สรุปผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 16 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 14 December 2021 22:26
- Hits: 3043
สรุปผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 16 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 16 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 21 - 22 ตุลาคม 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 16 (16th ASEAN Ministerial Meeting on the Environment: 16th AMME) เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2564 สรุปได้ ดังนี้
1.1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้กล่าวถ้อยแถลงโดยเรียกร้องให้สมาชิกอาเซียนดำเนินนโยบายเชิงรุกเพื่อเร่งฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งประเทศไทยได้ดำเนินนโยบาย Bio-Circular-Green Economy Model ในการฟื้นฟูที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งได้สร้างความเข้มแข็งในการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมโดยการพัฒนากรอบนโยบาย เช่น การปรับปรุงพระราชบัญญัติป่าไม้พุทธศักราช ๒๔๘๔ การยกร่างพระราชบัญญัติความหลายหลายทางชีวภาพ และพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยได้ดำเนินงานตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (Nationally Determined Contribution: NDCs) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20 รวมทั้งพัฒนายุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย และเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกอาเซียนเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานแผนปฏิบัติการอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเล รวมทั้งส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกก้าวไปสู่การเป็นภูมิภาคอาเซียนปลอดหมอกควัน โดยประเทศไทยจะร่วมมือกับภูมิภาคต่อไป
1.2 ที่ประชุมมีมติในเรื่องต่างๆ ที่สำคัญ ดังนี้
1.2.1 เห็นชอบให้มีร่างแถลงการณ์ร่วมอาเชียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร [ได้มีการประชุมฯ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม - 12 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (23 พฤศจิกายน 2564) รับทราบผลการประชุมดังกล่าวแล้ว] รวมทั้งนำเสนอในที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 38 และ 39 ระหว่างวันที่ 26 - 28 ตุลาคม 2564 ด้วย เพื่อเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการดำเนินงานตามความตกลงปารีสในระยะหลังปีค.ศ. 2020 ต่อไป นอกจากนี้ ได้มีการรับรองข้อริเริ่มการเป็นประธานอาเซียนปี ค.ศ. 2021 ของเนการาบรูไนดารุสซาลาม (บรูไน) ในการจัดตั้งศูนย์อาเซียนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในบรูไนและโครงการ ASEAN Youth on the Climate Action (ASEANyouCAN) ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนของประเทศสมาชิกอาเซียนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
1.2.2 เห็นชอบเมืองที่ได้รับการเสนอชื่อเพื่อรับรางวัลอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมเมืองที่ยั่งยืน ครั้งที่ 5 สำหรับประเทศไทย เทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลาได้รับรางวัลด้านเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน เทศบาลนครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ได้รับรางวัลด้านอากาศ เทศบาลเมืองทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับรางวัลด้านน้ำ เทศบาลเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ได้รับรางวัลด้านขยะและพื้นที่สีเขียวสำหรับประเภทเมืองขนาดเล็ก
1.2.3 รับรองร่างแถลงการณ์ร่วม Draft ASEAN-China Joint Statement on Enhancing Green and Sustainable Development Cooperation ซึ่งนำเสนอในที่ประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน (ASEAN China Summit) ครั้งที่ 24 ในวันที่ 26 ตุลาคม 2564
1.2.4 เห็นชอบการจัดการประชุมประเทศภาคีต่อข้อตกลงอาเซียน เรื่อง มลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ครั้งที่ 17 ในปี ค.ศ. 2022 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์และการประชุมมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ครั้งที่ 18 ในปี ค.ศ. 2023 ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) และการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมครั้งที่ 17 (17th AMME) ในปี ค.ศ. 2023 ณ สปป. ลาว
1.2.5 รับทราบประเด็นต่างๆ เช่น
(1) การยืนยันพันธกรณีที่จะดำเนินการตามปฏิญญากรุงเทพว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน และเผนปฏิบัติการอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเล
(2) การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน เช่น มลพิษจากขยะทะเล การบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน และเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยที่ประชุมยินดีกับ ASEAN SCP Framework ซึ่งมีการกำหนดมาตรการต่างๆ ในการสนับสนุนการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เป้าหมายที่ 12 (สร้างหลักประกันให้มีแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน)
(3) การเปิดตัวรายงาน ASEAN State of Climate Change Report เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2564 เพื่อสนับสนุนรายงานสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศสมาชิกอาเชียน และกำหนดวิสัยทัศน์การดำเนินงานร่วมกันในระดับภูมิภาค
2. การประชุมประเทศภาคีต่อข้อตกลงอาเซียน เรื่อง มลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ครั้งที่ 16 (16th Meeting of the Conference of the Parties to the ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution: COP-16 AATHP) เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2564 เพื่อหารือสถานการณ์และการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
2.1 เนื่องจากศูนย์เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยาแห่งอาเซียนได้คาดการณ์สภาพอากาศใน อนุภูมิภาคแม่โขงว่า ในช่วงเดือนธันวาคม 2564 เป็นต้นไป สภาพอากาศจะเริ่มเข้าสู่สภาวะแห้งแล้ง ซึ่งจะส่งผลให้จำนวนจุดความร้อนเพิ่มสูงขึ้นในอนุภูมิภาคแม่โขงได้ ประเทศไทยจึงได้ขอความร่วมมือจากประเทศอนุภูมิภาคแม่โขงในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดนที่จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว
2.2 รับทราบความคืบหน้าการประเมินผลการดำเนินงานตาม ASEAN Transboundary Haze Free Roadmap (แผนที่นำทางอาเซียนปลอดหมอกควันข้ามแดน) ที่ได้สิ้นสุดลงไปเมื่อปี 2563 โดยผลการประเมินจะนำไปใช้พัฒนาแผนงานในอนาคตสำหรับภูมิภาคอาเซียนต่อไป ประเทศไทยจึงได้เสนอให้ประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมกันตั้งเป้าหมายในการลดจุดความร้อนในภูมิภาคลงร้อยละ 20 ในปี 2565 เพื่อใช้เป็นเป้าหมายร่วมกันในการยกระดับการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น
2.3 รับทราบความคืบหน้าการจัดตั้งศูนย์ประสานงานกลาง ASEAN Coordinating Centre for Transboundary Haze Pollution Control (ACC THPC) หรือศูนย์ความร่วมมืออาเซียนสำหรับการควบคุมมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ณ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย (อินโดนีเซีย) ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามข้อตกลงอาเซียน เรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดนอย่างเต็มรูปแบบและมีประสิทธิภาพ และคาดหวังว่าการจัดตั้ง ACC THPC จะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
2.4 รับทราบรายงานการประชุมคณะกรรมการระดับรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม 5 ประเทศ เรื่อง มลพิษจากหมอกควันข้ามแดนในอนุภูมิภาคแม่โขง ครั้งที่ 9 โดยให้มีการขยายแผนปฏิบัติการเชียงรายที่จะสิ้นสุดในปีนี้ ให้ขยายไปอีก 5 ปี จนถึงปี 2568 เพื่อใช้เป็นแผนปฏิบัติการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนในอนุภูมิภาคแม่โขง
2.5 รับทราบกำหนดการประชุมคณะกรรมการระดับรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม 5 ประเทศ เรื่อง มลพิษจากหมอกควันข้ามแดนในอนุภูมิภาคแม่โขง ครั้งที่ 10 ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนธันวาคม 2564 ผ่านระบบวิดีทัศน์ทางไกล โดยสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเป็นเจ้าภาพและการประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม 5 ประเทศ เรื่อง มลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ครั้งที่ 22 ชึ่งจัดขึ้นปลายเดือนพฤศจิกายน 2564 ผ่านระบบวิดีทัศน์ทางไกล โดยอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพ
3. การประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 17 (17th ASEAN Plus Three Environment Ministers Meeting: 17th ASEAN+3 EMM) เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2564 เพื่อหารือความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมกับสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐเกาหลี และประเทศญี่ปุ่น โดยประเทศไทยได้ขอบคุณทั้ง 3 ประเทศในความร่วมมือที่ผ่านมาและคาดหวังว่าจะดำเนินความร่วมมือต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 14 ธันวาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12445