ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 14 December 2021 23:38
- Hits: 9330
ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2564
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เสนอผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 (นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ) ซึ่งที่ประชุมฯ ได้มีมติรับทราบและพิจารณาผลการดำเนินงานในเรื่องต่างๆ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
เรื่อง |
ข้อสั่งการของประธาน คทช./ มติ คทช. |
|
1. เรื่องเพื่อทราบ จำนวน 2 เรื่อง |
||
1.1 คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้ คทช. (เพิ่มเติม) เพื่อดำเนินการพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของบุคคลในเขตที่ดินของรัฐ 2 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการพิสูจน์สิทธิในที่ดินของรัฐจังหวัด (คพร. จังหวัด) และคณะอนุกรรมการอ่านภาพถ่ายทางอากาศ |
ข้อสั่งการของประธาน :คณะอนุกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นใหม่คณะที่ 1 เป็นไปตามอำนาจหน้าที่เดิมที่มีอยู่แล้ว สำหรับคณะที่ 2 มีความสำคัญในการจัดทำฐานข้อมูล Big Data ทั้งประเทศขึ้นมา เนื่องจากมีภาพถ่ายทางอากาศหรือภาพถ่ายดาวเทียมอยู่แล้ว มติ คทช. : รับทราบคำสั่ง คทช. และข้อสั่งการของประธานฯ |
|
1.2 ผลการดำเนินงานของฝ่ายเลขานุการ คทช. และคณะอนุกรรมการภายใต้ คทช. ดังนี้ 1.2.1 ผลการดำเนินงานของฝ่ายเลขานุการ คทช. เช่น (1) ผลการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558-2564 โดยคณะอนุกรรมการจัดหาที่ดินกำหนดพื้นที่เป้าหมาย 1,442 พื้นที่ 70 จังหวัด ซึ่งได้ออกหนังสืออนุญาตแล้ว 297 พื้นที่ และ (2) การดำเนินงานตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม เรื่อง การสร้างมูลค่าให้กับที่ดินที่รัฐจัดให้กับประชาชน พบว่า ทุกโครงการดำเนินการตามแผนขับเคลื่อนกิจกรรมปฏิรูปประเทศฯ ที่กำหนดไว้ และ (3) การจัดทำประเด็นยุทธศาสตร์การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566-2570) รวม 5 ประเด็น 1.2.2 ผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการภายใต้ คทช. เช่น (1) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558-2563 คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดินกำหนดพื้นที่เป้าหมาย 987 พื้นที่ 71 จังหวัด และมีแผนการดำเนินงานปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กำหนดพื้นที่เป้าหมาย 455 พื้นที่ 58 จังหวัด และ (2) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558-2564 ได้จัดราษฎรเข้าครอบครองทำประโยชน์ 302 พื้นที่ 68,453 ราย 83,931 แปลง |
ข้อสั่งการของประธาน : ให้มีการสรุปให้เห็นว่าตั้งแต่ก่อนช่วงปี 2558 จนถึงปัจจุบันได้มีผลการดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง เพื่อให้ประชาชนได้เห็นผลการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลว่าสามารถดำเนินการได้จริง และสำหรับแผนการดำเนินงานระยะต่อไปให้นำผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมารวบรวมไว้ด้วยและให้พิจารณาให้ความสำคัญกับการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งควรนำแนวคิดตามรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยในรูปแบบใหม่มาใช้ประกอบการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ ส่วนเรื่องการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนในการดำรงชีวิตเป็นธนาคารอาหารให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) สานต่อการดำเนินการต่อไป มติ คทช. : รับทราบผลการดำเนินงานฯ รวมทั้งข้อสั่งการของประธานฯ และให้ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป |
|
2. เรื่องเพื่อพิจารณา จำนวน 4 เรื่อง |
||
2.1 ร่างพระราชบัญญัติสถาบันบริหารจัดการที่ดินและกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน พ.ศ. .... 2.1.1 สถาบันบริหารจัดการที่ดินและการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมที่ยั่งยืน (สบกด.) เป็นหน่วยงานของรัฐในรูปแบบองค์การมหาชน ทำหน้าที่ลดความเหลื่อมล้ำด้านที่ดินแก้ไขปัญหาที่ดินของประเทศในรูปแบบใหม่ โดยการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน สนับสนุนให้เกษตรกรและผู้ยากจนได้มีที่ดินทำกินหรือมีที่ดินที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยและที่ดินที่ใช้ร่วมกันเพื่อประโยชน์ของชุมชน โดย สบกด. จะดำเนินงานภายใต้นโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรดินและที่ดินของประเทศของ คทช. 2.1.2 ร่างพระราชบัญญัติฯ ผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการนโยบาย แนวทาง และมาตรการการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน และคณะอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมายการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินด้วยแล้ว และสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) (บจธ.) ได้จัดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และจัดทำเอกสารประกอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นของกฎหมายแล้ว |
มติ คทช. : เห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติฯ และให้ บจธ. เสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีรวมทั้งรับข้อสังเกตของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเกี่ยวกับเรื่องเงินทุนในการดำเนินงาน ซึ่งหากมีความจำเป็นจะต้องบริหารงานในลักษณะเงินทุนหมุนเวียนหรือกองทุนหมุนเวียน ควรกำหนดไว้ในร่างพระราชบัญญัติฯ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง (กค.) ก่อนไปพิจารณาต่อไป |
|
2.2 ร่างแผนพัฒนาศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศที่ดินและทรัพยากรดิน พ.ศ. 2565-2570 เพื่อให้ สคทช. เป็นองค์กรที่มีสมรรถนะสูงในการขับเคลื่อนนโยบายด้านที่ดินและทรัพยากรดิน สนับสนุนการดำเนินงานของ คทช. ภายใต้หลักการ อนุรักษ์ รักษาสมดุลการใช้ประโยชน์สูงสุด ทั่วถึงและเป็นธรรม มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ (1) การบูรณาการแบบรวมศูนย์ (2) การพัฒนานวัตกรรมและบุคลากรดิจิทัล (3) การส้รางความร่วมมือและเครือข่าย (4) การพัฒนาและวางรากฐานเทคโนโลยี และ (5) การขับเคลื่อนธรรมาภิบาลดิจิทัลที่ดี ทั้งนี้ การดำเนินงานระยะที่ 1 (พ.ศ. 2565-2566) ของแผนพัฒนาฯ สคทช. จะขอรับการสนับสนุนงบประมาณงบกลางประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และในปีถัดไปจะดำเนินการจัดทำคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามปกติต่อไป |
มติ คทช. : เห็นชอบร่างแผนฯ เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานของศูนย์เทคโนโลยีฯ ของ สคทช. และเห็นชอบการขอรับการสนับสนุนงบกลางประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เพื่อเร่งดำเนินการตามแผนในระยะที่ 1 ต่อไป |
|
2.3 การปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการมาตราส่วน 1:4000 (One Map) และแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐของพื้นที่กลุ่มที่ 1 จำนวน 11 จังหวัด (จังหวัดนนทบุรี นครปฐม อ่างทอง สิงห์บุรี สมุทรสงคราม กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรสาคร และสุพรรณบุรี) 2.3.1 เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2564 คณะอนุกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐฯ ได้พิจารณาผลการปรับปรุง One Map และข้อเสนอแนะ/แนวทางการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่รับผิดชอบที่ดินของรัฐ ซึ่งอาจมีผลกระทบกับประชาชนที่อยู่อาศัยในที่ดินของรัฐแต่ละประเภทที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างตรวจสอบและปรับปรุง One Map ของพื้นที่ 11 จังหวัด กลุ่มที่ 2 ต่อไป 2.3.2 ข้อเสนอแนะและแนวทางแก้ไขปัญหา เช่น (1) กรณีเอกชนยกที่ดินหรืออุทิศที่ดินให้แก่รัฐ กรมธนารักษ์จะให้เอกชนโอนกรรมสิทธิ์ให้กับ กค. กรณีที่ยังมีข้อพิพาทอยู่ระหว่างเอกชนกับกรมธนารักษ์ (2) กรณีประกาศเขตฯ หลังปี 2535 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เสนอว่า ให้กรมที่ดินตรวจสอบพิสูจน์สิทธิการได้มาของแปลงที่ดินว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และ (3) การตรวจพิสูจน์สิทธิการได้มาของแปลงที่ดิน |
มติ คทช. : เห็นชอบการปรับปรุง One Map และข้อเสนอแนะ/แนวทางการแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐของพื้นที่กลุ่มที่ 1 จำนวน 11 จังหวัด และให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในการรับรองเส้นแนวเขตที่ดินของรัฐต่อไป |
|
2.4 การป้องกันและตรวจสอบการบุกรุกที่ดินของรัฐและแนวทางการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ทำการเกษตรในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ 2.4.1 ข้อมูลการทำเกษตรในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ จากหน่วยงานต่างๆ เช่น (1) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มีเกษตรกรพืชไร่/พืชสวน ประมาณ 34,546 ราย (แปลง) ที่ไม่ยินยอมเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดิน ทั้งนี้ เป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเนื้อที่ประมาณ 1.18 ล้านไร่ (2) ทส. โดยกรมป่าไม้อยู่ระหว่างสำรวจข้อมูลการครอบครองที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เนื้อที่ประมาณ 12.50 ล้านไร่ 19,576 หมู่บ้าน (3) กระทรวงมหาดไทย โดยกรมที่ดินมีเกษตรกรที่ทำพืชไร่/พืชสวนประมาณ 32,941 ราย มีที่สาธารณประโยชน์เนื้อที่ประมาณ 434,127 ไร่ และมีแนวโน้มการบุกรุกเพิ่มขึ้น เนื่องจากราษฎรไม่มีที่ดินทำกินและอยู่อาศัย 2.4.2 แนวทางการแก้ไขปัญหาการทำเกษตรในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ได้แก่ (1) กรณีการป้องกันการบุกรุกที่ดินของรัฐเพื่อทำการเกษตร เช่น กำชับผู้มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาตามกฎหมายในการควบคุมกำกับดูแลและปรับปรุง One Map (2) การทำการเกษตรในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิหรือไม่ได้รับอนุญาต เช่น นำที่ดินของรัฐที่ถูกบุกรุกเข้าสู่กระบวนการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน และรังวัดออก/ตรวจสอบหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่ดินอันเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน และ (3) การบริหารจัดการการพัฒนาพื้นที่ และผลผลิตทางการเกษตร (ภายหลังจากการจัดที่ดินหรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายแล้ว) เช่น ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ พัฒนาปัจจัยพื้นฐานและจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร |
มติ คทช. : เห็นชอบข้อมูลจำนวนเกษตรกร ชนิดของพืชประเภทและจำนวนของพื้นที่ที่ถูกบุกรุก และแนวโน้มการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของการบุกรุก ตลอดจนแนวทางการแก้ไขปัญหาฯ และให้ สคทช. นำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 14 ธันวาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12455