ผลการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ และการประชุมที่เกี่ยวข้องด้วยระบบ การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 26 December 2021 21:35
- Hits: 7305
ผลการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ และการประชุมที่เกี่ยวข้องด้วยระบบ การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงกลาโหม (กห.) เสนอผลการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN Defence Ministers’ Meeting Retreat: ADMM Retreat) และการประชุม ที่เกี่ยวข้อง ด้วยระบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งมีกระทรวงกลาโหม เนการาบรูไนดารุสซาลามเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุมฯ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
การประชุม/เรื่อง |
ผลการประชุม |
|
1. การประชุม ADMM Retreat |
1.1 รัฐมนตรีกลาโหมประเทศสมาชิกอาเซียนได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง ด้านความมั่นคงและขับเคลื่อนความร่วมมือด้านความมั่นคง ให้เกิดความต่อเนื่อง สอดคล้องกับพลวัตของสภาวะแวดล้อม ด้านความมั่นคงของภูมิภาค ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตรฯ) ได้กล่าวสนับสนุนการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายใต้บริบทของความปกติถัดไป และ ให้ตระหนักถึงภัยคุกคามแบบดั้งเดิมที่ยังคงมีอยู่ รวมทั้งผลักดันความร่วมมือในกรอบ ADMM ที่สำคัญ เช่น โครงการ ASEAN Our Eyes ความร่วมมือด้านความมั่นคงไซเบอร์และเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านเคมี ชีวภาพ และรังสี บทบาทของฝ่ายทหารอาเซียนในการสนับสนุนการบริหารจัดการชายแดนและการเป็นประธาน ร่วมสหรัฐอเมริกาในคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางทะเลในกรอบ การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา (ASEAN Defence Ministers’ Meeting Plus:ADMM-Plus) 1.2 กระทรวงกลาโหมเนการาบรูไนดารุสซาลามได้เสนอกรอบยุทธศาสตร์ การเตรียมความพร้อมสู่อนาคตของ ADMM เพื่อขอรับข้อคิดเห็นจากประเทศสมาชิกอาเซียน ก่อนจัดทำร่างยุทธศาสตร์ฯ สำหรับกำหนดทิศทางและแผนงานของ ADMM ในอนาคต ภายหลังแผนงานประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน 2025 สิ้นสุดลง และจะเสนอให้ที่ประชุมภายใต้กรอบ ADMM พิจารณาในปี 2565 ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตรฯ) ได้ให้ข้อเสนอแนะ ได้แก่ (1) สนับสนุนให้ประเมินผลความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรทางทหารอย่างคุ้มค่า (2) ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสาขาและ เสาความร่วมมือของอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพ และ (3) พัฒนาความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน 1.3 ที่ประชุม ADMM Retreat รับทราบความคืบหน้าของความร่วมมือในกรอบ ADMM และ ADMM-Plus ได้แก่ (1) การสมัครเข้าเป็นผู้สังเกตการณ์ในกิจกรรมของคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในกรอบ ADMM-Plus ของสหราชอาณาจักร แคนาดา และสาธารณรัฐฝรั่งเศส ตามมติของที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกลาโหมอาเซียน เมื่อปี 2562 และจะมีการหารือในปี 2565 เพื่อกำหนดการ เข้าร่วมกิจกรรมฯ ต่อไป และ (2) การพิจารณาจัดการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน+1 อย่างไม่เป็นทางการ กับสหพันธรัฐรัสเซีย และประเทศญี่ปุ่น จะดำเนินการในปี 2565 โดยให้ประเทศคู่เจรจาดังกล่าวยื่นความประสงค์ ต่อราชอาณาจักรกัมพูชาและประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ประเทศคู่เจรจาที่เกี่ยวข้องต่อไป |
|
2. การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน+1 อย่างไม่เป็นทางการ โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมฝ่ายไทย |
2.1 การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมสาธารณรัฐเกาหลีอย่างไม่เป็นทางการ โดยสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ยืนยันเจตนารมณ์ใน การขับเคลื่อนความร่วมมือด้านความมั่นคงกับอาเซียนภายใต้นโยบายมุ่งใต้ใหม่ และนโยบายมุ่งใต้พลัส และนำเสนอแผนงานความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างสาธารณรัฐเกาหลี-อาเซียน ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องในการร่วมกันขับเคลื่อนความร่วมมือและแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงของภูมิภาคภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ฝ่ายไทยได้ผลักดันการส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงไซเบอร์ และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ รวมทั้งสนับสนุนการจัดการประชุม United Nations Peacekeeping Ministerial ในเดือนธันวาคม 2564 ณ กรุงโซล เกาหลีใต้ 2.2 การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมเครือ รัฐออสเตรเลียอย่างไม่เป็นทางการ โดยยุทธศาสตร์ความมั่นคง 2020 ของเครือรัฐออสเตรเลีย มุ่งเน้นบทบาทที่สร้างสรรค์ สอดคล้องกับมุมมองอาเซียน ต่ออินโด-แปซิฟิก และเคารพหลักการความเป็นแกนกลางของอาเซียน ทั้งนี้ ฝ่ายไทยได้ผลักดันบทบาทของศูนย์แพทย์ทหารอาเซียนในกิจกรรมของคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ทหารในกรอบ ADMM-Plus ที่มีเครือรัฐออสเตรเลียและเนการาบรูไนดารุสซาลาม เป็นประธานร่วม และการส่งเสริมความร่วมมือ ด้านความมั่นคงไซเบอร์ รวมทั้งเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ |
|
3. การส่งมอบตำแหน่งประธานการประชุม ADMM ในปี 2565 |
กระทรวงกลาโหมเนการาบรูไนดารุสซาลาม ได้ส่งมอบตำแหน่งประธาน การประชุม ADMM ในปี 2565 ให้กับกระทรวงกลาโหมราชอาณาจักรกัมพูชา โดยรัฐมนตรีกลาโหมราชอาณาจักรกัมพูชาได้แสดงเจตนารมณ์ในการเสริมสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและสานต่อความร่วมมือด้านความมั่นคงของอาเซียนให้มีความเข้มแข็ง ภายใต้แนวคิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพื่อมิตรภาพ ด้านความมั่นคง |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 21 ธันวาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12706