สรุปมติที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก ครั้งที่ 2/2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 28 December 2021 00:55
- Hits: 12372
สรุปมติที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก ครั้งที่ 2/2564
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอสรุปมติที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2564 โดยมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติ คจร. พ.ศ. 2521 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 5 (1) ที่บัญญัติให้ คจร. เสนอนโยบายและแผนหลักต่อคณะรัฐมนตรี] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ที่ประชุมได้รับทราบเรื่องต่างๆ ดังนี้
1.1 รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล สรุปได้ ดังนี้
สถานะโครงการ |
จำนวน (เส้นทาง) |
ระยะทาง (กิโลเมตร) |
ตัวอย่างโครงการ |
เปิดให้บริการแล้ว |
11 |
211.94 |
- สายสีแดง (เหนือ) ช่วงบางซื่อ-รังสิต (26.30 กิโลเมตร) - สายสีแดง (ตะวันตก) ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน (15.26 กิโลเมตร) - สายสีทอง ช่วงกรุงธนบุรี-คลองสาน (1.88 กิโลเมตร) |
อยู่ระหว่างก่อสร้าง |
5 |
112.20 |
- สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี (34.50 กิโลเมตร) - แอร์พอร์ตลิงค์ ช่วงพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง (21.80 กิโลเมตร) |
อยู่ระหว่างประกวดราคา |
2 |
37 |
- สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (23.60 กิโลเมตร) - สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-บางขุนนนท์ (13.40 กิโลเมตร) |
อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน |
6 |
71.49 |
- สายสีแดง (เหนือ) ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต (8.84 กิโลเมตร) - สายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ (16.25 กิโลเมตร) |
โครงการส่วนต่อขยายเพิ่มเติม |
9 |
120.78 |
- สายสีแดง (ใต้) ช่วงหัวลำโพง-มหาชัย (38 กิโลเมตร) - สายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (22.10 กิโลเมตร |
ซึ่งหากดำเนินการครบทุกเส้นทางในปี 2572 จะมีโครงข่ายเส้นทางรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล รวมทั้งสิ้น 553.41 กิโลเมตร 367 สถานี เพื่อสร้างจุดเชื่อมต่อและกระจายการเดินทาง รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและแก้ไขปัญหาการจราจรได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นว่าควรมีการวางแผนเรื่องระบบขนส่งมวลชนรอง (Feeder) เพื่อส่งต่อคนเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้า ซึ่ง คค. ได้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวแล้ว และจะเริ่มทดลองในสายสีแดงด้านทิศเหนือไปยังพื้นที่รังสิตต่อไป
1.2 รายงานความคืบหน้าแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งประกอบด้วย (1) การเพิ่มพื้นที่และความสามารถในการรองรับปริมาณการจราจรบนถนนในจุดที่จำเป็น ได้แก่ การก่อสร้างอุโมงค์ ถนน ทางยกระดับ สะพานข้ามแยก และจุดที่ยังไม่ได้ดำเนินการเชื่อมต่อเส้นทาง (Missing Link) เพื่อแก้ไขปัญหาคอขวดและการขาดความต่อเนื่องของโครงข่ายถนน จำนวน 12 เส้นทาง วงเงินรวม 271,741 ล้านบาท และการบริหารจัดการการใช้ถนนเดิมให้มีประสิทธิภาพ และ (2) การส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพื่อลดปริมาณรถส่วนบุคคลบนถนน วงเงินรวม 1,937 ล้านบาท เช่น การจัดพื้นที่จอดรถและจรตามแนวขนส่งมวลชน มาตรการส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะและการเพิ่มโครงข่ายเชื่อมต่อเข้าสู่สถานีรถไฟฟ้า
1.3 รายงานความคืบหน้าการศึกษาการแก้ปัญหาจราจรบนทางพิเศษ ซึ่งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้เสนอกรอบการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางพิเศษ จำนวน 6 เส้นทาง และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง [ของกรมทางหลวง (ทล.)] รวมทั้งทางขึ้นลงทางพิเศษและถนนที่เกี่ยวเนื่องกับบริเวณทางขึ้นลงทางพิเศษ โดยพบปัญหาการจราจร เช่น ความจุของทางพิเศษไม่เพียงพอ การจราจรติดขัดบริเวณด่าน เก็บค่าผ่านทาง และปัญหาจุดคอขวด เนื่องจากการลดจำนวนช่องจราจร
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ให้ข้อมูลว่า การแก้ไขปัญหาในเขต กทม. และปริมณฑลเป็นปัญหาใหญ่ โดย คค. อยู่ระหว่างจัดลำดับความสำคัญของโครงการ เนื่องจากต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก อีกทั้งได้นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาจราจรด้วย โดยคาดว่าจะสามารถเสนอแผนการแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางพิเศษต่อคณะรัฐมนตรีได้ภายใน 2 ปี
1.4 สรุปผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (อจร.) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (1 ตุลาคม 2563-4 สิงหาคม 2564) ซึ่ง อจร. ได้พิจารณาการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคด้านการขนส่งและการจราจร รวมจำนวน 202 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 84 เรื่อง อยู่ระหว่างการดำเนินการ 77 เรื่อง และอยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 41 เรื่อง
2. ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องต่างๆ ดังนี้
2.1 แผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะกลุ่มจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง เพื่อรองรับการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC)
2.1.1 คค. ได้รับการจัดสรรงบประมาณระหว่างปี 2562-2563 เพื่อศึกษาการจัดทำแผนแม่บทฯ มีสาระสำคัญ เช่น ข้อเสนอแนะการวางโครงข่ายระบบขนส่งหลักและขนส่งรอง ผลคาดการณ์สัดส่วนผู้ใช้งานระบบขนส่งสาธารณะในอนาคต รูปแบบการร่วมลงทุน รูปแบบองค์กรในการดำเนินงาน และ กรอบระยะเวลาของแผนแม่บท ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อเดือนตุลาคม 2563
2.1.2 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบผลการศึกษาจัดทำแผนแม่บทฯ และมอบหมาย ให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกพิจารณาผลักดันแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่ง สาธารณะฯ ไปสู่การปฏิบัติต่อไป
2.2 แผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟร่วมกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorways-Railways Masterplan: MR-Map)
2.2.1 การจัดทำแผนแม่บท MR-Map มีระยะทางรวม 6,530 กิโลเมตร ประกอบด้วย เส้นทางทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองร่วมกับเส้นทางระบบราง 4,470 กิโลเมตร เส้นทางเฉพาะทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 1,710 กิโลเมตร และเส้นทางเฉพาะระบบราง 350 กิโลเมตร ทั้งนี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อจัดทำ MR-Map จำนวน 10 เส้นทาง เช่น เส้นทาง MR1 เชียงราย (ด่านเชียงของ)-นราธิวาส เส้นทาง MR2 หนองคาย (ด่านหนองคาย)-ชลบุรี (แหลมฉบัง) เส้นทาง MR4 ตาก (ด่านแม่สอด)-นครพนม (ด่านนครพนม) และเส้นทาง MR9 ภูเก็ต-สุราษฎร์ธานี ในส่วนการดำเนินการระยะต่อไป ทล. กทพ. และการรถไฟแห่งประเทศไทยจะใช้แผนแม่บท MR-Map ในการวางแผนการลงทุนพัฒนาเส้นทางหลวงพิเศษและการพัฒนาเส้นทางรถไฟเพื่อให้ประชาชนมีโครงข่ายคมนาคมที่ดี กระจายความเจริญไปสู่พื้นที่ต่างๆ รวมทั้งลดผลกระทบจากการเวนคืนที่ดิน
2.2.2 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบหลักการของโครงการศึกษาการจัดทำแผนแม่บท MR-Map และเห็นชอบร่างโครงข่ายแผนแม่บท MR-Map
2.3 การดำเนินการระบบขนส่งสาธารณะเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง (สถานีรังสิต) กทม. และปริมณฑล รวมถึงพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ประสบปัญหาการจราจรติดขัดเป็นจำนวนมากทั้งจากรถยนต์ส่วนบุคคลและรถโดยสารประจำทาง ซึ่งส่งผลให้เกิดมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาจราจรและรองรับการเปิดใช้งานรถไฟฟ้าสายสีแดง จึงพิจารณาให้มีการจัดให้บริการเดินรถด้วยระบบ Feeder ที่มีรูปแบบการเดินรถตามตารางเวลาที่สอดคล้องกับการให้บริการของระบบรถไฟฟ้า รวมทั้งเป็น มิตรต่อสิ่งแวดล้อมและรองรับการให้บริการแก่ทุกคน ซึ่งจะทำให้ประชาชนให้ความสำคัญกับการใช้ระบบขนส่งมวลชนหลักหรือรถไฟฟ้าสายสีแดงที่จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน 2564 โดยที่ประชุมมีมติ ดังนี้
2.3.1 เห็นชอบหลักการการจัดทำระบบ Feeder
2.3.2 เห็นชอบแนวเส้นทางให้บริการระบบ Feeder เข้าสู่สถานีรถไฟรังสิต จำนวน 3 เส้นทาง ประกอบด้วย (1) สถานีรถไฟฟ้ารังสิต-ธัญบุรีคลอง 7 (2) สถานีรถไฟฟ้ารังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) และ (3) สถานีรถไฟฟ้ารังสิต-แยกกรมควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 21 ธันวาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12720