ขออนุมัติแผนหลักการพัฒนา ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 15 December 2021 00:21
- Hits: 9623
ขออนุมัติแผนหลักการพัฒนา ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบแผนหลักการพัฒนา ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ รวม 5 เป้าประสงค์ ระยะเวลาดำเนินการ 11 ปี (พ.ศ. 2564 - 2574) รวมจำนวน 84 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 82,563.87 ล้านบาท โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแผนหลักการพัฒนาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบดำเนินการตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
2. มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) โดยกรมชลประทานจัดทำรายละเอียดการออกแบบ พร้อมทั้งแผนปฏิบัติการและงบประมาณให้ครบถ้วน แล้วเสนอต่อคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญภายใต้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ต่อไป
สำหรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินงานตามแผนงานและโครงการภายใต้แผนหลักการพัฒนา ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ เห็นควรให้ สทนช. ร่วมกับหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องพิจารณาจัดลำดับความสำคัญของโครงการ ความจำเป็นเร่งด่วน วิธีการดำเนินงาน และการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยคำนึงถึงความประหยัด ความคุ้มค่า ผลสัมฤทธิ์ และประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการดำเนินโครงการ รวมทั้งจัดเตรียมความพร้อมในทุกมิติ ตลอดจนความครอบคลุมของทุกแหล่งเงิน การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ และจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
สาระสำคัญของเรื่อง
สทนช. รายงานว่า
1. ข้อมูลพื้นฐาน
1.1 คลองแสนแสบถูกขุดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2380 มีความยาวตลอดสาย ประมาณ 74 กิโลมตร เริ่มจากสะพานผ่านฟ้าลีลาศไปทางทิศตะวันออกจนถึงสุดเขตกรุงเทพมหานคร เขตหนองจอก และเชื่อมกับคลองบางขนาก ซึ่งไหลไปลงแม่น้ำบางปะกงในเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยส่วนที่อยู่นอกเขตกรุงเทพมหานคร อยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราและรับผิดชอบโดยกรมชลประทาน มีความยาวประมาณ 26.5 กิโลมตร และมีความกว้างประมาณ 30 - 40 เมตร และส่วนที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร รับผิดชอบโดยสำนักการระบายน้ำ มีความยาวประมาณ 47.5 กิโลเมตร มีความกว้างประมาณ 20 - 30 เมตร และมีระดับขุดลอกเฉลี่ย -3.00 เมตร เทียบกับระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) รวมทั้งมีคลองสำคัญเชื่อมต่อ ความยาวประมาณ0.80 – 12.50 กิโลเมตร เช่น คลองสามเสน คลองลาดพร้าว คลองบางเตย คลองตัน เป็นต้น
1.2 ปัจจุบัน คลองแสนแสบและคลองสาขามีปัญหาน้ำเสีย ซึ่งเกิดจาก (1) กิจกรรมครัวเรือนหรือชุมชนที่มีบริเวณติดคลองแสนแสบและคลองสาขา (ร้อยละ 70 ของปริมาณน้ำเสียที่ปล่อยลงคลองแสนแสบและคลองสาขาทั้งหมด) (2) โรงงาน สถานประกอบการต่างๆ ที่จะต้องจัดระบบการระบายน้ำและระบบบำบัดน้ำเสียให้มีคุณภาพมาตรฐานก่อนระบายสู่แหล่งรองรับน้ำทิ้ง (ร้อยละ 29) และ (3) การเดินเรือและการสะสมของตะกอนท้องคลอง (ร้อยละ 1) โดยจากการประเมินและตรวจสอบคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบ พบว่า ในปี 2563 ปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้นทั้งหมดในพื้นที่ที่คาดว่าจะระบายลงคลองแสนแสบโดยไม่ผ่านการบำบัด อยู่ที่ 807,672ลูกบาศก์เมตรต่อวัน คิดเป็นค่าความสกปรกในรูปบีโอดีที่เกิดขึ้น (BOD loading)* เท่ากับ 64,614 กิโลกรัมต่อวัน มีค่าเฉลี่ยความสกปรกในรูปบีโอดี (BOD)* ในพื้นที่ต่างๆ ระหว่าง 6.9 มิลลิกรัมต่อลิตร - 12.2 มิลลิกรัมต่อลิตร โดยคลองสาขาต่างๆ มีความสกปรกมาก เช่น คลองลาดพร้าวมีค่าความสกปรกในรูปบีโอดีที่เกิดขึ้น (BOD loading)* 9,832 กิโลกรัมต่อวัน และมีค่าเฉลี่ยความสกปรกในรูปบีโอดี (BOD)* อยู่ที่ 18 มิลลิกรัมต่อลิตร
2. การดำเนินการที่ผ่านมา
2.1 กนช. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหาร พัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูคลองแสนแสบ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธาน เพื่อกำกับติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563
2.2 ในคราวประชุม กนช. ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการพัฒนา ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ จำนวน 84 โครงการ วงเงิน 79,955.46 ล้านบาท โดยมอบหมายให้ กทม. เสนอแผนปฏิบัติการดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามความเห็นของคณะอนุกรรมการฯ และข้อสั่งการของประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
2.3 ผลการประชุมคณะอนุกรรมการบริหาร พัฒนา อนุรักษ์และฟื้นฟูคลองแสนแสบ ครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 สรุปได้ ดังนี้
2.3.1 ผู้แทน สศช. ให้ความเห็นต่อที่ประชุมว่าจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 หากแผนปฏิบัติการฯ ผ่านความเห็นชอบจาก กนช. ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานสามารถดำเนินการตามขั้นตอนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไปได้ โดยไม่ต้องนำกลับมาเสนอ สศช. อีกครั้ง
2.3.2 ที่ประชุมมีมติเห็นควรเปลี่ยนชื่อ “แผนปฏิบัติการพัฒนา ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ” เป็น “แผนหลักการพัฒนา ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ” และมอบหมายให้ สทนช. เสนอต่อ กนช. และคณะรัฐมนตรี และเห็นควรให้หน่วยงานปรับแผนดังกล่าวโดยด่วนเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ซึ่ง สทนช. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังกล่าวแล้ว
2.4 ในคราวประชุม กนช. ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบแผนหลักการพัฒนา ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ จำนวน 84 โครงการ วงเงิน 82,563.87 ล้านบาท และเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามความเห็นของฝ่ายเลขานุการ กนช. ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ดังนี้
2.4.1 เห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการพัฒนาปรับปรุง พื้นฟูคลองแสนแสบตามผลการศึกษาการจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำบางปะกง
2.4.2 เห็นควรให้ กทม. และกรมชลประทานพิจารณาการปรับปรุงคลองแสนแสบและคลองบางขนากให้สอดคล้องกับผลการศึกษาการจัดทำผังน้ำแผนหลักการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง พร้อมทั้งออกแบบองค์ประกอบให้ครบถ้วน (แผนปฏิบัติการและงบประมาณ) และเสนอผ่านคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญพิจารณาองค์ประกอบให้สมบูรณ์ก่อนเสนอ กนช. ต่อไป
2.4.3 เห็นควรให้กรมชลประทานและจังหวัดฉะเชิงเทราดำเนินการกำจัดผักตบชวาโดยใช้งบดำเนินงานของหน่วยงาน
[สทนช. แจ้งอย่างไม่เป็นทางการว่า การดำเนินการตามความเห็นของฝ่ายเลขานุการ กนช. (ตามข้อ 2.4.1 – 2.4.3) เป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ สทนช. ซึ่ง สทนช. จะได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป]
3. สาระสำคัญของแผนหลักการพัฒนา ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ
3.1 วิสัยทัศน์ : เพื่อให้คลองแสนแสบกลับมามีระบบนิเวศอยู่ในเกณฑ์ดี
3.2 ระยะเวลาดำเนินการ : แบ่งผลสัมฤทธิ์ออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน (ปี พ.ศ. 2564) ระยะกลาง (ปี พ.ศ. 2565 - 2570) และระยะยาว (ปี พ.ศ. 2571 – 2574)
3.3 งบประมาณจำแนกตามหน่วยงานรับผิดชอบ ระยะเวลาดำเนินการ และแหล่งที่มาของงบประมาณ
หน่วยงาน รับผิดชอบ |
จำนวนโครงการ |
ระยะเร่งด่วน (2564) |
ระยะกลาง (2565 - 2570) |
ระยะยาว (2571 - 2574) |
รวม |
กทม. |
30 |
1,904.42 |
42,066.05 |
28,792.00 |
72,762.47 |
กรมชลประทาน |
3 |
226.99 |
7,541.01 |
- |
7,768.00 |
จังหวัดฉะเชิงเทรา /องค์การจัดการน้ำเสีย |
45 |
0.18 |
723.55 |
1,254.00 |
1,977.73 |
- จังหวัดฉะเชิงเทรา |
18 |
0.18 |
11.49 |
- |
11.67 |
- องค์การจัดการน้ำเสีย |
27 |
- |
712.06 |
1,254.00 |
1,966.06 |
กรมเจ้าท่า |
2 |
38.32 |
- |
- |
38.32 |
กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม |
2 |
1.00 |
16.35 |
- |
17.35 |
กรมโรงงานอุตสาหกรรม |
1 |
ใช้งบดำเนินงาน |
|||
กรมควบคุมมลพิษ |
1 |
ใช้งบดำเนินงาน |
|||
รวม |
84 |
2,170.91 |
50,346.96 |
30,046.00 |
82,563.87 |
งบประมาณทั้งสิ้น 82,563.87 ล้านบาท แบ่งเป็น (1) เงินงบประมาณแผ่นดิน 67,205.37 ล้านบาท (ร้อยละ 81.40) (2) เงินงบประมาณของ กทม. 2,890.50 ล้านบาท (ร้อยละ 3.50) และ (3) เงินจากเอกชนร่วมลงทุน 12,468.00 ล้านบาท (ร้อยละ 15.10) |
3.4 เป้าประสงค์ โครงการ งบประมาณ และหน่วยงานรับผิดชอบ : 5 เป้าประสงค์ โดยประกอบด้วยโครงการ จำนวน 84 โครงการ วงเงิน 82,563.87 ล้านบาท รับผิดชอบโดย 8 หน่วยงาน ดังนี้
โครงการ |
วงเงิน |
หน่วยงานรับผิดชอบ |
เป้าประสงค์ที่ 1 การเสริมสร้างความปลอดภัยในการสัญจรทางน้ำของประชาชน |
||
10 โครงการ เช่น (1) โครงการเดินเรือในคลองแสนแสบส่วนต่อขยายระยะทาง 10.50 กิโลเมตร วงเงิน 130 ล้านบาท (2) งานต่อเรือไฟฟ้า 12 ลำ วงเงิน 90.6 ล้านบาท เป็นต้น |
355.84 ล้านบาท |
กทม. กรมเจ้าท่า และจังหวัดฉะเชิงเทรา |
เป้าประสงค์ที่ 2 การปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์บริเวณคลองแสนแสบ |
||
14 โครงการ เช่น (1) โครงการปรับภูมิทัศน์บริเวณคลองแสนแสบ โดยใช้งบดำเนินงาน (2) โครงการก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กข้ามคลองแสนแสบ รวม 4 โครงการ วงเงินรวม 9.59 ล้านบาท เป็นต้น |
10.06 ล้านบาท |
กทม. และจังหวัดฉะเชิงเทรา |
เป้าประสงค์ที่ 3 การแก้ไขปัญหามลภาวะและคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบ |
||
44 โครงการ เช่น (1) การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางน้ำ โดยใช้งบดำเนินงาน (2) โครงการก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสีย ของ กทม. รวม 3 โครงการ วงเงิน 2,436 ล้านบาท (3) โครงการก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสีย โครงการบำบัดน้ำเสีย และโครงการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย ของ กทม. รวม 10 โครงการ บำบัดน้ำเสียได้รวม 1,267,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน วงเงิน 65,435 ล้านบาท เป็นต้น |
69,837.06 ล้านบาท |
กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กทม. องค์การจัดการน้ำเสีย และจังหวัดฉะเชิงเทรา |
เป้าประสงค์ที่ 4 การป้องกันปราบปราม การบุกรุกทำลายทรัพยากรในคลองแสนแสบ |
||
1 โครงการ ได้แก่ การสำรวจสิ่งก่อสร้างหรืออาคารต่างๆ ที่รุกล้ำลำคลองแสนแสบและคลองสาขา |
ใช้งบดำเนินงาน |
กทม. |
เป้าประสงค์ที่ 5 การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในคลองแสนแสบ |
||
15 โครงการ เช่น (1) การปรับปรุงคลองบางขนาก ระยะทาง 25.135 กิโลเมตร อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา กิจกรรมก่อสร้างกำแพงกันดิน 2 ฝั่ง พร้อมขุดลอก ระยะทาง 25.135 กิโลเมตร วงเงิน 7,300 ล้านบาท (2) โครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก พร้อมระบบรวบรวมน้ำเสียคลองแสนแสบจากบริเวณประตูระบายน้ำมีนบุรี ถึงบริเวณประตูระบายน้ำหนองจอก วงเงิน 1,799.90ล้านบาท เป็นต้น |
12,360.91 ล้านบาท |
กทม. กรมชลประทาน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และจังหวัดฉะเชิงเทรา |
รวม 5 เป้าประสงค์ |
||
84 โครงการ |
82,563.87 ล้านบาท |
8 หน่วยงาน ได้แก่ กทม. กรมชลประทาน จังหวัดฉะเชิงเทรา องค์การจัดการน้ำเสีย กรมเจ้าท่า กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ และกรมโรงงานอุตสาหกรรม |
3.5 สรุปผลสัมฤทธิ์รวม
3.5.1 มีการพัฒนาระบบขนส่งและความปลอดภัยทางน้ำโดยมีท่าเทียบเรือเพิ่มขึ้นครอบคลุมคลองแสนแสบในกรุงเทพมหานครทั้งสาย โดยใช้เรือไฟฟ้าในการสัญจร รองรับการใช้บริการ 800 – 1,000 คนต่อวัน พร้อมติดตั้งกล้องวงจรปิดในท่าเรือคลองแสนแสบ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของผู้โดยสาร
3.5.2 มีการแก้ไขปัญหามลภาวะและคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบอย่างครบวงจร ทั้งด้านการบังคับใช้กฎหมายกับโรงงาน และอาคารประเภทต่างๆ พร้อมมีระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียรวม 39 แห่ง รองรับการบำบัดน้ำเสียในคลองแสนแสบได้ 1,364,525 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
3.5.3 มีการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในคลองแสนแสบ ได้แก่
(1) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีอุโมงค์ระบายน้ำสามารถเร่งการระบายน้ำได้ 30 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และเขื่อนป้องกันตลิ่ง 33.32 กิโลเมตร ช่วยเพิ่มพื้นที่ที่ได้รับการป้องกันน้ำท่วม 96,875 ไร่
(2) ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา มีสถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ เครื่องสูบน้ำและปรับปรุงคลอง ช่วยให้คลองระบายน้ำได้ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ช่วยเพิ่มพื้นที่ที่ได้รับการป้องกันน้ำท่วม 15,625 ไร่
__________________
* บีโอดี (Biochemical Oxygen Demand : BOD) คือ ค่าปริมาณออกซิเจนที่จุลินทรีย์ต้องใช้ในการย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสียภายใต้สภาวะที่มีออกซิเจน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งในการบ่งบอกมลพิษในน้ำที่มาจากสารอินทรีย์โดยมักแสดงในหน่วยมิลลิกรัมของออกซิเจนที่ต้องใช้ต่อน้ำหนึ่งลิตร ภายใต้สภาวะมาตรฐานของการวิเคราะห์ที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 5 วัน โดยน้ำที่มีค่าบีโอดีสูงมากแสดงว่ามีสารอินทรีย์อยู่มากและต้องใช้ออกซิเจนเพื่อย่อยสลายสารอินทรีย์ดังกล่าวมาก แหล่งน้ำที่บริสุทธิ์มักมีค่าบีโอดีต่ำกว่า 1 มิลลิกรัมต่อลิตร แหล่งน้ำที่มีมลพิษปานกลางจะมีค่าบีโอดีอยู่ที่ 2 - 8 มิลลิกรัมต่อลิตร แหล่งน้ำที่มีมลพิษอย่างรุนแรงจะมีค่าบีโอดีมากกว่า 8 มิลลิกรัมต่อลิตร
บีโอดีที่เกิดขึ้น (BOD loading) หรือค่าภาระอินทรีย์ คือ ปริมาณบีโอดีรวมที่เกิดขึ้นจากน้ำเสียทั้งหมด ซึ่งบ่งบอกภาระในการบำบัดน้ำเสียทั้งหมดของระบบบำบัดน้ำเสีย โดยมักแสดงในหน่วยกิโลกรัมของบีโอดีต่อวัน คำนวณจากการนำบีโอดี (มิลลิกรัมต่อลิตร) คูณด้วยปริมาณน้ำเสียต่อวัน (ลิตร)
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 14 ธันวาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12459