มาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจปี 2565 (มาตรการของขวัญปีใหม่ 2565) (กระทรวงการคลัง)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 28 December 2021 01:25
- Hits: 15771
มาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจปี 2565 (มาตรการของขวัญปีใหม่ 2565) (กระทรวงการคลัง)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ รับทราบ อนุมัติดังนี้
1. เห็นชอบและรับทราบมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจปี 2565 (มาตรการของขวัญปีใหม่ 2565) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
2. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้
3. อนุมัติหลักการ
1) ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมการอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
2) ร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
3) ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
4) ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้
รวม 4 ฉบับ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้
4. เห็นชอบในหลักการ
1) ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารที่อยู่อาศัยหรืออาคารพาณิชย์ หรือที่ดินพร้อมอาคารที่อยู่อาศัยหรืออาคารพาณิชย์ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
2) ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
3) ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นพิเศษตามประมวลกฎหมายที่ดินสำหรับกรณีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
4) ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด สำหรับกรณีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
รวม 4 ฉบับ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้
5. การจัดสรรงบประมาณเพื่อชดเชยรายได้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามมาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัยและมาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เป็นไปตามความเห็นสำนักงบประมาณ
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอว่า
1. สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นวงกว้าง รัฐบาลจึงได้มีข้อสั่งการให้ กค. พิจารณากำหนดมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เหมาะสม ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2564 เศษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของสายพันธุ์เดลต้าที่รุนแรงมากขึ้น ภาครัฐจึงต้องดำเนินมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการใช้จ่ายของประชาชนภายในประเทศชะลอตัวลง โดยการบริโภคของภาคเอกชนในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ลดลงในระดับสูงถึงร้อยละ 3.2 ต่อปี เมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 4.8 ในไตรมาสที่ 2 ปี 2564 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.3 ต่อปี จากการขยายตัวร้อยละ 7.6 ต่อปี ในไตรมาสที่ 2 ปี 2564 ซึ่งทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.3 ต่อปี โดยได้ชะลอตัวลงจากช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี นอกจากนี้สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ยังคงมีความอ่อนไหวต่อปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่นสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั้งสายพันธุ์ที่ระบาดในปัจจุบันและที่อาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต ปัญหาข้อจำกัดในห่วงโซ่อุปทานการผลิตและการขนส่งระหว่างประเทศ รวมถึงความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก เป็นต้น
2. กค. พิจารณาแล้วเพื่อเป็นการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้สามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง จึงได้เสนอมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจปี 2565 (มาตรการของขวัญปีใหม่ 2565) รวม 6 มาตรการ และร่างกฎหมาย รวม 9 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชกฤษฎีกา รวม 1 ฉบับ ร่างกฎกระทรวง รวม 4 ฉบับ และร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย รวม 4 ฉบับ มาเพื่อดำเนินการ
3. กค. ได้พิจารณาการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ทั้งสิ้นประมาน 20,221 ล้านบาทต่อปี
สาระสำคัญของมาตรการและร่างกฎหมาย
มาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจปี 2565 (มาตรการของขวัญปีใหม่ 2565) รวม 6 มาตรการ และร่างกฎหมาย รวม 9 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชกฤษฎีกา รวม 1 ฉบับ ร่างกฎกระทรวง รวม 4 ฉบับ และ ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย รวม 4 ฉบับ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมการอนุญาตขายสุรา ยาสูบ และไพ่ ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 |
|
1.1 วัตถุประสงค์ |
เพื่อบรรเทาผลกระทบที่ผู้ประกอบการได้รับจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในช่วงปี 64 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในภาพรวมรวมถึงยอดขายสุรา ยาสูบ และไพ่ |
1.2 กลุ่มเป้าหมาย |
ผู้ได้รับใบอนุญาตขายสุรา ยาสูบ และไพ่ ประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 เฉพาะ ผู้ได้รับอนุญาตขายรายเดิมซึ่งได้รับผลกระทบที่ประสงค์จะขอใบอนุญาตขายต่อเนื่องในปีถัดไปเท่านั้น (หมายเหตุ : ประเภทใบอนุญาตขายสุรา ยาสูบ และไพ่ - ใบอนุญาตขายสุรา ประเภทที่ 1 การขายสุราทุกชนิด ครั้งหนึ่งจำนวนตั้งแต่ 10 ลิตรขึ้นไป ประเภทที่ 2 การขายสุราทุกชนิด ครั้งหนึ่งจำนวนต่ำกว่า 10 ลิตร - ใบอนุญาตขายยาสูบ ประเภทที่ 1 การขายส่งยาสูบ ครั้งหนึ่งจำนวน 1,000 มวนขึ้นไป ประเภทที่ 2 การขายปลีกยาสูบ ครั้งหนึ่งต่ำกว่า 1,000 มวน - ใบอนุญาตขายไพ่ ประเภทที่ 1 การขายไพ่ ครั้งหนึ่งจำนวนตั้งแต่ 40 สำรับขึ้นไป ประเภทที่ 2 การขายไพ่ ครั้งหนึ่งจำนวนต่ำกว่า 40 สำรับ |
1.3 ระยะเวลาดำเนินงาน |
ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 65 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 65 (1 ปี) |
1.4 วิธีดำเนินการ |
กค. ได้ยกร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมการอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยมีสาระสำคัญเป็นการยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายสุรา ยาสูบ และไพ่แล้วแต่กรณี ให้เฉพาะผู้ได้รับอนุญาตขายรายเดิมซึ่งได้รับผลกระทบที่ประสงค์จะขอใบอนุญาตขายต่อเนื่องในปีถัดไป เป็นระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 65 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 65 เพื่อเป็นการช่วยเหลือและลดภาระให้แก่ผู้ประกอบการ |
1.5 การสูญเสียรายได้ |
คาดว่าจะมีผู้ได้รับสิทธิดังกล่าวประมาณ 8 แสนราย คิดเป็นใบอนุญาตประมาณ 1.4 ล้านฉบับ โดยรัฐจะสูญเสียรายได้จากค่าธรรมเนียมประมาณ 380 ล้านบาท |
1.6 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ |
เพื่อเยียวยาและบรรเทาผลกระทบที่ผู้ได้รับอนุญาตในการขายสุรา ยาสูบ และไพ่ ได้รับจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 |
2. มาตรการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่น |
|
2.1 วัตถุประสงค์ |
เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศรวมถึงสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจสายการบินให้สามารถฟื้นฟูและกลับมาดำเนินธุรกิจได้เป็นปกติให้เร็วที่สุด |
2.2 กลุ่มเป้าหมาย |
ธุรกิจสายการบิน |
2.3 ระยะเวลาดำเนินงาน |
ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 65 ถึงวันที่ 30 มิ.ย. 65 (6 เดือน) |
2.4 วิธีดำเนินการ |
กค. ได้ยกร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยมีสาระสำคัญเป็นการลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่นที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยานในประเทศโดยกำหนดอัตราภาษีตามปริมาณ 0.20 บาทต่อลิตร (เป็นมาตรการต่อเนื่องโดยกฎกระทรวงเดิม (ฉบับที่ 14) จะสิ้นผลใช้บังคับวันที่ 31 ธ.ค. 64 หากไม่ปรับลดจะมีอัตราภาษีตามปริมาณ 4.726 บาทต่อลิตร) |
2.5 การสูญเสียรายได้ |
การท่องเที่ยวในปี 65 คาดว่าสายการบินจะกลับมาดำเนินธุรกิจได้ร้อยละ 50ของการท่องเที่ยวปี 62 โดยคาดว่าจะสูญเสียรายได้ประมาณ 860 ล้านบาทเนื่องจากมาตรการนี้จะมีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 6 เดือน |
2.6 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ |
อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมสายการบินในประเทศมีการฟื้นตัวเนื่องจากมีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจส่งผลให้ยังคงมีการจ้างงานและไม่ต้องปิดตัวหรือระงับเส้นทางการบิน |
3. มาตรการช้อปดีมีคืน ปี 2565 |
|
3.1 วัตถุประสงค์ |
เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ และสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษี และผู้ประกอบกิจการการผลิตสินค้าท้องถิ่น (OTOP) |
3.2 กลุ่มเป้าหมาย |
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา |
3.3 ระยะเวลาดำเนินงาน |
ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 65 ถึงวันที่ 15 ก.พ. 65 |
3.4 วิธีดำเนินการ |
กค. ได้ยกร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร โดยมีสาระสำคัญดังนี้ 1) กำหนดให้ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการเท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการสำหรับการซื้อสินค้าหรือการรับบริการในราชอาณาจักร ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 65 ถึงวันที่ 15 ก.พ. 65 ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด 2) หลักเกณฑ์ เช่น ค่าสินค้า ค่าบริการ รวมถึงค่าสินค้า OTOP แต่ไม่รวมถึง - ค่าสุรา เบียร์ ไวน์ ค่ายาสูบ ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ ค่ารถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ - ค่าหนังสือพิมพ์และนิตยสารและค่าบริการหนังสือพิมพ์และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต - ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว และมัคคุเทศก์ ค่าที่พักในโรงแรมที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม - ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต และค่าบริการสำหรับบริการที่มีข้อตกลง การให้บริการระยะยาวซึ่งเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 ม.ค. 65 หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 15 ก.พ. 65 แม้ว่าจะจ่ายค่าบริการระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 65 ถึงวันที่ 15 ก.พ. 65 - ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย |
3.5 การสูญเสียรายได้ |
คาดว่าจะสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประมาณ 6,200 ล้านบาท |
3.6 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ |
จะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมูลค่าประมาณ 42,000 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.12 และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทั่วไปเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม |
4. มาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย |
|
4.1 วัตถุประสงค์ |
เพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในระดับราคาที่ไม่สูงมากและเหมาะสมกับศักยภาพของประชาชนแต่ละกลุ่ม |
4.2 กลุ่มเป้าหมาย |
ผู้ซื้อที่เป็นบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง และผู้ขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นที่อยู่อาศัยและอาคารพาณิชย์ ในราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกินมูลค่า 3 ล้านบาท |
4.3 ระยะเวลาดำเนินงาน |
ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาถึงวันที่ 31 ธ.ค. 65 |
4.4 วิธีดำเนินการ |
กค. ได้ยกร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย รวม 2 ฉบับ ดังนี้ 1) ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารที่อยู่อาศัยหรืออาคารพาณิชย์ หรือที่ดินพร้อมอาคารที่อยู่อาศัยหรืออาคารพาณิชย์ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด 2) ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด โดยร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย รวม 2 ฉบับ มีสาระสำคัญเป็นการลดค่าจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ (จากเดิมร้อยละ 2) และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ อันเนื่องมาจากการจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวในคราวเดียวกัน (จากเดิมร้อยละ 1) เหลือร้อยละ 0.01 สำหรับการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ดังนี้ 1) อาคารที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด และบ้านแถว หรืออาคารพาณิชย์ หรือที่ดินพร้อมอาคาร หรือ 2) ห้องชุดที่จดทะเบียนอาคารชุด โดยราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 3 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 3 ล้านบาท |
4.5 การสูญเสียรายได้ |
คาดว่าจะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สูญเสียรายได้ประมาณ 4,946.31 ล้านบาท |
4.6 ประโยชน์ที่คาดว่า จะได้รับ |
ช่วยสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ส่งเสริมการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ แต่อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าวส่งผลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สูญเสียรายได้ จึงเห็นควรมอบหมายให้สำนักงบประมาณ (สงป.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดสรรงบประมาณเพื่อชดเชยรายได้ให้แก่ อปท. ตามความเหมาะสมเพื่อให้เพียงพอต่อการดำเนินภารกิจปกติของ อปท. |
5. มาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ |
|
5.1 วัตถุประสงค์ |
เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างต่อเนื่อง |
5.2 กลุ่มเป้าหมาย |
1) เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน ซึ่งได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยนำหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไปใช้โดยอนุโลม เช่น สถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน บริษัทบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์ และนิติบุคคลอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 2) เจ้าหนี้อื่น เช่น เจ้าหนี้ที่เป็นบริษัทที่มิใช่สถาบันการเงิน 3) ลูกหนี้ ได้แก่ ลูกหนี้และผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ |
5.3 ระยะเวลาดำเนินงาน |
1) มาตรการด้านภาษี ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 64 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 69 (5 ปี) 2) มาตรการด้านค่าธรรมเนียม กำหนดให้มาตรการลดค่าธรรมเนียม จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาถึงวันที่ 31 ธ.ค. 65 |
5.4 วิธีดำเนินการ |
กค. ได้ยกร่างกฎหมายรวม 4 ฉบับ ประกอบด้วยร่างพระราชกฤษฎีกา (1 ฉบับ) ร่างกฎกระทรวง (1 ฉบับ) และร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย (2 ฉบับ) ดังนี้ 1) ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการขยายระยะเวลาการดำเนินมาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 63 เรื่อง มาตรการต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 63 เรื่อง มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2) ออกไปอีก 5 ปี จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 64 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 69 (ยกเว้นมาตรการด้านภาษีสำหรับการปลดหนี้ การโอนทรัพย์สิน การขายสินค้าหรือการให้บริการ การโอนอสังหาริมทรัพย์ และการกระทำตราสาร อันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ที่ ธปท. ประกาศกำหนด มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 64 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 69) มาตรการภาษีมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้ (1) ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่น สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการปลดหนี้ของเจ้าหนี้อื่นอันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของ ธปท. (2) ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงิน ลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่น สถาบันการเงิน และเจ้าหนี้อื่น สำหรับการโอนทรัพย์สิน การขายสินค้าหรือการให้บริการ และการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของ ธปท. (3) ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ให้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินอันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของ ธปท. สำหรับการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ลูกหนี้นำมาจำนองเป็นประกันหนี้ให้แก่ผู้อื่นซึ่งมิใช่สถาบันการเงิน และการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการโอนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกินกว่าหนี้ที่ค้างชำระอยู่หรือมีภาระผูกพันตามสัญญาประกันหนี้ โดยลูกหนี้ต้องนำเงินที่ได้รับไปชำระหนี้ (4) ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ให้แก่ลูกหนี้ของบริษัทที่มิใช่สถาบันการเงินอันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของ ธปท. สำหรับการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ลูกหนี้นำมาจำนองเป็นประกันหนี้ให้แก่ผู้อื่นซึ่งมิใช่บริษัทที่มิใช่สถาบันการเงินและการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการโอนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกินกว่าหนี้ที่ค้างชำระอยู่หรือมีภาระผูกพันตามสัญญาประกันหนี้ โดยลูกหนี้ต้องนำเงินที่ได้รับไปชำระหนี้ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด 2) ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของเจ้าหนี้ สำหรับส่วนของหนี้ที่ได้ปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้อันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ได้กระทำในระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 65 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 69 3) ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย รวม 2 ฉบับ ดังนี้ 3.1) ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นพิเศษตามประมวลกฎหมายที่ดินสำหรับกรณีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด 3.2) ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด สำหรับกรณีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด โดยร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย รวม 2 ฉบับ มีสาระสำคัญเป็นการลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์และห้องชุดทั้งหมดในอาคารชุดซึ่งจดทะเบียนอาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด และของราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินและลูกหนี้ของเจ้าหนี้ที่เป็นบริษัทที่มิใช่สถาบันการเงินนำมาจำนองเป็นหลักประกันหนี้ในอัตราร้อยละ 0.01 สำหรับกรณีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยให้มีผลตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาถึงวันที่ 31 ธ.ค. 65 |
5.5 การสูญเสียรายได้ |
1) มาตรการด้านภาษี คาดว่าจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 7,000 ล้านบาท ต่อปี 2) มาตรการด้านค่าธรรมเนียม คาดว่าจะสูญเสียรายได้ประมาณ 835 ล้านบาท |
5.6 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ |
ลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องจนมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นและสามารถประกอบอาชีพและธุรกิจต่อไปได้ ส่วนเจ้าหนี้และระบบสถาบันการเงินมีต้นทุนลดลงและสามารถให้สินเชื่อแก่ประชาชนและธุรกิจต่างๆ ได้เพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าวส่งผลให้ อปท. สูญเสียรายได้ จึงเห็นควรมอบหมายให้ สงป. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดสรรงบประมาณเพื่อชดเชยรายได้ให้แก่ อปท. ตามความเหมาะสมด้วย |
6. โครงการของขวัญปีใหม่ปี 2565 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ |
|
6.1 วัตถุประสงค์ |
เพื่อเสริมสภาพคล่องลดภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยและเสริมสร้างวินัยทางการเงิน ให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ |
6.2 กลุ่มเป้าหมาย |
ประชาชนและผู้ประกอบการ |
6.3 วิธีดำเนินการ |
การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่องและเป็นทุนหมุนเวียน การคืนเงินให้แก่ลูกหนี้เงินกู้ที่มีประวัติการชำระดี รางวัลพิเศษสำหรับลูกค้าสลากออมสิน การยกเว้นค่าธรรมเนียมนิติกรรมสัญญาและค่าประเมินหลักประกัน ส่วนลดค่าบริการและค่างวดสำหรับการค้ำประกันสินเชื่อ เป็นต้น ทั้งนี้ คิดเป็นวงเงินสินเชื่อรวม 25,000 ล้านบาท การคืนเงินและรางวัลพิเศษรวม 1,335 ล้านบาท การลดอัตราดอกเบี้ยรวม 4,700 ล้านบาท ส่วนลดค่าบริการและส่วนลดค่างวดสูงสุดรวม 7.43 ล้านบาท |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 21 ธันวาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12722