แนวทางปฏิบัติสำหรับการนำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้กับโครงการที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โดยอนุโลม
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 14 December 2021 22:56
- Hits: 173
แนวทางปฏิบัติสำหรับการนำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้กับโครงการที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โดยอนุโลม
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการฯ) เสนอแนวทางปฏิบัติสำหรับการนำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้กับโครงการที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 62) โดยอนุโลม และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ดำเนินการทำความตกลงกับกระทรวงการคลัง (กค.) เพื่อกำหนดค่าตอบแทนของผู้สังเกตการณ์และให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
คณะกรรมการฯ รายงานว่า
1. โดยที่คณะรัฐมนตรีมีมติวันที่ 29 มิถุนายน 2564 เห็นชอบการนำแนวทางการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ตามโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ สำหรับหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างหรือการร่วมลงทุนภายใต้กฎหมายอื่น นอกเหนือจากพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 (พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ. 60) ไปกำหนดใช้โดยอนุโลม โดยให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องทุกแห่งถือปฏิบัติตามแนวทางการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบอย่างเคร่งครัด เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 62 ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมไว้เป็นการเฉพาะและมีขั้นตอนการดำเนินการแตกต่างจาก พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ. 60 โดยมีการกำหนดขั้นตอนการจัดทำและการดำเนินโครงการออกเป็น 4 ขั้นตอน ได้แก่ การเสนอโครงการ การคัดเลือกเอกชน การกำกับดูแลโครงการร่วมลงทุน และการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนและการทำสัญญาใหม่ รวมทั้งมีการกำหนดให้มีคณะกรรมการคัดเลือกและคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการเพื่อดำเนินการในขั้นตอนการคัดเลือกเอกชนและการกำกับดูแลโครงการร่วมลงทุนไว้เป็นการเฉพาะ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการกำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับการนำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้กับโครงการร่วมลงทุนโดยอนุโลมเพื่อให้มีรูปแบบขั้นตอนการดำเนินการที่มีความเหมาะสม ชัดเจน และสอดคล้องกับการดำเนินการตาม พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 62 เพื่อให้หน่วยงานเจ้าของโครงการสามารถดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้เป็นมาตรฐานเดียวกันต่อไป
2. ในคราวประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2564 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางปฏิบัติสำหรับการนำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้กับโครงการร่วมลงทุนโดยอนุโลม สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
หัวข้อ |
สาระสำคัญ |
|
รูปแบบการดำเนินการ |
ออกประกาศ สคร. เรื่อง แนวทางปฏิบัติสำหรับการนำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้กับโครงการร่วมลงทุนที่ดำเนินการตาม พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 62 พ.ศ. .... (ประกาศ สคร.) |
|
ขอบเขตการดำเนินการ |
นำมาใช้กับโครงการร่วมลงทุนตาม พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 62 เฉพาะในขั้นตอนการคัดเลือกเอกชน |
|
การคัดเลือกโครงการ |
กำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการต้องจัดทำข้อตกลงคุณธรรมในโครงการร่วมลงทุน ดังนี้ (1) โครงการร่วมลงทุนที่มีมูลค่าตั้งแต่ห้าพันล้านบาท (2) โครงการร่วมลงทุนที่มีมูลค่าตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป แต่มีมูลค่าต่ำกว่าห้าพันล้านบาทและคณะกรรมการฯ พิจารณาว่าสมควรต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 62 |
|
การลงนามในข้อตกลงคุณธรรม |
กำหนดให้ดำเนินการ 2 ขั้นตอน ดังนี้ (1) หน่วยงานเจ้าของโครงการและผู้สังเกตการณ์1 ลงนามในข้อตกลงคุณธรรมก่อน เพื่อให้ผู้สังเกตการณ์สามารถเข้าร่วมสังเกตการณ์ได้ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุน (2) เอกชนต้องลงนามในข้อตกลงคุณธรรมเมื่อยื่นข้อเสนอเพื่อแสดงเจตจำนงในการปฏิบัติตามข้อตกลงคุณธรรมและยินยอมให้ผู้สังเกตการณ์สามารถเข้าร่วมสังเกตการณ์ได้ |
|
หน่วยงานที่ดำเนินการคัดเลือกผู้สังเกตการณ์โครงการ |
กำหนดให้เป็นองค์กรที่ดำเนินการเกี่ยวกับต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันและได้รับมอบหมายจาก สคร. (องค์กรที่ สคร. มอบหมาย) |
|
การคัดเลือกผู้สังเกตการณ์โครงการ |
กำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการประสานองค์กรที่ สคร. มอบหมายเพื่อขอรายชื่อผู้สังเกตการณ์ เมื่อองค์กรที่ สคร. มอบหมายคัดเลือกผู้สังเกตการณ์แล้วให้แจ้งรายชื่อผู้สังเกตการณ์ต่อ สคร. เพื่อให้ สคร. พิจารณาคัดเลือกและแจ้งรายชื่อผู้สังเกตการณ์ต่อหน่วยงานเจ้าของโครงการต่อไป |
|
การรายงานผลของผู้สังเกตการณ์ |
กำหนดให้ผู้สังเกตการณ์รายงานผลปฏิบัติงานเมื่อได้ผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาร่วมลงทุนที่ผ่านการเจรจากับเอกชนที่ได้รับการคัดเลือกแล้วโดยให้รายงานต่อองค์กรที่ สคร. มอบหมายเพื่อให้รายงาน สคร. ทราบ และรายงานหน่วยงานเจ้าของโครงการเพื่อรายงานผลการดำเนินงานข้อตกลงคุณธรรมประกอบการนำเสนอผลการคัดเลือกเอกชนให้กระทรวงเจ้าสังกัดพิจารณาให้ความเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป |
|
กรณีหน่วยงานเจ้าของโครงการหรือผู้ยื่นข้อเสนอผู้ทำสัญญาไม่ได้ปฏิบัติตามหรือกระทำการใดๆ ที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงคุณธรรมกำหนด หรือพบพฤติกรรมที่ส่อไปในทางทุจริตหรืออาจนำไปสู่การทุจริตได้ |
ให้ผู้สังเกตการณ์ดำเนินการ ดังนี้ (1) แจ้งคณะกรรมการคัดเลือกทราบเพื่อให้มีการชี้แจงหรือแก้ไขในระยะเวลาที่ผู้สังเกตการณ์กำหนด พร้อมแจ้งองค์กรที่ สคร. มอบหมายให้รายงานหน่วยงานเจ้าของโครงการเพื่อทราบ (2) หากคณะกรรมการคัดเลือกดังกล่าวไม่ชี้แจงหรือแก้ไข ให้แจ้งองค์กรที่ สคร. มอบหมาย แจ้ง สคร. เพื่อ สคร. รายงานกระทรวงเจ้าสังกัดเพื่อพิจารณาดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนดำเนินการต่อไป |
|
การกำหนดคุณสมบัติของผู้สังเกตการณ์ |
กำหนดให้ผู้สังเกตการณ์ต้องมีความรู้ความสามารถและความเหมาะสมตามที่ สคร. กำหนด และผู้สังเกตการณ์ต้องมีการลงนามในหนังสือการรักษาข้อมูลเป็นความลับและไม่มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย |
|
ค่าตอบแทนของผู้สังเกตการณ์ |
กำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเบิกจ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้สังเกตการณ์อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 62 ไม่มีบทบัญญัติที่กำหนดเรื่องค่าตอบแทนสำหรับบุคคลที่ไม่ใช่กรรมการหรืออนุกรรมการ ตาม พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 62 ไว้เป็นการเฉพาะ ดังนั้น สคร. จึงต้องทำความตกลงกับ กค. เพื่อกำหนดค่าตอบแทนของผู้สังเกตการณ์ตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป |
___________________
1ผู้สังเกตการณ์ หมายความว่า บุคคลภายนอกหรือภาคประชาสังคมที่ได้รับการคัดเลือกจากองค์กรที่ สคร. มอบหมาย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ มีความรู้และประสบการณ์ที่จำเป็นต่อโครงการร่วมลงทุน โดยจะต้องมีความเป็นกลางและไม่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการร่วมลงทุนนั้น และไม่ถือว่าผู้สังเกตการณ์เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 14 ธันวาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12452