รายงานสถานการณ์เพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็ก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 14 December 2021 23:03
- Hits: 9559
รายงานสถานการณ์เพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็ก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอรายงานสถานการณ์เพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็ก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตามมติคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 [คณะกรรมการระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย เป็นคณะกรรมการที่แต่งตั้งตามมติคณะรัฐมนตรี (22 ตุลาคม 2562) มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับ ดูแล การดำเนินงานให้เป็นไปตามนโยบายและแผนปฏิบัติการตามแผนระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย และนำเสนอสถานการณ์และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเป็นประจำทุกปี หรือเมื่อมีความจำเป็นเร่งด่วน] ทั้งนี้ การดำเนินการเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามพันธกรณีที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 182 ว่าด้วยการห้ามและการดำเนินการโดยทันทีเพื่อขจัดรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการใช้แรงงานเด็ก เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2544 ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. สถานการณ์การใช้แรงงานเด็กทั่วโลก องค์การแรงงานระหว่างประเทศได้จัดทำรายงานประมาณการและแนวโน้มการใช้แรงงานเด็กทั่วโลก โดยการสำรวจประจำปี 2563 พบว่า เด็กทำงานอายุ 5-17 ปี มีจำนวน 222.09 ล้านคน เข้าข่ายเป็นแรงงานเด็ก 160 ล้านคน และแรงงานเด็กที่ทำงานอันตราย 79 ล้านคน เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2559 พบว่า แรงงานเด็กเพิ่มขึ้น 8.4 ล้านคน และเด็กทำงานอันตรายเพิ่มขึ้น 6.5 ล้านคน ทั้งนี้ ผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ จะส่งผลให้เด็กทั่วโลกอีก 9 ล้านคน มีความเสี่ยงที่จะถูกผลักให้เป็นแรงงานเด็กภายในปี 2565 ดังนั้น แต่ละประเทศต้องมีระบบการคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอเพื่อช่วยเหลือเด็กที่เป็นแรงงานจากอันตรายทั้งทางร่างกายและจิตใจ
2. สถานการณ์เด็กทำงานในประเทศไทย โครงการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรในช่วงเดือนกรกฎาคม - กันยายน 2563 สำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า เด็กอายุ 15-17 ปี มีจำนวน 2.56 ล้านคน เป็นเด็กทำงาน 184,648 คน โดยเด็กส่วนใหญ่จะทำงานอย่างเดียวโดยไม่ได้เรียนหนังสือและทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรม กิจการขายส่ง ขายปลีก ซ่อมยานยนต์ ก่อสร้าง กิจการโรงแรมและบริการอาหาร และการผลิต
3. สถานการณ์การใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 มีการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย จำนวน 3,188 คน โดยพบว่าการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการผลิตหรือค้ายาเสพติดมีมากที่สุด จำนวน 3,070 คน รองลงมาคือ การกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการใช้ จัดหา หรือเสนอเด็กเพื่อการค้าประเวณี จำนวน 103 คน การให้เด็กทำงานที่มีแนวโน้มจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ความปลอดภัยหรือศีลธรรมของเด็ก จำนวน 14 คน และการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้แรงงานเด็กทุกรูปแบบของการใช้ทาส หรือแนวปฏิบัติที่คล้ายกับการใช้ทาส จำนวน 1 คน
4. ผลการประเมินจัดระดับสถานการณ์แรงงานเด็ก โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนกันยายน 2563 ประเทศไทยมีผลการประเมินจัดระดับความก้าวหน้าในการดำเนินการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดในระดับปานกลาง ซึ่งในรายงานระบุว่าเด็กในประเทศไทยยังคงมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด และการแสวงหาประโยชน์ทางเพศเชิงพาณิชย์ ซึ่งบางครั้งเป็นผลมาจากการค้ามนุษย์ รวมถึงมีกลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี เข้าร่วมการแข่งขันมวยไทยซึ่งถือเป็นงานอันตราย ถึงแม้ว่าประเทศไทยพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวแต่ก็ยังไม่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ เนื่องจากกฎหมายไม่ได้ให้ความคุ้มครองแก่แรงงานเด็กนอกระบบการจ้างงาน รวมถึงจำนวนพนักงานตรวจแรงงานและทรัพยากรที่ไม่เพียงพอต่อการตรวจสถานที่ทำงานซึ่งอยู่ห่างไกล โดยเฉพาะในภาคการจ้างงานนอกระบบ
5. การขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายของประเทศไทย ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม รวมทั้งสิ้น 35 หน่วยงาน ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 มีผลการดำเนินงานที่สำคัญตามนโยบายและแผนระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย เช่น (1) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย โดยกระทรวงศึกษาธิการได้ออกประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การรับนักเรียน นักศึกษาที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2562 เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติกรณีนักเรียน นักศึกษา ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย แก่สถานศึกษา (2) การช่วยเหลือและคุ้มครองแรงงานเด็กจากการทำงานในรูปแบบที่เลวร้าย ได้จัดให้มีศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว รวม 10 จังหวัด และให้คำปรึกษา แนะนำ รับข้อร้องทุกข์ร้องเรียน (3) การพัฒนาความร่วมมือระหว่างองค์กรภาคีเครือข่าย ได้ส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการได้รับการรับรองมาตรฐานแรงงานไทยหรือประกาศแสดงตนเอง และส่งเสริม ติดตาม และประเมินการยกระดับความรับผิดชอบต่อสังคมด้านแรงงานของสถานประกอบกิจการในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัด
6. ข้อเสนอแนะจากการวิเคราะห์สถานการณ์และผลการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ได้แก่ (1) นำข้อเสนอแนะของกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา จากการประเมินสถานการณ์แรงงานเด็กของประเทศไทยมาเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดแผนงาน โครงการ หรือกิจกรรม ตามภารกิจของหน่วยงานต่างๆ (2) พัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูลหรือสถิติ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลสถิติการดำเนินคดี การช่วยเหลือเด็กที่ตกเป็นผู้เสียหาย รวมถึงการจัดทำคู่มือการปฏิบัติงาน และการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการคุ้มครองเด็ก (3) ทบทวนกฎหมาย ระเบียบหรือประกาศ ให้ทันต่อสถานการณ์และสอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ และ (4) พัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานให้เข้าใจรูปแบบที่เลวร้ายของการใช้แรงงานเด็ก
7. การดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายในระยะต่อไป ได้แก่ เผยแพร่แผนปฏิบัติการด้านการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564-2565 และปรับปรุงประกาศคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย เรื่อง ประเภทงานอันตรายสำหรับแรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายของประเทศไทย ให้มีความครอบคลุมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 14 ธันวาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12454