ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 14 December 2021 22:34
- Hits: 4043
ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ดังนี้ 1) ปรับบทบาทของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็น Policy Body และผู้จัดสรรงบประมาณส่งเสริมพัฒนา SMEs ที่ยิ่งใหญ่แท้จริง และมีประสิทธิภาพ 2) เพิ่มหน่วยงานและความเชี่ยวชาญของผู้ให้บริการส่งเสริมพัฒนา SMEs ในแต่ละพื้นที่ 3) ประสานบริการทางการเงินเข้ากับระบบส่งเสริมพัฒนา SMEs ของชาติอย่างมีประสิทธิภาพ 4) ยกระดับ SMEs เข้าสู่มาตรฐานการวิเคราะห์สินเชื่อของสถาบันการเงินเอกชน และ 5) เตรียมพร้อมของ SMEs รองรับ Digital Disruption, Economic Crisis และ New Normal หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ กค. เป็นหน่วยงานรับรายงานพร้อมข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) สำนักงบประมาณ (สงป.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
กค. ได้ดำเนินการตามคำสั่งรองนายกรัฐมนตรีตามข้อ 2 โดยสรุปผลการพิจารณาได้ ดังนี้
ข้อเสนอแนะ |
ผลการพิจารณา |
|
1. ปรับบทบาทของ สสว. เป็น Policy Body และผู้จัดสรรงบประมาณส่งเสริมพัฒนา SMEs ที่ยิ่งใหญ่แท้จริง และมีประสิทธิภาพ 1.1 ยกเลิกการเป็นหน่วยงานปฏิบัติงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) ของ สสว. ที่ใช้งบประมาณจัดจ้างที่ปรึกษาให้บริการ SMEs โดยตรงให้เป็นหน่วยงานด้านนโยบาย วางแผนภาพรวม ดูงบประมาณด้าน SMEs และติดตามประเมินผล 1.2 จัดทำแผนบูรณาการส่งเสริม SMEs ให้ตรงความต้องการของ SMEs รวมทั้งเป้าหมายในแต่ละพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ |
- สสว. ได้ยกระดับบทบาทในการทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกำหนดนโยบายและแผนด้านการส่งเสริมและพัฒนา SMEs ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และแม้ว่าปัจจุบันจะไม่มีการจัดทำงบประมาณบูรณาการด้าน SMEs แล้ว (ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เนื่องจากข้อจำกัดด้านกฎหมายของ สสว.) แต่ สสว. ก็ยังรักษาบทบาทในการดูแลงบประมาณด้านการส่งเสริมและพัฒนา SMEs ในภาพรวมอยู่ ด้วยการบูรณาการงบประมาณ และในอนาคตมีแผนที่จะผลักดันให้การจัดสรรงบประมาณเพื่อการส่งเสริม SMEs กระจายไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อให้ SMEs ทั่วประเทศได้รับการพัฒนาอย่างครอบคลุมต่อไป - สสว. ได้พัฒนาระบบนิเวศด้านการอำนวยความสะดวกแก่ SMEs ในการเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร และองค์ความรู้ ผ่านรูปแบบการให้บริการแบบดิจิทัล ซึ่งจะเข้าถึง SMEs จำนวนมากโดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่ |
|
2. เพิ่มหน่วยงาน และความเชี่ยวชาญของผู้ให้บริการส่งเสริมพัฒนา SMEs ในแต่ละพื้นที่ โดยแยกหน่วยงานปฏิบัติงานส่งเสริมพัฒนา SMEs ออกจากหน่วยงานแจกงบประมาณหรือคูปองเพื่อให้มีหน่วยงานปฏิบัติมากขึ้น รวมทั้งจัดตั้งหน่วยงานให้บริการปรึกษาแนะนำกระจายไปในจังหวัดต่างๆ |
- กษ. มีหน่วยงานระดับจังหวัด และระดับอำเภอ ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในการประกอบกิจการรวมทั้งสนับสนุนให้วิสาหกิจชุมชนจัดทำแผนพัฒนากิจการและนำแผนพัฒนากิจการเสนอขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง - มท. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาระบบข้อมูล “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์” (OTOP) เพื่อรองรับการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และพัฒนาระบบ Big Data ของโครงการฯ ให้มีความถูกต้องครบถ้วนเป็นปัจจุบันและเชื่อมโยงข้อมูลทั้งภายในและภายนอกเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนและการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายทิศทางในการพัฒนา OTOP ในอนาคต และเป็นข้อมูลสำหรับประชาชนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพ - พณ. ได้ดำเนินการเพื่อส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้สามารถใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) เป็นเครื่องมือในการเพิ่มโอกาสทางการค้า - อก. โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้มีการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 1-11 กสอ. และศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิก ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้สามารถกระจายการพัฒนาครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศและเพิ่มความสะดวกในการให้บริการด้วยระบบ SME Support & Rescue Center (SSRC) ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศ สามารถเข้าถึงการให้บริการได้โดยสะดวก |
|
3. ประสานบริการทางการเงินเข้ากับระบบส่งเสริมพัฒนา SMEs ของชาติอย่างมีประสิทธิภาพ 3.1 กำหนดประเภทมาตรการทางการเงินที่ชัดเจน สำหรับแต่ละกลุ่มวิสาหกิจที่มีความสามารถต่างกัน เพื่อให้มีเงื่อนไขกระบวนการอนุมัติ และการชดเชยความเสียหายที่เหมาะสม 3.2 เพิ่มบทบาทธนาคารพาณิชย์ในการสนับสนุนเงินทุนแก่ SMEs และกระจายสินเชื่อสู่ SMEs ในระดับภูมิภาค |
- กค. ได้กำหนดแนวนโยบายของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ระยะ 5 ปี (ปี 2564 - 2568) ซึ่งมุ่งเน้นให้ SFIs ได้ทำหน้าที่เติมเต็มช่องว่างทางการเงินในภาวะที่กลไกตลาดไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และขยายโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินให้ครอบคลุม (Financial Inclusion) ซึ่งรวมถึงผู้ประกอบการ SMEs เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมซึ่งได้มอบหมายให้ SFIs ดำเนินการตามพันธกิจและแนวนโยบายดังกล่าวซึ่งครอบคลุมเรื่องการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการ SMEs รวมทั้งได้ออกมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 อย่างต่อเนื่อง - ธปท. รายงานว่า ที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ได้ให้ความร่วมมือในการสนับสนุนนโยบายของรัฐที่เกี่ยวข้องกับ SMEs มาอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดทำฐานข้อมูล SMEs เพื่อช่วยให้ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น การใช้เทคโนโลยีหรือข้อมูลทางเลือกในการพิจารณาสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs หน้าใหม่ รวมทั้งขับเคลื่อนมาตรการทางการเงินของภาครัฐเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เช่น โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) การชะลอชำระหนี้ในปี 2563 โครงการสินเชื่อฟื้นฟู โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ (Asset Warehousing) ในปี 2564 เป็นต้น |
|
4. ยกระดับ SMEs เข้าสู่มาตรฐานการวิเคราะห์สินเชื่อของสถาบันการเงินเอกชน โดยจัดกิจกรรม และรณรงค์ให้ SMEs มี Financial/Digital Literacy ผ่านการอบรม ให้ความรู้ด้วยความร่วมมือกับสถาบันการเงินต่างๆ และ SMEs ที่จะเข้าสู่มาตรการการช่วยเหลือของรัฐต้องเข้าสู่ระบบ โดยการลงทะเบียนอย่างใดอย่างหนึ่งหรือมีช่วงเวลาที่มีการปรับตัวเพื่อเข้าระบบ |
- กค. โดยกรมสรรพากรได้ดำเนินการเพื่อยกระดับผู้ประกอบการ SMEs เข้าสู่มาตรฐานการวิเคราะห์สินเชื่อของสถาบันการเงินเอกชน โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าสู่ระบบของรัฐเพื่อมีข้อมูลในการสนับสนุนและส่งเสริมอย่างมีระบบและต่อเนื่อง เช่น เปิดตัวผลิตภัณฑ์การให้ความรู้ทางภาษี Digital Tax Literacy Product ผ่านช่องทาง www.taxliteracy.acadamy และประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ เช่น Facebook แพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อประสานความร่วมมือไปยังสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) รวมทั้งมีมาตรการจูงใจและอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าระบบของรัฐ อาทิ การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี การให้บริการเทคโนโลยีด้านภาษี เพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติการและชำระภาษีของผู้ประกอบการโดยมีการพัฒนาระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) |
|
5. เตรียมความพร้อมของ SMEs รองรับ Digital Disruption Economic Crisis และ New Normal หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 5.1 ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น 5.2 จัดทำแผนรองรับวิกฤตเศรษฐกิจและโรคระบาดพร้อมงบประมาณรองรับในแต่ละปีงบประมาณ เพื่อให้มีระบบรองรับการใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย |
- กษ. ได้ดำเนินการสนับสนุนให้วิสาหกิจชุมชนมีความสามารถในการจัดทำบัญชี และใช้ประโยชน์จากข้อมูลทางการเงินในการดำเนินงาน ได้แก่ การวางแผนด้านการผลิต/การตลาด และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เช่น เผยแพร่สื่อการเรียนรู้การจัดทำบัญชีวิสาหกิจชุมชนผ่านแอปพลิเคชันทั้งระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์และไอโอเอส รวมทั้งอบรมให้ความรู้และสนับสนุนให้เกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนใช้ระบบตลาดอิเล็กทรอนิกส์ในการขายสินค้าทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชน - พณ. มีแนวทางในการดำเนินการเพื่อพัฒนา/ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เช่น การจัดทำระบบการเรียนการสอนผ่านสื่อออนไลน์ (e-Learning) ให้กับผู้ประกอบการ SMEs ทุกระดับ ผ่านทางเว็บไซต์ http://dbdacadamy.dbd.go.th ด้วยหลักสูตรที่มีความทันสมัย และพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้สามารถใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) เป็นเครื่องมือในการเพิ่มโอกาสทางการค้า การเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับสินค้าชุมชน - สสว. ได้เตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการ SMEs เพื่อรองรับ Digital Disruption, Economic Crisis และ New Normal โดยได้กำหนดประเด็นที่เกี่ยวข้องไว้ใน (ร่าง) แผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2566 - 2570 ทั้งในเรื่องการเร่งนำดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ การพัฒนาแรงงานบุคลากรให้มีทักษะด้านดิจิทัลมากขึ้น |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 14 ธันวาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12447