แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2566 – 2569)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 26 December 2021 21:55
- Hits: 6131
แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2566 – 2569)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2566 – 2569) ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐเสนอดังนี้
ความเป็นมา
1. มาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 กำหนดให้คณะกรรมการฯ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ และมีผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นเลขานุการมีหน้าที่จัดทำแผนการคลังระยะปานกลาง เพื่อใช้เป็นแผนแม่บทหลักสำหรับการวางแผนการดำเนินการทางการเงินการคลังและงบประมาณของรัฐ รวมทั้งแผนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีและแผนการบริหารหนี้สาธารณะ โดยกำหนดให้แผนการคลังระยะปานกลางมีระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี และอย่างน้อยต้องประกอบด้วย (1) เป้าหมายและนโยบายการคลัง (2) สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ (3) สถานะและประมาณการการคลัง ซึ่งรวมถึงประมาณการรายได้ ประมาณการรายจ่าย ดุลการคลังและการจัดการกับดุลการคลังนั้น (4) สถานะหนี้สาธารณะของรัฐบาล และ (5) ภาระผูกพันทางการเงินการคลังของรัฐบาล
2. การประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล ที่ประชุมได้มีมติรับรองร่างแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2566 – 2569) (แผนการคลังระยะปานกลางฯ) ตามที่ฝ่ายเลขานุการเสนอ
สาระสำคัญของแผนการคลังระยะปานกลางฯ
แผนการคลังระยะปานกลางฯ ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ ส่วนที่ 2 สถานะและประมาณการการคลัง และส่วนที่ 3 เป้าหมายและนโยบายการคลัง โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ
ในปี 2566 คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 3.2 – 4.2 (ค่ากลางร้อยละ 3.7) และ GDP Deflator อยู่ในช่วงร้อยละ 0.7 – 1.7 (ค่ากลางร้อยละ 1.2) สำหรับในปี 2567 คาดว่า GDP จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.9 – 3.9 (ค่ากลางร้อยละ 3.4) ขณะที่ในปี 2568 - 2569 คาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 2.8 – 3.8 (ค่ากลางร้อยละ 3.3) และ GDP Deflator อยู่ในช่วงร้อยละ 0.7 – 1.7 ในปี 2567 และเร่งขึ้นเป็นเฉลี่ยในช่วงร้อยละ 0.8 – 1.8 ในปี 2568 และ 2569
2. สถานะและประมาณการการคลัง
2.1 ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2566 - 2569 เท่ากับ 2,490,000 2,560,000 2,640,000 และ 2,720,000 ล้านบาท ตามลำดับ
2.2 ประมาณการงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2566 – 2569 เท่ากับ3,185,000 3,270,000 3,363,000 และ 3,456,000 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งมีสมมติฐานที่สำคัญเช่น สัดส่วนงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นร้อยละ 2.0 – 3.5 ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้มีสัดส่วนร้อยละ 2.5 – 4.0 ของวงเงินงบประมาณ ค่าใช้จ่ายบุคลากรมีอัตราเพิ่มโดยเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 4.0 โดยใช้มาตรการให้หน่วยรับงบประมาณที่มีเงินรายได้นำมาสมทบ เป็นต้น
2.3 จากประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิและงบประมาณรายจ่ายดังกล่าวในปีงบประมาณ 2566 - 2569 รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณจำนวน 695,000 710,000 723,000และ 736,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.9 3.8 3.7 และ 3.6 ต่อ GDP ตามลำดับ
2.4 ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 มีจำนวน 9,337,543 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 58.15 ต่อ GDP และประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สำหรับปีงบประมาณ 2566 - 2569 เท่ากับร้อยละ 64.02 65.59 66.57 และ 67.15 ตามลำดับ
3. เป้าหมายและนโยบายการคลัง
ในการดำเนินนโยบายการคลังในระยะปานกลาง รัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวผ่านการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล ภายใต้หลักการดำเนินนโยบายการคลังแบบต่อต้านวัฏจักรเศรษฐกิจ หรือ Counter-cyclical Fiscal Policy เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและสังคมจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ รวมถึงการดำเนินชีวิตของประชาชน และส่งผลต่อเนื่องถึงภาคการคลัง ทำให้เกิดภาระที่สะสมต่อภาคการคลังของไทย โดยที่สถานการณ์การแพร่ระบาดยังคงมีความไม่แน่นอนสูง อาจยังมีความเสี่ยงที่จะทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดกลับมารุนแรงได้อีก ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้ภาครัฐจำเป็นต้องดำเนินมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบเพิ่มเติมอีกในอนาคต นอกจากนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก (Global Megatrends) ที่จะส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ อาทิ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และที่สำคัญที่สุดแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งจะก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบในการดำเนินธุรกิจและการดำเนินชีวิตของประชาชน และจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งการจัดเก็บรายได้และการจัดสรรงบประมาณของภาครัฐ
ภายใต้ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ข้างต้น ทำให้ภาคการคลังจะต้องมีการมุ่งเน้นในการเพิ่มศักยภาพทางการคลังทั้งทางด้านรายได้ รายจ่าย และหนี้สาธารณะ ควบคู่ไปกับการรักษาวินัยทางการคลัง เพื่อให้ภาคการคลังสามารถรองรับสถานการณ์หรือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยมีประมาณการสถานะการคลังในระยะปานกลางภายใต้สมมติฐานทางเศรษฐกิจ ณ ปัจจุบัน ดังนี้
หน่วย : ล้านบาท
ปีงบประมาณ |
2565 |
2566 |
2567 |
2568 |
2569 |
|||||
รายได้รัฐบาลสุทธิ |
2,400,000 |
2,490,000 |
2,560,000 |
2,640,000 |
2,720,000 |
|||||
อัตราการเพิ่ม (ร้อยละ) |
(10.3) |
3.8 |
2.8 |
3.1 |
3.0 |
|||||
งบประมาณรายจ่าย |
3,100,000 |
3,185,000 |
3,270,000 |
3,363,000 |
3,456,000 |
|||||
อัตราการเพิ่ม (ร้อยละ) |
(5.7) |
2.7 |
2.7 |
2.8 |
2.8 |
|||||
ดุลการคลัง |
(700,000) |
(695,000) |
(710,000) |
(723,000) |
(736,000 |
|||||
ดุลการคลังต่อ GDP (ร้อยละ) |
(4.1) |
(3.9) |
(3.8) |
(3.7) |
(3.6) |
|||||
หนี้สาธารณะคงค้าง |
10,439,774 |
11,215,983 |
12,019,157 |
12,760,250 |
13,462,558 |
|||||
หนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP (ร้อยละ) |
62.69 |
64.02 |
65.59 |
66.57 |
67.15 |
|||||
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) |
17,026,800 |
17,861,100 |
18,682,800 |
19,542,200 |
20,441,100 |
ที่มา : กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ทั้งนี้ ในระยะยาวเมื่อภาวะเศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพและสถานการณ์เอื้ออำนวยให้ภาครัฐสามารถเพิ่มศักยภาพทางการคลังทั้งทางด้านรายได้และรายจ่ายได้ เป้าหมายการคลังในระยะยาวควรกำหนดให้รัฐบาลปรับลดขนาดการขาดดุลลงและมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในที่สุด
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการคลังทั้งในระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาวดังกล่าวข้างต้น รัฐบาลจะต้องมุ่งบริหารจัดการเพื่อเพิ่มศักยภาพทางการคลัง ทั้งในด้านรายได้ รายจ่าย และหนี้สาธารณะควบคู่ไปกับการรักษาวินัยทางการคลัง ด้วยหลัก CARE ประกอบด้วย
3.1 Creating Fiscal Space หรือ การเพิ่มพื้นที่ทางการคลังอย่างระมัดระวังโดยการบริหารจัดการพื้นที่ทางการคลังหรือ Fiscal Space ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อรองรับการดำเนินนโยบายของรัฐบาลและความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยต้องคำนึงถึงกรอบวินัยทางการคลัง (Fiscal Discipline) ด้วยการรักษาระดับเครื่องชี้ทางการคลังต่างๆ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะพยายามรักษาระดับการขาดดุลงบประมาณต่อ GDP ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและควบคุมได้ในระยะปานกลาง
3.2 Assuring Debt Sustainability หรือ การบริหารจัดการหนี้อย่างมีภูมิคุ้มกันโดยการบริหารหนี้สาธารณะให้มีความเสี่ยงต่ำภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับการวางแผนการชำระหนี้ให้เหมาะสม และไม่เป็นภาระทางการคลังในระยะยาว
3.3 Revenue Recovering หรือ การฟื้นฟูการจัดเก็บรายได้ โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ พร้อมทั้งปรับปรุงโครงสร้างการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลเพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของเศรษฐกิจและการแข่งขันในปัจจุบัน
3.4 Expenditure Reprioritizing หรือ การปรับการจัดสรรงบประมาณ โดยการชะลอ ปรับลด หรือยกเลิกการดำเนินโครงการที่ไม่มีความจำเป็นเพื่อนำเงินงบประมาณดังกล่าวไปดำเนินภารกิจที่มีความสำคัญลำดับสูงและประชาชนได้รับประโยชน์โดยตรง รวมทั้งให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดทำงบประมาณให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน และให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายที่ต้องจัดสรรตามสิทธิ ตามกฎหมาย และตามข้อตกลงที่กำหนด
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 21 ธันวาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12708