เปิดร่างพ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ....มีทั้งสิ้น 38 มาตรา
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 19 November 2014 18:43
- Hits: 3623
(รายงาน) เปิดร่างพ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ....มีทั้งสิ้น 38 มาตรา
คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ....มีทั้งสิ้น 38 มาตรา โดยมีหมวดน่าสนใจคือ หมวด 2 ว่าด้วยการเสียภาษี และหมวด 3 ว่าด้วยการยื่นแบบและประเมินภาษี มีสาระสำคัญดังนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดกพ.ศ........"
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่
(1) มรดกที่เจ้ามรดกตายก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
(2) มรดกที่คู่สมรสของเจ้าของมรดกได้รับจากเจ้ามรดก
หมวด 2 การเสียภาษี
มาตรา11 ภายใต้บังคับมาตรา12 ให้บุคคลผู้ได้รับมรดกดังต่อไปนี้เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้
(1) บุคคลผู้มีสัญชาติไทย
(2) บุคคลผู้มิได้มีสัญชาติไทย แต่มีภูมิลำเนาหรือมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลาสามสิบปีติดต่อกันถึงวันที่มีสิทธิได้รับมรดก
(3) บุคคลผู้มิได้มีสัญชาติไทย แต่ได้รับมรดกอันเป็นทรัพย์สินที่มีอยู่ในประเทศไทย
ในกรณีที่ผู้ได้รับมรดกเป็นนิติบุคคล ให้ถือว่านิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทยหรือจัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายไทย หรือมีผู้มีสัญชาติไทยถือหุ้นเกินร้อยละห้าสิบของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว ในขณะมีสิทธิได้รับมรดกหรือ มีผู้มีสัญชาติไทยเป็นผู้มีอำนาจบริหารกิจการเกินกึ่งหนึ่งของคณะบุคคลซึ่งมีอำนาจบริหารกิจการทั้งหมด เป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทย
ในกรณีตาม (3) ถ้าในขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทรัพย์สินเป็นมรดกเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย แม้ภายหลังจะเปลี่ยนสภาพแต่อย่างใด ก็ให้ถือว่าเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย และผู้ได้รับมรดกนั้นยังมีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามมาตรา 12
มาตรา12 ผู้ได้รับมรดกจากเจ้ามรดกแต่ละราย ไม่ว่าจะได้รับมาในคราวเดียวหรือหลายคราว ถ้าแต่ละรายรวมกันมีมูลค่าเกินหน้าสิบล้านบาท ต้องเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกินห้าสิบล้านบาท
มูลค่ามรดกตามวรรคหนึ่ง หมายถึงมูลค่าของทรัพย์สินทั้งสิ้นที่ได้รับเป็นมรดกหักด้วยภาระหนี้สินอันตกทอดมาจากการรับมรดกนั้น
มาตรา13 บทบัญญัติในมาตรา12 ไม่ใช้บังคับแก่
(1) บุคคลผู้ได้รับมรดกที่เจ้ามรดกแสดงเจตนาหรือเห็นได้ว่ามีความประสงค์ให้ใช้มรดกนั้น เพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์
(2) หน่วยงานของรัฐและนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกิจการศาสนา กิจการศึกษาหรือกิจการสาธารณประโยชน์
(3) บุคคลหรือองค์การระหว่างประเทศตามข้อผูกพันที่ประเทศไทยมีอยู่ต่อองค์การสหประชาชาติหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือตามสัญญาหรือตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกันกับนานาประเทศ
ทั้งนี้ เฉพาะตามประเภทหรือรายชื่อที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยในกฎกระทรวงดังกล่าวจะกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีตรวจสอบติดตามไว้ด้วยก็ได้
มาตรา 14 มรดก ซึ่งต้องเสียภาษี ได้แก่
(1) กรณีตามมาตรา 11 (1) และ (2) ได้แก่ มรดกอันเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย และนอกประเทศไทย
(2) กรณีตามมาตรา11 (3) ได้แก่ มรดกอันเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย สังหาริมทรัพย์ใดเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทยให้เป็นไปตามกำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา15 การคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินให้ถือตามราคาหรือมูลค่าอันพึงมีในวันที่ได้รับทรัพย์สินนั้นเป็นมรดก ดังต่อไปนี้
(1) กรณีเป็นอสังหาริมทรัพย์ ให้ถือเอาตามราคาประเมินทุนทรัพย์ของอสังหาริมทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน
(2) กรณีเป็นหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ถือเอาราคาหลักทรัพย์นั้นในเวลาสิ้นสุดวันทำการของตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ได้รับมรดก
(3) กรณีอื่นให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่หลักเกณฑ์ดังกล่าวให้กำหนดเป็นการทั่วไปโดยไม่มีลักษณะเป็นการเฉพาะเจาะจง
ถ้าจำเป็นต้องคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กรมสรรพากรประกาศกำหนด
มาตรา16 ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีคำนวณและเสียภาษีในอัตราร้อยละสิบของมูลค่ามรดกในส่วนที่ต้องเสียภาษีตามมาตรา12
อัตราร้อยละสิบตามวรรคหนึ่งจะตราพระราชกฤษฎีกาลดลงตามที่เห็นสมควร โดยจะลดให้เป็นการทั่วไปหรือลดตามความสัมพันธ์ระหว่างเจ้ามรดกและผู้รับมรดกก็ได้
หมวด 3 การยื่นแบบ การชำระภาษี และการประเมินภาษี
มาตรา17 ภายใต้บังคับมาตรา23 ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษียื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีตามแบบที่อธิบดีกำหนด ภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันที่ได้รับมรดกที่เป็นเหตุให้มีหน้าที่เสียภาษีตามมาตรา12 วรรคหนึ่ง
การยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่นและชำระ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาแห่งใดแห่งหนึ่งหรือ ณ สถานที่อื่นใดตามที่อธิบดีกำหนด
เมื่อเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาได้รับแบบแสดงรายการภาษีแล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่มีการยื่นแบบแสดงรายการภาษี ในกรณีที่ผู้หน้าที่เสียภาษีต้องเสียภาษีเพิ่มและได้ชำระภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 22 มิให้คิดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม
เว้นแต่การต้องเสียภาษีเพิ่มนั้นเกิดจากรายการที่ผู้ยื่นมิได้แสดงไว้ในแบบแสดงรายการภาษีหรือแสดงไว้เป็นเท็จ
ระยะเวลาหนึ่งปีตามวรรคสาม เมื่อมีเหตุอันจำเป็นและสมควรที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อธิบดีจะอนุมัติให้ขยายระยะเวลาออกไปเป็นการเฉพาะกรณีก็ได้ แต่รวมแล้วต้องไม่เกินสามปี
มาตรา 18 ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีตายก่อนครบกำหนดเวลาตามที่มาตรา 17 วรรคหนึ่ง โดยยังมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษี ให้ผู้จัดการมรดกของผู้นั้นมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีพร้อมทั้งเงินเพิ่มตามมาตรา 31 แทนผู้ตายภายใน 150 วัน นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง โดยไม่ต้องเสียเบี้ยปรับ สำหรับเงินเพิ่มให้คำนวณนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาตามมาตร 17 วรรคหนึ่ง จนถึงวันที่ชำระภาษีครบถ้วน
ในกรณีที่มีผู้เสียภาษีตามเมื่อครบกำหนดเวลาตามมาตร 17 วรรคหนึ่งแล้ว โดยมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษี ให้ผู้จัดการมรดกของผู้นั้น มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี และชำระภาษีพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแทน โดยให้ดำเนินการภายใน 150 วันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง สำหรับเบี้ยปรับให้เสียหนึ่งเท่าของเงินภาษีที่ต้องชำระ เว้นแต่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีภายหลังกำหนดเวลาดังกล่าวให้เสียเบี้ยปรับ 2 เท่าของเงินภาษีที่ต้องชำระ สำหรับเงินเพิ่มให้คำนวณตั้งแต่วันที่ครบกำหนดเวลาตามาตรา 17 วรรคหนึ่ง จนถึงวันที่ชำระภาษีครบถ้วน
เงินเพิ่มตามวรรคหนึ่งและวรรคสองต้องไม่เกินเงินภาษีที่ต้องชำระ
ในกรณีตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ผู้มีสิทธิได้รับมรดกคนใดคนหนึ่งจะดำเนินการเองก็ได้ ภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง แล้วแต่กรณี
มาตรา 19 ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีถึงแก่ความตาย หากไม่มีการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกดำเนินการแทนตามมาตรา 18 ให้ทายาทซึ่งมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายมีหน้าที่ตามมาตร 18 และให้นำความในมาตรา 18 มาบังคับใช้โดยอนุโลม เว้นแต่ระยะเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษี ให้กระทำภายใน 150 วันนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลา 180 วัน
ในกรณีทายาทหลายคน ให้ทายาทตกลงมอบให้ทายาทคนหนึ่งเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี ถ้าไม่อาจตกลงกันได้ให้ทายาทคนใดคนหนึ่งยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อตั้งผู้จัดการมรดกดำเนินการต่อไป
เมื่อพ้นกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่งแล้ว หากไม่มีผู้ใดยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีตามาตรนี้ ให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีตามมาตรา 20 ได้
มาตรา 20 ภายใต้บังคับมาตรา 17 เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีเมื่อผู้มีหน้าที่เสียภาษีมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยให้มีอำนาจประเมินภาษีได้ภายในกำหนดเวลาสิ้นปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี
มาตรา 21 เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามมาตรา 17 มาตรา 18 มาตรา 19 มาตรา 20 หรือ มาตรา 24 ให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกผู้มีหน้าที่เสียภาษี ผู้แทน หรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ กับมีอำนาจสั่งบุคคลเหล่านั้นให้นำบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาตรวจสอบไต่สวนได้ หรือออกคำสั่งให้บุคคลดังกล่าว ตอบคำถามเป็นหนังสือ แต่ต้องให้มีเวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหมายหรือได้รับคำสั่ง
มาตรา 22 เมื่อเจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีแล้ว ให้แจ้งการเป็นภาษีนั้นเป็นหนังสือไปยังผู้มีหน้าที่เสียภาษี และให้ผู้นั้นชำระภาษีพร้อมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ถ้ามี ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง ในกรณีนี้ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินภาษีก็ได้
มาตรา 23 ผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะผ่อนชำระภาษีภายในเวลาไม่เกินห้าปีก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา และเมื่อได้ชำระภาษีครบถ้วนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังกล่าวแล้ว ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม แต่ในกรณีที่ผ่อนชำระภาษีเกินสองปี จะกำหนดให้ต้องเสียเงินเพิ่มบางส่วนตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวก็ได้
ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com