ขอความเห็นชอบแก้ไขข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4.9 กองทุนผู้ปฏิบัติงานของ การรถไฟแห่งประเทศไทย ลงวันที่ 19 เมษายน 2528 ในการจ่ายเงินบำเหน็จดำรงชีพให้แก่อดีตผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยในอัตรา 15 เท่าของเงินสงเคราะห์รายเดือน แต่ไม่เกิน 500
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 28 December 2021 01:49
- Hits: 16480
ขอความเห็นชอบแก้ไขข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4.9 กองทุนผู้ปฏิบัติงานของ การรถไฟแห่งประเทศไทย ลงวันที่ 19 เมษายน 2528 ในการจ่ายเงินบำเหน็จดำรงชีพให้แก่อดีตผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยในอัตรา 15 เท่าของเงินสงเคราะห์รายเดือน แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบดังนี้
1. เห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จ่ายเงินบำเหน็จดำรงชีพให้แก่อดีตผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยในอัตรา 15 เท่าของเงินสงเคราะห์รายเดือน แต่ไม่เกิน 500,000 บาท ตามมติคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ตามมาตรา 13 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
2. เห็นชอบในหลักการร่างข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทยฉบับที่ 4.9 กองทุนผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ ..) ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการคลังและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
3. ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยรับความเห็นของกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้
คค. เสนอว่า
1. ข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4.9 กองทุนผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย ลงวันที่ 19 เมษายน 2528 ข้อ 14 กำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานเมื่อออกจากงานมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ เหตุทดแทน เหตุทุพพลภาพ เหตุสูงอายุ และเหตุทำงานนาน และข้อ 17 กำหนดให้กรณีจะถือว่าออกจากงานด้วยเหตุอย่างใดตามข้อ 14 การนับเวลาทำงานตลอดจนวิธีการคำนวณเงินสงเคราะห์ และวิธีการจ่ายเงินให้ถือปฏิบัติตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการโดยอนุโลม
2. ข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4.9 กองทุนผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 4) ลงวันที่ 28 ตุลาคม 2558 กำหนดให้ผู้ที่รับเงินสงเคราะห์รายเดือนอยู่มีสิทธิขอรับ เงินบำเหน็จดำรงชีพ (เงินที่จ่ายให้แก่ผู้รับเงินสงเคราะห์รายเดือนเพื่อช่วยเหลือการดำรงชีพโดยจ่ายให้ครั้งเดียว) ในอัตรา 15 เท่าของเงินสงเคราะห์รายเดือนที่ผู้นั้นได้รับ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
3. โดยที่ตามหลักการของการจ่ายเงินบำนาญของ รฟท. ที่ผ่านมา รฟท. ใช้วิธีการจ่ายเงินโดยให้ถือปฏิบัติตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการโดยอนุโลม ดังนั้น เมื่อมีการบังคับใช้กฎกระทรวงกำหนดอัตราและวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพ พ.ศ. 2562 ออกตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 47/1 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งมีการปรับอัตราและวิธีการจ่ายเงินบำเหน็จดำรงชีพของข้าราชการผู้รับบำนาญขึ้นใหม่ โดยข้อ 3 กำหนดว่า บำเหน็จดำรงชีพให้จ่ายในอัตรา 15 เท่าของบำนาญรายเดือนที่ได้รับ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท โดยให้มีสิทธิขอรับบำเหน็จดำรงชีพได้ ตามวิธีการ ดังต่อไปนี้
3.1 ผู้รับบำนาญซึ่งมีอายุต่ำกว่า 65 ปี ให้มีสิทธิขอรับบำเหน็จดำรงชีพได้ไม่เกิน 200,000 บาท
3.2 ผู้รับบำนาญซึ่งมีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปแต่ไม่ถึง 70 ปี ให้มีสิทธิขอรับบำเหน็จดำรงชีพได้ไม่เกิน 400,000 บาท แต่ถ้าผู้รับบำนาญนั้นได้ใช้สิทธิตามข้อ 3.3.1 ไปแล้ว ให้ขอรับบำเหน็จดำรงชีพได้ไม่เกิน ส่วนที่ยังไม่ครบตามสิทธิของผู้นั้น แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 400,000 บาท
3.3. ผู้รับบำนาญซึ่งมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ให้มีสิทธิขอรับบำเหน็จดำรงชีพได้ไม่เกิน 500,000 บาท แต่ถ้าผู้รับบำนาญนั้นได้ใช้สิทธิตามข้อ 3.3.1 หรือข้อ 3.3.2 ไปแล้ว ให้ขอรับบำเหน็จดำรงชีพได้ไม่เกินส่วนที่ยังไม่ครบตามสิทธิของผู้นั้นแต่รวมกันแล้วไม่เกิน 500,000 บาท
ดังนั้น รฟท. จึงมีความจำเป็นต้องแก้ไขข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4.9 กองทุนผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยให้สอดคล้องกัน
4. การจ่ายบำเหน็จดำรงชีพให้แก่อดีตผู้ปฏิบัติงานใช้เงินของ รฟท.ประกอบด้วย รายได้ การโดยสาร รายได้การสินค้า รายได้จากการบริหารทรัพย์สินฯ และรายได้อื่นๆ ที่หมุนเวียนเข้ามาในแต่ละเดือน และ รฟท. จะมีแนวทางการจ่ายบำเหน็จดำรงชีพ ดังนี้
4.1 สำหรับผู้มีสิทธิรับบำเหน็จดำรงชีพในปีงบประมาณ 2563 และ 2564 ที่ รฟท. ยังไม่ได้จ่ายเงินบำเหน็จดำรงชีพตามสิทธิ เนื่องจากอยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4.9 มีวงเงินจำนวน 1,086.041 ล้านบาท จะแบ่งจ่ายวงเงินดังกล่าว 13 เดือน จำนวนประมาณเดือนละ 83.54 ล้านบาท โดยเริ่มจ่ายในเดือนมีนาคม 2565 ตามลำดับการยื่นแบบแสดงเจตนาขอรับเงิน
4.2 สำหรับผู้ที่มีสิทธิรับบำเหน็จดำรงชีพในปีงบประมาณ 2565 - 2569 รฟท. จะจ่ายเงินบำเหน็จดำรงชีพตามสิทธิต่อไป
ทั้งนี้ ประมาณการวงเงินที่จะใช้ตามวิธีการจ่ายเงินบำเหน็จดำรงชีพ ดังนี้
หน่วย : ล้านบาท
ประเภทรายจ่าย/ปีงบประมาณ |
ปี 2565 |
ปี 2566 |
ปี 2567 |
ปี 2568 |
ปี 2569 |
รวม | ||
จ่ายตาม ข้อ 4.1 |
จ่ายตาม ข้อ 4.2 |
จ่ายตาม ข้อ 4.1 |
จ่ายตาม ข้อ 4.2 |
|||||
เงินบำเหน็จ ดำรงชีพฯ |
584.78 |
92.72 |
501.24 |
102.27 |
110.04 |
174.56 |
209.38 |
1,774.99 |
รวม |
677.50 |
603.51 |
110.04 |
174.56 |
209.38 | 1,774.99 |
5. คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ได้มีมติเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 เห็นชอบให้ รฟท. จ่ายบำเหน็จดำรงชีพให้แก่อดีตผู้ปฏิบัติงานของ รฟท. ในอัตรา 15 เท่าของเงินสงเคราะห์รายเดือน แต่ไม่เกิน 500,000 บาท และให้ คค. เสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ
6. คค. พิจารณาแล้ว
6.1 เห็นสมควรนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามที่ รฟท. เสนอ เนื่องจาก
6.1.1 การแก้ไขการจ่ายเงินบำเหน็จดำรงชีพผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว
6.1.2 การปรับปรุงการจ่ายเงินบำเหน็จดำรงชีพให้กับอดีตผู้ปฏิบัติงาน เป็นการปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับกฎกระทรวงกำหนดอัตราและวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพ พ.ศ. 2562 ซึ่งจะช่วยให้อดีตผู้ปฏิบัติงานของ รฟท. (ผู้รับบำนาญ) ที่ล้วนเป็นผู้สูงอายุและอยู่ในช่วงบั้นปลายของชีวิตสามารถดำรงชีพต่อไปได้อย่างเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจที่ค่าครองชีพมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะในช่วงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยเหลือ ผู้รับบำนาญแล้ว ยังมีส่วนช่วยประคับประคองเศรษฐกิจของประเทศอีกทางหนึ่งด้วย
6.1.3 การจ่ายเงินบำเหน็จดำรงชีพเป็นการแบ่งเงินบำเหน็จตกทอดบางส่วนที่จะจ่ายให้กับทายาทของผู้รับบำนาญเมื่อผู้รับบำนาญเสียชีวิตไปแล้วมาจ่ายให้กับผู้รับบำนาญในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้น เงินที่จะต้องจ่ายบำเหน็จดำรงชีพเป็นเงินส่วนที่ รฟท. มีพันธะจะต้องจ่ายให้อยู่แล้วมาจ่ายก่อน จึงไม่มีภาระทางการเงินเพิ่มเติม ประกอบกับ รฟท. กำหนดแผนการจ่ายเงินเป็นรายเดือนตามลำดับการยื่นแบบแสดง ความจำนงจึงสามารถควบคุมการบริหารจัดการทางการเงินได้
6.2 อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก รฟท. เป็นรัฐวิสาหกิจที่ให้บริการเชิงสังคมเป็นหลักทำให้มี ผลประกอบการขาดทุนอยู่เสมอ ดังนั้น เพื่อไม่ให้ รฟท. ต้องตกอยู่ในสภาพวิกฤตทางการเงิน คค. ได้สั่งการให้ รฟท. พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
6.2.1 ให้ รฟท. โดยบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด เร่งดำเนินธุรกิจตามแผนงานที่กำหนด เพื่อให้ รฟท. มีรายได้จากการบริหารทรัพย์สินมาจุนเจือกิจการหลักโดยเร็ว กรณีที่มีรายได้จากการให้เช่าที่ดินแปลงใหญ่ที่มีมูลค่าสูงให้กันเงินส่วนหนึ่งไว้สำหรับใช้จ่ายเงินบำเหน็จดำรงชีพเพื่อไม่ให้กระทบต่อ สภาพคล่องทางการเงินในภาพรวมขององค์กร
6.2.2 สำหรับรายละเอียดของการบริหารการจ่ายเงินบำเหน็จดำรงชีพได้มอบหมายให้ รฟท. บริหารจัดการโดยยึดหลักการมีส่วนร่วมกับผู้รับบำนาญ โดยให้มีการหารือร่วมกันอย่างใกล้ชิดอยู่เสมอ และสร้างกระบวนการพิจารณาการจ่ายเงินบำเหน็จดำรงชีพร่วมกันที่อาจมีความยืดหยุ่นเพิ่มเติมจากลำดับการยื่นแบบแสดงความจำนงและแผนการจ่ายเงินรายเดือนได้ตามฉันทามติระหว่างผู้รับบำนาญกับ รฟท. เช่น อาจกำหนดให้มีลำดับพิเศษสำหรับผู้รับบำนาญที่ป่วยหนักขั้นวิกฤตก่อนเพื่อนำไปเป็นค่ารักษาพยาบาลในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่หรือกรณีที่ รฟท. ขาดสภาพคล่องในช่วงใดช่วงหนึ่ง อาจผ่อนผันไปจ่ายเงินบำเหน็จดำรงชีพในส่วนที่ขาดไปในเดือนถัดไป เป็นต้น
สาระสำคัญของร่างข้อบังคับ
เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4.9 กองทุนผู้ปฏิบัติงานของ การรถไฟแห่งประเทศไทย ลงวันที่ 19 เมษายน 2528 เพื่อช่วยเหลืออดีตผู้ปฏิบัติงานของ รฟท. ที่ได้รับเงินสงเคราะห์รายเดือนให้มีสิทธิขอรับเงินบำเหน็จดำรงชีพในอัตรา 15 เท่าของเงินสงเคราะห์รายเดือนที่ได้รับ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ข้อบังคับ รฟท. ฉบับที่ 4.9 กองทุนผู้ปฏิบัติงานของ รฟท. ลงวันที่ 19 เมษายน 2528 |
ร่างข้อบังคับ รฟท. ฉบับที่ 4.9 กองทุนผู้ปฏิบัติงานของ รฟท. (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ ..) |
|
ข้อ 17/1 บำเหน็จดำรงชีพ ได้แก่ เงินที่จ่ายให้แก่ผู้รับเงินสงเคราะห์รายเดือน เพื่อช่วยเหลือการดำรงชีพ โดยให้จ่ายครั้งเดียว |
คงเดิม |
|
ผู้ที่รับเงินสงเคราะห์รายเดือนอยู่ มีสิทธิขอรับเงินบำเหน็จดำรงชีพในอัตรา 15 เท่าของเงินสงเคราะห์รายเดือนที่ได้รับ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท |
ผู้ที่รับเงินสงเคราะห์รายเดือนอยู่ มีสิทธิขอรับเงินบำเหน็จดำรงชีพในอัตรา 15 เท่าของเงินสงเคราะห์รายเดือนที่ได้รับ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท โดยให้มีสิทธิขอรับบำเหน็จดำรงชีพได้ตามวิธีการต่อไปนี้ (1) ผู้รับเงินสงเคราะห์รายเดือนซึ่งมีอายุต่ำกว่า 65 ปี ให้มีสิทธิขอรับบำเหน็จดำรงชีพได้ไม่เกิน 200,000 บาท (2) ผู้รับเงินสงเคราะห์รายเดือนซึ่งมีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปแต่ไม่ถึง 70 ปี ให้มีสิทธิขอรับบำเหน็จดำรงชีพได้ไม่เกิน 400,000 บาท แต่ถ้าผู้รับเงินสงเคราะห์รายเดือนนั้นใช้สิทธิตาม (1) ไปแล้ว ให้ขอรับบำเหน็จดำรงชีพได้ไม่เกินส่วนที่ยังไม่ครบตามสิทธิของผู้นั้น แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 400,000 บาท (3) ผู้รับเงินสงเคราะห์รายเดือนซึ่งมีอายุตั้งแต่ 70 ปี ขึ้นไป ให้มีสิทธิขอรับบำเหน็จดำรงชีพได้ไม่เกิน 500,000 บาท แต่ถ้าผู้รับเงินสงเคราะห์รายเดือนนั้นใช้สิทธิตาม (1) หรือ (2) ไปแล้ว ให้ขอรับบำเหน็จดำรงชีพได้ไม่เกินส่วนที่ยังไม่ครบตามสิทธิ์ของผู้นั้น แต่รวมกันแล้วไม่เกิน500,000 บาท |
|
ในกรณีที่ได้มีการรับบำเหน็จดำรงชีพไปแล้ว เมื่อผู้รับเงินสงเคราะห์รายเดือนตาย การจ่ายเงินบำเหน็จตกทอดแก่ทายาท ให้หักเงินออกจากบำเหน็จตกทอดที่จะได้รับเท่ากับเงินบำเหน็จดำรงชีพเสียก่อน |
ในกรณีที่ได้มีการรับบำเหน็จดำรงชีพไปแล้วเมื่อผู้ได้รับเงินสงเคราะห์รายเดือนถึงแก่ความตาย การจ่ายเงินสงเคราะห์ ตกทอดแก่ทายาท ให้หักเงินออกจากเงินสงเคราะห์ตกทอดที่จะได้รับเท่ากับเงินบำเหน็จดำรงชีพเสียก่อน |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 21 ธันวาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12723