ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 15 December 2021 10:40
- Hits: 10580
ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอว่า
1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ มาตรา 258 ข. ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน (1) บัญญัติให้มีการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินและการจัดทำบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดิน และเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน แต่ปรากฏว่าหลักเกณฑ์และวิธีการตามกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง พ.ศ. 2553 ที่ใช้บังคับในปัจจุบันยังไม่เอื้อต่อการนำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในขั้นตอนการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง ประกอบกับปัจจุบันได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก รวมทั้งรัฐบาลยังมีการใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing)
2. ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ได้กำหนดเพียงหลักเกณฑ์ให้กระบวนการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งสามารถนำไปใช้กับ กทม. ดังนั้น เพื่อให้กระบวนการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นกระบวนการยุติธรรมทางเลือกที่ใช้แก้ปัญหาให้แก่ประชาชนอย่างทันท่วงทีและสามารถประคับประคองปัญหาด้านเศรษฐกิจของประเทศ สำนักงาน ก.พ.ร. จึงได้แก้ไขร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่ สคก. ตรวจพิจารณาแล้วดังกล่าว เพื่อเพิ่มช่องทางให้กรมการปกครองและ กทม. สามารถนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้กับการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งได้ด้วย รวมทั้งแก้ไขความหมายของบทนิยามโดยตัดคำว่า “กิ่งอำเภอ” “ที่ว่าการอำเภอ” “ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ” เพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบการปกครองที่ปัจจุบันได้ยกเลิกแล้ว ดังนี้
ร่างกฎกระทรวงที่ สคก. ตรวจพิจารณาแล้ว |
ร่างกฎกระทรวงที่สำนักงาน ก.พ.ร. แก้ไข |
|
“ข้อ 2 ในกฎกระทรวงนี้ “ข้อพิพาท” หมายความว่า .... “อำเภอ” หมายความรวมถึง กิ่งอำเภอ และเขตของกรุงเทพมหานคร “ที่ว่าการอำเภอ” หมายความรวมถึง ที่ว่าการกิ่งอำเภอ และสำนักงานเขตของกรุงเทพมหานคร “นายอำเภอ” หมายความรวมถึง ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ และผู้อำนวยการเขตของกรุงเทพมหานคร ฯลฯ - ไม่มี |
“ข้อ 2 ในกฎกระทรวงนี้ - คงเดิม “อำเภอ” หมายความรวมถึง เขตของกรุงเทพมหานคร “ที่ว่าการอำเภอ” หมายความรวมถึง สำนักงานเขตของกรุงเทพมหานคร “นายอำเภอ” หมายความรวมถึง ผู้อำนวยการเขตของกรุงเทพมหานคร
ฯลฯ ข้อ 2 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 2/1 แห่งกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง พ.ศ. 2553 “ข้อ 2/1 เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนจะนำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้กับการดำเนินการตามกฎกระทรวงนี้ด้วยก็ได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กรมการปกครอง หรือกรุงเทพมหานครกำหนด แล้วแต่กรณี” |
3. ในคราวประชุม ก.พ.ร. ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2564 ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงตามข้อ 2. โดยให้ปรับถ้อยคำตามความเห็นของที่ประชุม แล้วเสนอร่างกฎกระทรวงฯ ให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาลงนามต่อไป
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
แก้ไขเพิ่มเติมฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง พ.ศ. 2553 โดยแก้ไขเพิ่มเติมความหมายของบทนิยามคำว่า “อำเภอ” “ที่ว่าการอำเภอ” “นายอำเภอ” ให้หมายความรวมถึงเขตของกรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตของกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการเขตของกรุงเทพมหานคร ตามลำดับ เพื่อให้กระบวนการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งสามารถนำไปใช้กับ กทม. และให้นำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในกระบวนการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งได้ด้วย
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 14 ธันวาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12466