ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนตุลาคม 2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 14 December 2021 23:00
- Hits: 3427
ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนตุลาคม 2564
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเสนอความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนตุลาคม 2564 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ความก้าวหน้ายุทธศาสตร์ชาติและการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ สรุปผลการดำเนินการที่สำคัญได้ ดังนี้
1.1 การจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13) เป็นแผนพัฒนาฯ ฉบับแรกที่เริ่มต้นกระบวนการยกร่างกรอบแผนภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และจะมีผลในการใช้เป็นกรอบเพื่อกำหนดแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิบัติการในช่วง 5 ปีที่สองของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศในระยะของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ได้น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักนำทางในการขับเคลื่อนและวางแผนการพัฒนาประเทศไปสู่การบรรลุเป้าหมายในมิติต่างๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอย่างเป็นรูปธรรม โดยแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 มุ่ง “พลิกโฉมประเทศไทยสู่สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน” ประกอบด้วย 13 หมุดหมายและแบ่งออกได้เป็น 4 มิติ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติ (9 พฤศจิกายน 2564) รับทราบ (ร่าง) แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 แล้ว และคาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ในเดือนตุลาคม 2565
ทั้งนี้ ในการจัดทำกรอบแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สำนักงบประมาณได้นำร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ไปใช้เป็นแนวทางการดำเนินการร่วมกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนระดับที่ 2 อื่นๆ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน นโยบายสำคัญของรัฐบาล รวมทั้งน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นกรอบแนวทางการจัดทำงบประมาณด้วย
1.2 ความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) จะพัฒนาจังหวัดอุดรธานีและพิษณุโลก รวมทั้งเขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ให้เป็นจังหวัด/พื้นที่นำร่องตามแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินการขจัดความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยของ ศจพ. โดยจะเก็บข้อมูลในพื้นที่เพื่อนำมาคำนวณหลักเกณฑ์กลางของดัชนีความยากจนหลายมิติในระดับจังหวัดและระดับประเทศ และใช้ประกอบการพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform: TPMAP) ให้ครอบคลุมการดำเนินการในพื้นที่มากยิ่งขึ้นต่อไป
1.3 การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติผ่านแผน 3 ระดับ สศช. ได้รวบรวมและตรวจสอบแผนระดับที่ 3 ในส่วนของแผนปฏิบัติการด้าน... เพื่อเข้าสู่การพิจารณากลั่นกรอง โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 มีแผนระดับที่ 3 ที่หน่วยงานส่งมายัง สศช. รวมทั้งสิ้น 130 แผน แบ่งเป็น (1) ผ่านกระบวนการพิจารณาและรายงานให้คณะรัฐมนตรีรับทราบแล้ว จำนวน 86 แผน (2) อยู่ระหว่างการพิจารณากลั่นกรอง หรือเห็นสมควรทบทวนปรับปรุงแผนให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นก่อนนำเสนอตามขั้นตอนต่อไป จำนวน 36 แผน (3) ยกเลิกการดำเนินการ/สิ้นสุดการดำเนินการ จำนวน 2 แผน ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการด้าน... ที่ผ่านกระบวนการพิจารณาของ สศช. ในรอบเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564 มีจำนวน 6 แผน เช่น (1) (ร่าง) นโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ พ.ศ. 2561-2565 ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติ (14 กันยายน 2564) เห็นชอบแล้ว (2) แผนปฏิบัติการด้านระบบสุขภาพปฐมภูมิ (พ.ศ. 2564 - 2573) และ (3) แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2564-2565) ฉบับปรับปรุง ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติ (30 พฤศจิกายน 2564) อนุมัติแล้ว
2. ความก้าวหน้าแผนการปฏิรูปประเทศ คณะรัฐมนตรีมีมติ (5 ตุลาคม 2564) รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ครั้งที่ 12 (เดือนเมษายน-มิถุนายน 2564) และได้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ทั้งนี้ สศช. อยู่ระหว่างจัดทำรายงานความคืบหน้าฯ ครั้งที่ 13 (เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564) ซึ่งจะติดตามการดำเนินงานเพื่อปิดช่องว่างของแผนขับเคลื่อนกิจกรรมปฏิรูปประเทศที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock)
3. ผลการดำเนินการอื่นๆ
3.1 การติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ สศช. ได้เผยแพร่ข้อมูลจากระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) เพื่อให้หน่วยงานหรือผู้ที่สนใจสามารถนำข้อมูลไปประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับภารกิจ และอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ eMENSCR ให้เชื่อมโยงกับระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบการบริหารงานการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ (GFMIS) รวมทั้งอยู่ระหว่างนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในการสนับสนุนการประเมินสถานการณ์การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาระดับต่างๆ ในระบบ eMENSCR เพื่อให้ระบบสามารถประมวลผล วิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลของโครงการ/การดำเนินงานและใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาในระดับต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
3.2 การสร้างการตระหนักรู้ ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมของภาคีต่างๆ ต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ สศช. ได้ดำเนินการ ดังนี้
3.2.1 สร้างการตระหนักรู้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในกลุ่มคนรุ่นใหม่ผ่านกิจกรรมของกลุ่มบุคคลและ/หรือบุคคลตัวอย่างในรูปแบบสื่อวีดิทัศน์และจะเผยแพร่วีดิทัศน์โครงการสร้างการตระหนักรู้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในกลุ่มคนรุ่นใหม่
3.2.2 เผยแพร่รายงานความก้าวหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2559-2563 [Thailand’s Sustainable Development Goals (SDGs) Report 2016-2020] ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวมีความสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580 และหลักธรรมาภิบาล โดย SDGs ทั้ง 17 เป้าหมาย มีความเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 23 ประเด็น เพื่อให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข เศรษฐกิจพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สังคมเป็นธรรม ฐานทรัพยากรธรรมชาติยั่งยืน” และเป็นหนึ่งในหลักการสำคัญของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2565)
4. ประเด็นที่ควรเร่งรัดเพื่อการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ รายงานสถานการณ์การพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Micro, Small and Medium-sized Enterprises: MSMEs) ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) พบว่า สัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมของ MSMEs ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหดตัวที่ร้อยละ 34.2 ในปี 2563 และร้อยละ 34.5 ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 ซึ่งต่ำกว่าค่าเป้าหมายแผนแม่บทย่อยเนื่องจากการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดังนั้น ภาครัฐจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูผู้ประกอบการอย่างเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือให้ MSMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยให้ความสำคัญกับการยกระดับ (1) มาตรการส่งเสริมและพัฒนา MSMEs ในการจัดตั้งศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (2) มาตรการมุ่งส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม ซึ่งเน้นการให้ความรู้และคำแนะนำเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนและสร้างโมเดลธุรกิจเชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรมได้ และ (3) มาตรการส่งเสริมและพัฒนา SMEs ในมิติต่างๆ รวมถึงการพัฒนาสินค้าและการบริการให้มีคุณภาพและมาตรฐานสอดคล้องกับความต้องการของตลาด
5. นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการ ดังนี้
5.1 ให้พิจารณาปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณแบบพุ่งเป้าเพื่อช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูผู้ประกอบการ MSMEs อย่างเร่งด่วน โดยแบ่งระดับการแก้ไขให้ตรงจุด เป็น 3 ระดับ ได้แก่ (1) ระดับที่มีความพร้อม ต้องพัฒนาให้มีความพร้อมมากยิ่งขึ้น (2) ระดับที่มีความพร้อมปานกลาง ต้องปรับปรุงแก้ไขให้มีความพร้อม และ (3) ระดับที่ไม่มีความพร้อม ต้องวางแผนการพัฒนา และเรียนรู้โดยมีพี่เลี้ยงคอยชี้แนะ
5.2 กำหนดระดับการพัฒนาแบบพุ่งเป้าและแยกประเภทการช่วยเหลือและเยียวยาของประชาชนเพื่อเป็นการใช้จ่ายงบประมาณอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ (1) การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ (2) การช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และ (3) การเยียวยาและแก้ไขปัญหาของผู้ได้รับผลกระทบ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 14 ธันวาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12453