สรุปผลการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 44
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 14 December 2021 22:22
- Hits: 2943
สรุปผลการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 44
คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปผลการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 44 ในการประชุมทางไกลเต็มรูปแบบระหว่างวันที่ 16 - 31 กรกฎาคม 2564 ณ เมืองฝูโจว มณฑลฝูเจี้ยน สาธารณรัฐประชาชนจีนตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. เดิมคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (13 กรกฎาคม 2564) เห็นชอบการกำหนดท่าทีของราชอาณาจักรไทยในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 44 ดังนี้
1.1 รายงานสถานภาพการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลก พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ให้หัวหน้าคณะผู้แทนไทยดำเนินการชี้แจงและโน้มน้าวคณะกรรมการมรดกโลก ศูนย์มรดกโลก และองค์กรที่ปรึกษาให้เห็นถึงการดำเนินการของราชอาณาจักรไทยในการให้ความสำคัญต่อการดูแลและอนุรักษ์พื้นที่ฯ ให้คงคุณค่าความโดดเด่นอันเป็นสากลอย่างยั่งยืน และไม่ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกในภาวะอันตราย
1.2 การขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลก พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานให้คณะผู้แทนไทยชี้แจงทำความเข้าใจและโน้มน้าวคณะกรรมการมรดกโลก องค์กรที่ปรึกษาและศูนย์มรดกโลกเกี่ยวกับสถานการณ์และวิถีชีวิตชุมชนในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานและสนับสนุนราชอาณาจักรไทยในการผลักดันการขึ้นทะเบียนพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก รวมทั้งขอปรับแก้ (ร่าง) ข้อมติที่จะส่งผลต่อการดำเนินงานในอนาคต
2. มติคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 44 ที่เกี่ยวข้องกับราชอาณาจักรไทย
ประเด็น |
มติคณะกรรมการมรดกโลก |
|
2.1 รายงานสถานภาพการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลก พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ [เป็นพื้นที่ที่ได้รับการติดตามจากศูนย์มรดกโลกและสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (International Union for Conservation of Nature: IUCN) อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีกิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้นในพื้นที่เป็นจำนวนมากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะการบุกรุกพื้นที่การลักลอบตัดและค้าไม้พะยูง จึงเกิดประเด็นที่ทำให้มีการเสนอให้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกในภาระอันตราย] |
รับรองรายงานสถานภาพการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลกพื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และให้ดำเนินการในเรื่องต่างๆ เช่น (1) ให้ติดตามผลอย่างใกล้ชิดว่าการออกกฎหมายใหม่ เช่น พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ส่งผลต่อความครบถ้วนสมบูรณ์ของแหล่งมรดกโลกอย่างไร และให้แน่ใจว่ามีการใช้มาตรการที่เหมาะสมในการป้องกันการบุกรุกพื้นที่แหล่งมรดกโลกอย่างผิดกฎหมาย (2) ให้มีมาตรการบรรเทาผลกระทบและการติดตามผลกระทบจากการดำเนินการภายหลังการก่อสร้าง เขื่อนห้วยโสมงและทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304 (3) เน้นย้ำให้ยกเลิกแผนการก่อสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำภายในพื้นที่แหล่งมรดกโลกอย่างถาวร (4) ให้ดำเนินการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมถึงแหล่งมรดกโลก |
|
2.2 การขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกทางธรรมชาติ พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก (ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ผ่านๆ มา ได้มีข้อห่วงกังวลในประเด็นเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนและวิถีชีวิตของชุมชนกะเหรี่ยงในพื้นที่และเรื่องแนวขอบเขตการนำเสนอแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ โดยให้อยู่บนพื้นฐานของข้อตกลงร่วมกันระหว่างรัฐภาคีราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา) |
รับรองการขึ้นทะเบียนพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกและให้ดำเนินการในเรื่องต่างๆ เช่น สร้างความเข้าใจร่วมกันกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเกี่ยวกับขอบเขตพื้นที่แหล่งที่ได้รับการปรับแก้ไขตามข้อตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา |
3. การขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติการขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลกในภาวะอันตราย และการถอดถอนแหล่งมรดกโลกออกจากบัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลก
ประเด็น |
มติคณะกรรมการมรดกโลก |
|
3.1 การขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลก |
ให้ขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติเป็นแหล่งมรดกโลก 34 แหล่ง (โดยแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนฯ มี 1 แหล่ง คือ พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานของไทย) และให้ขยายพื้นที่แหล่งมรดกโลกที่ขึ้นทะเบียนไว้เดิม 10 แหล่ง |
|
3.2 การขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลกในภาวะอันตราย และการถอดถอนแหล่งมรดกโลก |
(1) ให้ถอดถอนแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ Salonga National Park ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกออกจากบัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลกในภาวะอันตราย (2) ให้บรรจุแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม Roșia Montană Mining Landscape ประเทศโรมาเนีย ในบัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลกในภาวะอันตราย (3) ให้ถอดถอน Liverpool-Maritime Mercantile City (สหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์เหนือ) ออกจากบัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลก (4) รับรองแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลกที่จัดส่งก่อนวันที่ 15 เมษายน 2564 จำนวน 123 แหล่ง จากรัฐภาคีสมาชิก 45 ประเทศ |
4. การรายงานสถานภาพการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลก ที่ประชุมฯ ได้พิจารณารายงานสถานภาพการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลก 202 แหล่ง แบ่งเป็น 1) แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม 132 แหล่ง 2) แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ 67 แหล่ง (รวมถึงพื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ของราชอาณาจักรไทย) และ 3) แหล่งมรดกโลกแบบผสม 3 แหล่ง
5. การให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศ ที่ประชุมฯ มีมติรับทราบการให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศและเห็นชอบการสนับสนุนเงินช่วยเหลือให้แก่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประเทศศรีลังกา และสาธารณรัฐนอร์ทมาชิโดเนีย
6. การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบให้สหพันธรัฐรัสเชียเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 45 ระหว่างวันที่ 19 - 30 มิถุนายน 2565 ณ เมืองคาซาน สหพันธรัฐรัสเชีย
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 14 ธันวาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12444