WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2566 – 2569)

GOV 5

แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2566 – 2569)

          คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2566 – 2569) ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐเสนอดังนี้

          ความเป็นมา

          1. มาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ .. 2561 กำหนดให้คณะกรรมการฯ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ และมีผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นเลขานุการมีหน้าที่จัดทำแผนการคลังระยะปานกลาง เพื่อใช้เป็นแผนแม่บทหลักสำหรับการวางแผนการดำเนินการทางการเงินการคลังและงบประมาณของรัฐ รวมทั้งแผนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีและแผนการบริหารหนี้สาธารณะ โดยกำหนดให้แผนการคลังระยะปานกลางมีระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี และอย่างน้อยต้องประกอบด้วย (1) เป้าหมายและนโยบายการคลัง (2) สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ (3) สถานะและประมาณการการคลัง ซึ่งรวมถึงประมาณการรายได้ ประมาณการรายจ่าย ดุลการคลังและการจัดการกับดุลการคลังนั้น (4) สถานะหนี้สาธารณะของรัฐบาล และ (5) ภาระผูกพันทางการเงินการคลังของรัฐบาล

          2. การประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564 ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล ที่ประชุมได้มีมติรับรองร่างแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2566 – 2569) (แผนการคลังระยะปานกลางฯ) ตามที่ฝ่ายเลขานุการเสนอ

          สาระสำคัญของแผนการคลังระยะปานกลางฯ

          แผนการคลังระยะปานกลางฯ ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ ส่วนที่ 2 สถานะและประมาณการการคลัง และส่วนที่ 3 เป้าหมายและนโยบายการคลัง โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

 

EXIM One 720x90 C J

 

          1. สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ

          ในปี 2566 คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 3.2 – 4.2 (ค่ากลางร้อยละ 3.7) และ GDP Deflator อยู่ในช่วงร้อยละ 0.7 – 1.7 (ค่ากลางร้อยละ 1.2) สำหรับในปี 2567 คาดว่า GDP จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.9 – 3.9 (ค่ากลางร้อยละ 3.4) ขณะที่ในปี 2568 - 2569 คาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 2.8 – 3.8 (ค่ากลางร้อยละ 3.3) และ GDP Deflator อยู่ในช่วงร้อยละ 0.7 – 1.7 ในปี 2567 และเร่งขึ้นเป็นเฉลี่ยในช่วงร้อยละ 0.8 – 1.8 ในปี 2568 และ 2569

          2. สถานะและประมาณการการคลัง

                 2.1 ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2566 - 2569 เท่ากับ 2,490,000 2,560,000 2,640,000 และ 2,720,000 ล้านบาท ตามลำดับ

                 2.2 ประมาณการงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2566 – 2569 เท่ากับ3,185,000 3,270,000 3,363,000 และ 3,456,000 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งมีสมมติฐานที่สำคัญเช่น สัดส่วนงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นร้อยละ 2.0 – 3.5 ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้มีสัดส่วนร้อยละ 2.5 – 4.0 ของวงเงินงบประมาณ ค่าใช้จ่ายบุคลากรมีอัตราเพิ่มโดยเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 4.0 โดยใช้มาตรการให้หน่วยรับงบประมาณที่มีเงินรายได้นำมาสมทบ เป็นต้น

                 2.3 จากประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิและงบประมาณรายจ่ายดังกล่าวในปีงบประมาณ 2566 - 2569 รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณจำนวน 695,000 710,000 723,000และ 736,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.9 3.8 3.7 และ 3.6 ต่อ GDP ตามลำดับ

                 2.4 ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง สิ้นปีงบประมาณ 2564 มีจำนวน 9,337,543 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 58.15 ต่อ GDP และประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สำหรับปีงบประมาณ 2566 - 2569 เท่ากับร้อยละ 64.02 65.59 66.57 และ 67.15 ตามลำดับ

 

GC 720x100

 

          3. เป้าหมายและนโยบายการคลัง

          ในการดำเนินนโยบายการคลังในระยะปานกลาง รัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวผ่านการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล ภายใต้หลักการดำเนินนโยบายการคลังแบบต่อต้านวัฏจักรเศรษฐกิจ หรือ Counter-cyclical Fiscal Policy เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและสังคมจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ รวมถึงการดำเนินชีวิตของประชาชน และส่งผลต่อเนื่องถึงภาคการคลัง ทำให้เกิดภาระที่สะสมต่อภาคการคลังของไทย โดยที่สถานการณ์การแพร่ระบาดยังคงมีความไม่แน่นอนสูง อาจยังมีความเสี่ยงที่จะทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดกลับมารุนแรงได้อีก ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้ภาครัฐจำเป็นต้องดำเนินมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบเพิ่มเติมอีกในอนาคต นอกจากนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก (Global Megatrends) ที่จะส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ อาทิ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และที่สำคัญที่สุดแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งจะก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบในการดำเนินธุรกิจและการดำเนินชีวิตของประชาชน และจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งการจัดเก็บรายได้และการจัดสรรงบประมาณของภาครัฐ

          ภายใต้ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ข้างต้น ทำให้ภาคการคลังจะต้องมีการมุ่งเน้นในการเพิ่มศักยภาพทางการคลังทั้งทางด้านรายได้ รายจ่าย และหนี้สาธารณะ ควบคู่ไปกับการรักษาวินัยทางการคลัง เพื่อให้ภาคการคลังสามารถรองรับสถานการณ์หรือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยมีประมาณการสถานะการคลังในระยะปานกลางภายใต้สมมติฐานทางเศรษฐกิจ ปัจจุบัน ดังนี้

หน่วย : ล้านบาท

ปีงบประมาณ

2565

2566

2567

2568

2569

รายได้รัฐบาลสุทธิ

2,400,000

 

2,490,000

 

2,560,000

 

2,640,000

 

2,720,000

 

อัตราการเพิ่ม (ร้อยละ)

(10.3)

 

3.8

 

2.8

 

3.1

 

3.0

 

งบประมาณรายจ่าย

3,100,000

 

3,185,000

 

3,270,000

 

3,363,000

 

3,456,000

 

อัตราการเพิ่ม (ร้อยละ)

(5.7)

 

2.7

 

2.7

 

2.8

 

2.8

 

ดุลการคลัง

(700,000)

 

(695,000)

 

(710,000)

 

(723,000)

 

(736,000

 

ดุลการคลังต่อ GDP (ร้อยละ)

(4.1)

 

(3.9)

 

(3.8)

 

(3.7)

 

(3.6)

 

หนี้สาธารณะคงค้าง

10,439,774

 

11,215,983

 

12,019,157

 

12,760,250

 

13,462,558

 

หนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP (ร้อยละ)

62.69

 

64.02

 

65.59

 

66.57

 

67.15

 

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)

17,026,800

 

17,861,100

 

18,682,800

 

19,542,200

 

20,441,100

 

ที่มา : กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

 

TU720x100

 

          ทั้งนี้ ในระยะยาวเมื่อภาวะเศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพและสถานการณ์เอื้ออำนวยให้ภาครัฐสามารถเพิ่มศักยภาพทางการคลังทั้งทางด้านรายได้และรายจ่ายได้ เป้าหมายการคลังในระยะยาวควรกำหนดให้รัฐบาลปรับลดขนาดการขาดดุลลงและมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในที่สุด

          เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการคลังทั้งในระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาวดังกล่าวข้างต้น รัฐบาลจะต้องมุ่งบริหารจัดการเพื่อเพิ่มศักยภาพทางการคลัง ทั้งในด้านรายได้ รายจ่าย และหนี้สาธารณะควบคู่ไปกับการรักษาวินัยทางการคลัง ด้วยหลัก CARE ประกอบด้วย

                 3.1 Creating Fiscal Space หรือ การเพิ่มพื้นที่ทางการคลังอย่างระมัดระวังโดยการบริหารจัดการพื้นที่ทางการคลังหรือ Fiscal Space ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อรองรับการดำเนินนโยบายของรัฐบาลและความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยต้องคำนึงถึงกรอบวินัยทางการคลัง (Fiscal Discipline) ด้วยการรักษาระดับเครื่องชี้ทางการคลังต่างๆ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะพยายามรักษาระดับการขาดดุลงบประมาณต่อ GDP ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและควบคุมได้ในระยะปานกลาง

                 3.2 Assuring Debt Sustainability หรือ การบริหารจัดการหนี้อย่างมีภูมิคุ้มกันโดยการบริหารหนี้สาธารณะให้มีความเสี่ยงต่ำภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับการวางแผนการชำระหนี้ให้เหมาะสม และไม่เป็นภาระทางการคลังในระยะยาว

                 3.3 Revenue Recovering หรือ การฟื้นฟูการจัดเก็บรายได้ โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ พร้อมทั้งปรับปรุงโครงสร้างการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลเพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของเศรษฐกิจและการแข่งขันในปัจจุบัน

                 3.4 Expenditure Reprioritizing หรือ การปรับการจัดสรรงบประมาณ โดยการชะลอ ปรับลด หรือยกเลิกการดำเนินโครงการที่ไม่มีความจำเป็นเพื่อนำเงินงบประมาณดังกล่าวไปดำเนินภารกิจที่มีความสำคัญลำดับสูงและประชาชนได้รับประโยชน์โดยตรง รวมทั้งให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดทำงบประมาณให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน และให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายที่ต้องจัดสรรตามสิทธิ ตามกฎหมาย และตามข้อตกลงที่กำหนด

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 21 ธันวาคม 2564

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

A12708

 Click Donate Support Web

sme 720x100

BANPU 720x100QIC 720x100

ais 720x100NHA720x100

เจนเนอราลี่

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!