) (อนุสัญญาพหุภาคีฯ MLI)
2. เห็นชอบร่างท่าทีอนุสัญญาพหุภาคีฯ MLI (ฉบับภาษาอังกฤษ)
3. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้ลงนามในหนังสือแสดงความจำนงการเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาพหุภาคีฯ MLI และให้เอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส เป็นผู้ลงนามในอนุสัญญาพหุภาคีฯ MLI ณ สำนักงานใหญ่ขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Cooperation and Development: OECD) กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส และให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ออกหนังสือมอบอำนาจเต็มตามรูปแบบที่กำหนดโดย OECD ให้แก่เอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส เป็นผู้ลงนามในอนุสัญญาพหุภาคีฯ MLI และจัดส่งหนังสือดังกล่าวต่อ OECD รวมทั้งให้ยื่นสัตยาบันสารและดำเนินการตามกระบวนการให้สัตยาบันเพื่อแสดงเจตนาให้อนุสัญญาพหุภาคีฯ MLI มีผลผูกพันต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (16 พฤษภาคม 2560) เห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกรอบความร่วมมือเพื่อป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีและโอนกำไรไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ (Base Erosion and Profit Shifting Project: BEPS) (กรอบความร่วมมือฯ BEPS) จัดตั้งขึ้นโดย OECD เพื่อป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติ ซึ่งส่งผลให้ประเทศต่างๆ สูญเสียรายได้จากการหลบเลี่ยงภาษีระหว่างประเทศเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ กลไกและวิธีการในการป้องกัน BEPS มีจำนวนทั้งสิ้น 15 ปฏิบัติการ โดยสมาชิกกรอบความร่วมมือฯ BEPS จะต้องดำเนินการให้ได้อย่างน้อยตามมาตรฐานขั้นต่ำที่กำหนดไว้ 4 ปฏิบัติการ ดังนี้
ปฏิบัติการที่ 5 การขจัดมาตรการภาษีที่เป็นภัยต่อประเทศอื่น (Counter Harmful Tax Practices)
ปฏิบัติการที่ 6 มาตรการป้องกันการใช้ประโยชน์จากอนุสัญญาภาษีซ้อนผิดวัตถุประสงค์ (Preventing the Granting of Treaty Benefits in Inappropriate Circumstances)
ปฏิบัติการที่ 13 เอกสารกำหนดราคาโอน (Transfer Pricing Documentation)
ปฏิบัติการที่ 14 แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพวิธีการดำเนินการเพื่อความตกลงร่วมกัน (Making Dispute Resolution Mechanisms More Effective)
2. ประเทศไทยในฐานะสมาชิกกรอบความร่วมมือฯ BEPS ได้มีการดำเนินการให้สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามปฏิบัติการที่ 5 เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการด้านกฎหมายเพื่อรองรับปฏิบัติการที่ 13 ส่วนการดำเนินการตามปฏิบัติการที่ 6 และปฏิบัติการที่ 14 นั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องดำเนินการแก้ไขถ้อยคำหรือเพิ่มเติมข้อบทในอนุสัญญาภาษีซ้อนที่ได้ทำไว้กับต่างประเทศ (ปัจจุบันมีผลบังคับใช้แล้วทั้งสิ้น 31 ฉบับ) เนื่องจากอนุสัญญาภาษีซ้อนหลายฉบับยังมีส่วนที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำ
3. อนุสัญญาพหุภาคีฯ MLI เป็นเครื่องมือในปฏิบัติการที่ 15 ของกรอบความร่วมมือฯ BEPS ที่ OECD กำหนดขึ้นเพื่อให้ประเทศสมาชิกมีแนวทางในการแก้ไขอนุสัญญาภาษีซ้อนได้หลายฉบับพร้อมกันในคราวเดียว ดังนั้น การเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาพหุภาคีฯ MLI จะทำให้ประเทศไทยสามารถดำเนินการแก้ไขอนุสัญญาภาษีซ้อนที่ทำไว้กับต่างประเทศได้หลายฉบับพร้อมกันในคราวเดียว และสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีที่เป็นมาตรฐาน ขั้นต่ำในปฏิบัติการที่ 6 และปฏิบัติการที่ 14 ของกรอบความร่วมมือฯ BEPS ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากกว่าการแก้ไขอนุสัญญาภาษีซ้อนในระดับทวิภาคีที่จะต้องขอเจรจาแก้ไขครั้งละฉบับ ทั้งนี้ องค์ประกอบของอนุสัญญา พหุภาคีฯ MLI ประกอบด้วย 7 ส่วน 39 ข้อบท ซึ่งประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือฯ BEPS มีสิทธิเลือกที่จะเข้าผูกพันเฉพาะข้อบทที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ได้ ไม่จำเป็นต้องเข้าผูกพันทุกข้อบททั้งหมดแต่อย่างใด
4. ในการเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาพหุภาคีฯ MLI ของประเทศไทยนั้น กค. เห็นควรเลือกข้อบทที่จะเข้าผูกพันอันประกอบด้วยข้อบทที่เป็นมาตรฐานขั้นต่ำตามพันธกรณีสำหรับประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือฯ BEPS ที่จะต้องถือปฏิบัติ และข้อบทอื่นที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ ดังนี้
ข้อบทที่เห็นควรให้ ประเทศไทยเข้าร่วม |
การแก้ไขอนุสัญญาภาษีซ้อน |
ความสอดคล้องกับปฏิบัติการ ในกรอบความร่วมมือฯ BEPS |
|
ส่วนที่ 2 Hybrid Mismatches |
|||
ข้อบทที่ 5 |
แก้ไขข้อบทว่าด้วยการขจัดภาระภาษีซ้อน โดยเปลี่ยนวิธีการขจัดภาระภาษีซ้อนจากวิธีการยกเว้นภาษีเป็นวิธีการเครดิตภาษี เพื่อป้องกันปัญหาการไม่จัดเก็บภาษีในทั้ง 2 ประเทศ |
ปฏิบัติการที่ 2 (มาตรการลดผลกระทบ ของการปฏิบัติ หรือการตีความ ที่ต่างกันของประเทศคู่สัญญา) |
|
ส่วนที่ 3 Treaty Abuse |
|||
ข้อบทที่ 6 |
แก้ไขถ้อยคำในชื่อและอารัมภบทเพื่อป้องกันการใช้อนุสัญญาภาษีซ้อนผิดวัตถุประสงค์และป้องกันปัญหาการไม่จัดเก็บภาษีในทั้ง 2 ประเทศคู่สัญญา |
ปฏิบัติการที่ 6 (มาตรการป้องกัน การใช้ประโยชน์จากอนุสัญญาภาษีซ้อนผิดวัตถุประสงค์) |
|
ข้อบทที่ 7 |
เพิ่มเติมข้อบทใหม่เพื่อให้มีการทดสอบวัตถุประสงค์ของธุรกรรม สำหรับใช้ประกอบการพิจารณาการได้รับสิทธิประโยชน์ตามอนุสัญญาภาษีซ้อน |
||
ส่วนที่ 4 Avoidance of Permanent Establishment Status |
|||
ข้อบทที่ 12 |
แก้ไขข้อบทว่าด้วยสถานประกอบการถาวร (Permanent Establishment: PE) ให้มีมาตรการป้องกันการเจตนาหลบเลี่ยงการมี PE ด้วยข้อตกลงนายหน้าและการใช้ยุทธศาสตร์ที่คล้ายคลึงกัน |
ปฏิบัติการที่ 7 (มาตรการป้องกัน การหลบเลี่ยงการมี PE) |
|
ข้อบทที่ 13 |
แก้ไขข้อบทว่าด้วย PE โดยให้ยกเว้นการมี PE เฉพาะการดำเนินการที่เข้าลักษณะเป็นการเตรียมการหรือเป็นส่วนประกอบเท่านั้น และให้เพิ่มมาตรการป้องกันการหลบเลี่ยงการมี PE โดยการกระจายหน้าที่งานให้แก่กิจการที่มีความสัมพันธ์กัน |
||
ข้อบทที่ 14 |
แก้ไขข้อบทว่าด้วย PE ให้มีมาตรการป้องกันการแบ่งสัญญาให้แต่ละกิจการที่มีความสัมพันธ์กันเพื่อหลบเลี่ยงเงื่อนไขด้านระยะเวลาของการมี PE |
||
ข้อบทที่ 15 |
แก้ไขข้อบทว่าด้วย PE โดยเพิ่มเติมคำนิยามของกิจการที่มีความสัมพันธ์กันเพื่อใช้กับมาตรการป้องกันการหลบเลี่ยงการมี PE |
||
ส่วนที่ 5 Improving Dispute Resolution |
|||
ข้อบทที่ 16 - 17 |
- ปรับปรุงถ้อยคำในข้อบทว่าด้วยวิธีการดำเนินการเพื่อความตกลงร่วมกันและข้อบทว่าด้วยวิสาหกิจในเครือเดียวกันตามถ้อยคำที่กำหนดไว้ใน OECD Model Tax Convention (2017) |
ปฏิบัติการที่ 14 (แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพวิธีการดำเนินการเพื่อความตกลงร่วมกัน) |
ทั้งนี้ การเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาพหุภาคีเพื่อดำเนินมาตรการเกี่ยวกับอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนในการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีและโอนกำไรไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ (Multilateral Convention to Implement Tax Treaty Related Measures to Prevent Base Erosion and Profit Shifting: MLI) (อนุสัญญาพหุภาคีฯ MLI) จะทำให้ประเทศไทยสามารถดำเนินการแก้ไขอนุสัญญาภาษีซ้อนที่ทำไว้กับต่างประเทศได้หลายฉบับพร้อมกันในคราวเดียว และสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีที่เป็นมาตรฐานขั้นต่ำในปฏิบัติการที่ 6 และปฏิบัติการที่ 14 ของกรอบความร่วมมือเพื่อป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีและโอนกำไรไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ (Base Erosion and Profit Shifting Project: BEPS) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกระทรวงการคลังเห็นควรเลือกข้อบทที่จะเข้าผูกพันอันประกอบด้วยข้อบทที่เป็นมาตรฐานขั้นต่ำตามพันธกรณีสำหรับประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือฯ BEPS ที่จะต้องถือปฏิบัติและข้อบทอื่นที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ จำนวน 9 ข้อบท โดยอนุสัญญาภาษีซ้อนที่แก้ไขผ่านอนุสัญญาพหุภาคีฯ MLI จะใช้บังคับควบคู่ไปกับอนุสัญญาภาษีซ้อนที่มีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน ไม่ได้มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มพันธกรณีในอนุสัญญาภาษีซ้อนโดยตรง
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 28 ธันวาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12975