ของขวัญปีใหม่ของกระทรวงแรงงาน ปี 2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 26 December 2021 22:30
- Hits: 13378
ของขวัญปีใหม่ของกระทรวงแรงงาน ปี 2565
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบของขวัญปีใหม่ของกระทรวงแรงงาน ปี 2565 ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ดังนี้
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงแรงงานขอมอบของขวัญปีใหม่ ปี 2565 ให้กับผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ฟรี ดอกเบี้ย 0% นาน 12 เดือน สำหรับการกู้ยืมเงินจากกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน เพื่อดูแลความเป็นอยู่ของแรงงานนอกระบบในกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี กรมการจัดหางาน โดยกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้านได้ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้หรือค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินของกองทุน เพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่และเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้รับงานไปทำที่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) เป้าหมายผู้รับงานไปทำที่บ้าน ทั่วประเทศ กว่า 6,000 คน ลดภาระการจ่ายดอกเบี้ยไม่น้อยกว่า 150,000 บาท มีรายละเอียดและเงื่อนไข ดังนี้
1) อัตราดอกเบี้ยเงินกู้หรือค่าธรรมเนียม ร้อยละ 0 ต่อปี ในงวดที่ 1 - 12 โดยไม่ปลอดเงินต้น และ งวดที่ 13 เป็นต้นไปจนสิ้นสุดสัญญาคิดอัตราร้อยละ 3 ต่อปี
2) ยื่นคำขอกู้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2565 ทำสัญญากู้ยืมเงินภายใน 30 กันยายน 2565
3) ผู้รับงานไปทำที่บ้านรายบุคคลยื่นคำขอกู้ไม่เกิน 50,000 บาท รายกลุ่มบุคคลกู้ไม่เกิน 300,000 บาท
ผู้สนใจสามารถยื่นคำขอกู้ได้ที่ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10 และสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด
2. DSD Service
1) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้บริการตรวจเช็ครถก่อนเดินทาง 12 รายการ ระหว่างวันที่ 15 – 30 ธันวาคม 2564.ณ.สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน รวมทั้งสิ้น 77 แห่ง.ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ.โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายค่าตรวจเช็ค.ไม่รวมค่าวัสดุสิ้นเปลือง อาทิ น้ำมันเครื่อง น้ำกลั่น นอกจากนี้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้ร่วมมือกับองค์กรเครือข่ายภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมให้บริการประชาชนผ่าน Line Official ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2564 ถึงวันที่ 7 มกราคม 2565 ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง โดยประชาชนที่สนใจสามารถลงทะเบียนเพื่อใช้บริการผ่านระบบ Line Official หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะแจ้งกำหนดการเข้ารับบริการตรวจเช็คก่อนเดินทางผ่าน e-mail หรือเบอร์โทรศัพท์ของผู้ลงทะเบียน และในระหว่าง เดินทาง หากประชาชนพบปัญหาขัดข้องใน การเดินทาง อาทิ รถเสียหรือเหตุฉุกเฉินอื่นๆ ที่ประสงค์ขอความช่วยเหลือ ในระบบ Line Official จะให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อ เบอร์โทรศัพท์ จุดแวะพัก หรือจุดให้บริการประชาชน ในพื้นที่จังหวัดที่ผู้เดินทางอยู่ในขณะนั้น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก ทั้งนี้ Line Official ดังกล่าวจะเชื่อมโยง เว็บไซต์ YouTube Channel และ Facebook ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อแจ้งข่าวสารข้อมูลต่างๆ ประชาสัมพันธ์ภารกิจของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ตลอดจนสามารถเชื่อมโยงระบบการฝีกอบรมของกรมที่มีอยู่หลากหลาย ได้แก่
(1) รูปแบบปกติ (On Side)
(2) ห้องฝึกอบรมสอนสด (Virtual Online Training)
(3) รูปแบบฝึกอบรมตามอัธยาศัย (Online Training : Content ฝึกอบรมทุกที่ ทุกเวลา)
3. DSD Online Training
กรมพัฒนาฝีมือแรงงานร่วมกับภาคีเครือข่ายได้รวบรวมคลิป VDO เพื่อจัดทำเนื้อหาสาระ Content ให้บริการฝึกทักษะในรูปแบบ Online รองรับการพัฒนาทักษะตอบโจทย์ความต้องการ ทุกที่ ทุกเวลา ตามอัธยาศัย โดยประชาชนสามารถเข้าสู่ระบบการฝึกอบรม ผ่าน QR CODE โดยมีคลิปที่แนะนำสำหรับการฝึกทักษะในช่วงเทศกาลปีใหม่ 4 หัวข้อ ระหว่างวันที่ 15 ธ.ค. 2564 – 31 มกราคม 2565 ได้แก่
1) การทำการ์ดอวยพรออนไลน์
2) ขับขี่ปลอดภัย
3) การซ่อมบำรุงเบื้องต้นก่อนเดินทาง
4) 10 เมนูอาหารไทยยอดนิยม
4. เพิ่มอัตราเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างสูงสุด 100 เท่า กรณีลูกจ้างถูกนายจ้างเลิกจ้างหรือค้างจ่าย เพราะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา.2019 (COVID - 19) เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกจ้าง เป็นเงินประมาณ 83.14 ล้านบาท (เฉพาะคำสั่งพนักงาน ตรวจแรงงานที่ออกระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565)
1) กรณีค่าชดเชย
(1.1) จากเดิม 30 เท่า เป็น 60 เท่า ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างที่มีอายุงาน 120 วัน แต่ไม่ครบ 3 ปี
(1.2) จากเดิม 50 เท่า เป็น 80 เท่า ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างที่มีอายุงาน 3 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี
(1.3) จากเดิม 70 เท่า เป็น 100 เท่า ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างที่มีอายุงาน 10 ปีขึ้นไป
2) กรณีเงินอื่นนอกจากค่าชดเชยจากเดิม 60 เท่า เป็น 100 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
5. โครงการเงินกู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน วงเงินโครงการ 50 ล้านบาท ให้สหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการและสหกรณ์ออมทรัพย์ในรัฐวิสาหกิจ จำนวน 594 แห่ง นำไปให้บริการเงินกู้แก่แรงงานที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ จำนวน 560,476 คน เพื่อนำไปลงทุนประกอบอาชีพเสริม โดยสหกรณ์คิดดอกเบี้ย เงินกู้จากสมาชิกลดลงจากอัตราดอกเบี้ยปกติ ประเภทสามัญ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 2.25 ต่อปี วงเงินกู้สูงสุดสหกรณ์ละ 10 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.50 ต่อปี ระยะเวลาชำระคืนเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 3 ปี สมาชิกกู้ได้ไม่เกินคนละ 100,000 บาท ยื่นคำขอกู้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 ผ่านระบบ e-service
6. โครงการเสริมสร้างศักยภาพด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรมในสถานประกอบกิจการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 การให้บริการตรวจวัดระดับแสง เสียง และความร้อนที่เป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงาน ให้แก่สถานประกอบกิจการที่สนใจ เพื่อให้สถานประกอบกิจการสามารถดำเนินงานด้านความปลอดภัยให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยการให้คำแนะนำตามหลักวิชาการกับสถานประกอบกิจการในการดำเนินงานด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรม เช่น ความร้อน แสงสว่าง เสียง ฝุ่นละออง สารระเหยง่าย และโลหะหนัก เป็นต้น ระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 ถึงเดือนกันยายน 2565
7. ลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เหลือร้อยละ 60 เป็นระยะเวลา 6 เดือน
ทางเลือกที่ 1 จากอัตราเงินสมทบเดิม 70 บาทต่อเดือน อัตราเงินสมทบใหม่ระยะ 6 เดือน 42 บาทต่อเดือน (สิทธิประโยชน์ 3 กรณี ได้แก่ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ และตาย)
ทางเลือกที่ 2 จากอัตราเงินสมทบเดิม 100 บาทต่อเดือน อัตราเงินสมทบใหม่ระยะ 6 เดือน 60 บาทต่อเดือน
ทางเลือกที่ 3 จากอัตราเงินสมทบเดิม 300 บาทต่อเดือน อัตราเงินสมทบใหม่ระยะ 6 เดือน 180 บาทต่อเดือน
ผู้ประกันตนมาตรา 40 ได้รับประโยชน์จากการลดอัตราเงินสมทบ จำนวน 10.57 ล้านคน รวมวงเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ จำนวน 1,408.56 ล้านบาท
8. ลดขั้นตอนอนุมัติสิทธิ โดยผู้ประกันตนไม่ต้องสำรองจ่ายได้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 เป็นต้นไป สำนักงานประกันสังคมปรับรูปแบบบริการขออนุมัติสิทธิฟอกเลือด โดยการพัฒนาระบบลงทะเบียนการบำบัดทดแทนไตกรณีฟอกเลือดร่วมกับสำนักสารสนเทศบริการสุขภาพ (สกส.) จากเดิม ผู้ประกันตนรายใหม่ไปรักษาที่สถานพยาบาลต้องสำรองจ่ายไปก่อนและไปยื่นเอกสารที่สำนักงานประกันสังคม รอผลการอนุมัติใช้ระยะเวลารอคอยนาน (สูงสุดใช้ระยะเวลา 3 เดือน) เปลี่ยนเป็น ผู้ประกันตนรายใหม่ไปยื่นที่สถานพยาบาลที่รักษาได้ทันที ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่ต้องสำรองจ่าย ทำให้ผู้ประกันตนได้รับความสะดวกรวดเร็ว (One Stop Service) ลดเอกสาร ลดขั้นตอนสำหรับผู้ประกันตนไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายรายใหม่ และมารับบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมเฉลี่ยเดือนละ 240 คน (อัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,500 บาทต่อครั้ง)
- ระยะเวลา 1 เดือน ผู้ประกันตนไม่ต้องสำรองจ่าย 18,000 บาทต่อคน (เฉลี่ยมารับบริการคนละ 12 ครั้งต่อเดือน) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4.32 ล้านบาท
- ระยะเวลาสูงสุด 3 เดือน ผู้ประกันตนไม่ต้องสำรองจ่าย 54,000 บาทต่อคน (เฉลี่ยมารับบริการคนละ 36 ครั้งต่อเดือน) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 12.96 ล้านบาท
9. กระทรวงแรงงานมอบของขวัญปีใหม่ เพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้ประกันตนที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง ทุพพลภาพ ทุกมาตรา (มาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40)
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 21 ธันวาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12712