ผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 28
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 23 December 2021 00:11
- Hits: 9121
ผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 28
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอผลการประชุมรัฐมนตรีว่า การกระทรวงการคลังเอเปค (APEC Finance Ministers’ Meeting: APEC FMM) ครั้งที่ 28 และถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 28 (ถ้อยแถลงร่วมฯ) ผ่านระบบการประชุมทางไกลเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2564 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเข้าร่วมประชุม [คณะรัฐมนตรีมีมติ (19 ตุลาคม 2564) เห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 28 และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังร่วมรับรองถ้อยแถลงร่วมฯ] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากการดำเนินนโยบายเพื่อแก้ไขผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และจำนวนการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศคาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2564 จะขยายตัวที่ร้อยละ 5.9 และมีระดับหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ของโลกอยู่ที่ประมาณร้อยละ 100 อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคเอเปคจะต้องเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจในหลายมิติ เช่น ระดับการฟื้นตัวของแต่ละเขตเศรษฐกิจจากผลกระทบของ โควิด-19 การดำเนินนโยบายเพื่อรับมือในลักษณะที่ต่างกัน สภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานและความผันผวนของ ตลาดการเงิน
2. การรับมือกับโควิด-19 เพื่อการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนและครอบคลุม ที่ประชุมสนับสนุนให้ดำเนินนโยบายการเงิน การคลัง และการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง รวมถึงความร่วมมือพหุภาคีเพื่อรับมือกับผลกระทบของ โควิด-19 และก้าวไปสู่การฟื้นตัวอย่างสมดุล ยั่งยืน ทันท่วงที และครอบคลุมทุกมิติและภาคส่วน ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่า การกระทรวงการคลังได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับมาตรการในการรับมือโควิด-19 โดยระบุว่าประเทศไทย (ไทย) ได้ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ควบคู่กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านมาตรการการเงินและการคลัง เช่น โครงการให้เงินช่วยเหลือเยียวยา มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ มาตรการพักชำระหนี้ และการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายภายในประเทศ นอกจากนี้ ได้ชี้แจงแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ว่า ไทยให้ความสำคัญกับการรักษาสมดุลระหว่างการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นและการปฏิรูปโครงสร้างของประเทศในระยะยาว ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพของเศรษฐกิจภายในประเทศ เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ผ่านการส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ รวมทั้งการผลักดันโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ส่วนในระยะปานกลางถึงระยะยาว การดำเนินนโยบายการคลังจะมี ความท้าทายมากขึ้นในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ โดยเฉพาะการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากและการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ
3. การใช้นโยบายการคลังและการบริหารงบประมาณเพื่อรับมือกับความท้าทาย ที่ประชุมได้ เน้นย้ำบทบาทของการดำเนินนโยบายการคลังและการบริหารงบประมาณเพื่อรับมือกับโควิด-19 เนื่องจากเป็นปัจจัยช่วยรักษาระดับการจ้างงาน ระดับการบริโภค ความสามารถในการเข้าถึงบริการสาธารณะ และการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง อีกทั้งที่ประชุมได้ตระหนักถึงความโปร่งใสทางการคลังและหนี้สาธารณะ ประสิทธิภาพของการจัดสรรและใช้จ่ายงบประมาณ รวมถึงความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเห็นว่าสมาชิกเอเปคควรพิจารณาการดำเนินนโยบายการคลังอย่างเหมาะสมเพื่อรับมือกับความท้าทายในด้านต่างๆ ควบคู่กับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและเสริมสร้างเสถียรภาพทางการคลังอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการดำเนินนโยบาย การคลังเพื่อรับมือกับโควิด-19 โดยเน้นย้ำว่า ในช่วงก่อนที่จะเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ภาคการคลังของไทยมีความเข้มแข็ง มั่นคง และมีเสถียรภาพระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ในระดับที่สามารถรองรับการดำเนินนโยบายการคลังในภาวะวิกฤตได้ และในปัจจุบันภาคการคลังของไทยยังมีความมั่นคงและ มีเสถียรภาพ โดยรัฐบาลยังมีสภาพคล่องเพียงพอต่อการดำเนินนโยบายต่างๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ซึ่งแนวทางการเพิ่มศักยภาพทางการคลังจะดำเนินการผ่านหลัก 3Rs ประกอบด้วย (1) Reform หรือการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ (2) Reshape หรือการปรับเปลี่ยนการจัดสรรงบประมาณ และ (3) Resilience หรือการบริหารหนี้สาธารณะอย่างมีภูมิคุ้มกันและสามารถรองรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด อีกทั้งไทยได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อสนับสนุนให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนผ่านการสนับสนุนโครงการต่างๆ ที่ใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น เช่น มาตรการภาษีและการคลัง เพื่อร่วมผลักดันการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและ การออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติและ การแก้ไขปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ
4. ที่ประชุมได้รับรองแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการเซบูฉบับใหม่ ซึ่งได้นำปัจจัยแวดล้อมที่สำคัญมาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ ได้แก่ (1) วิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ. 2040 ซึ่งมุ่งเน้นปัจจัยขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจใน 3 มิติ ได้แก่ การค้าและการลงทุน นวัตกรรมและการใช้ประโยชน์จากดิจิทัล และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง สมดุล มั่นคง ยั่งยืน และครอบคลุม และ (2) มาตรการรองรับสถานการณ์ของโควิด-19
ทั้งนี้ การส่งมอบหน้าที่ประธานภายใต้กรอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค (APEC Finance Minister’s Process: APEC FMP) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่าไทยยินจะดีประสานต่อประเด็นริเริ่มของนิวซีแลนด์ในการเป็นเจ้าภาพเอเปคในปี 2565 โดยกรอบ APEC FMP จะให้ความสำคัญกับ การสร้างภูมิภาคเอเปคในบริบทโลกหลังโควิด-19 ที่มุ่งสู่การเป็นสังคมดิจิทัลและการเงินอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ. 2040 นอกจากนี้ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ไทยได้เตรียมการสำหรับการประชุมเอเปค อย่างเต็มรูปแบบควบคู่กับมาตรการทางสาธารณสุข และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกเอเปค องค์กรระหว่างประเทศ และภาคเอกชนในการดำเนินงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนภูมิภาคเอเปคสู่การเจริญเติบโต ที่เข้มแข็ง สมดุล มั่นคง ยั่งยืน และครอบคลุมต่อไป
A12705