ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 54 และการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 14 December 2021 21:08
- Hits: 2959
ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 54 และการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 54 และ การประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และมอบหมายให้หน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องนำผลการประชุมฯ ไปปฏิบัติและติดตามความคืบหน้าต่อไป ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กต. รายงานว่า รองนายกรัฐมนตรี (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง การต่างประเทศได้เข้าร่วมการประชุมฯ เมื่อวันที่ 2 - 7 สิงหาคม 2564 ซึ่งเนการาบรูไนดารุสซาลาม (บรูไน) ในฐานะประธานอาเซียนปี 2564 จัดขึ้นผ่านระบบการประชุมทางไกลสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ผลการประชุมฯ มีเนื้อหาสำคัญ สรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
|
1) การขับเคลื่อนประชาคมอาเซียน |
1.1 ที่ประชุมฯ ยืนยันเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะขับเคลื่อนประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะการดำเนินการตามวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 และสนับสนุนเป้าหมายผลลัพธ์ของการเป็นประธานอาเซียนของบรูไน ภายใต้แนวคิด “เราห่วงใย เราเตรียมพร้อม เรารุ่งเรือง” 1.2 ที่ประชุมฯ เน้นย้ำความเป็นแกนกลางของอาเซียนในการมีปฏิสัมพันธ์กับภาคีภายนอก โดยเฉพาะการดำเนินโครงการภายใต้มุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific: AOIP) โดยทุกประเทศย้ำความสำคัญของการส่งเสริมความร่วมมือที่เอื้อประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ลดการเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจ และสร้างสภาพแวดล้อมที่สันติและมีเสถียรภาพ |
|
2) ความร่วมมือเพื่อรับมือกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) |
2.1 ประเทศสมาชิกอาเซียนแสดงความห่วงกังวลต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ในภูมิภาค โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตา และย้ำความจำเป็นของการเข้าถึงวัคซีน โดยให้เร่งรัดการจัดสรรเงินจากกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโรคโควิด-19 เพื่อจัดซื้อวัคซีนให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียนในมูลค่าประเทศละ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 2.2 ที่ประชุมฯ รับรองกรอบการจัดทำระเบียงการเดินทางของอาเซียนเพื่อเอื้อต่อการเดินทางติดต่อทางธุรกิจและราชการที่จำเป็น โดยประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศผลักดันให้มีหนังสือรับรองการฉีดวัคซีนสำหรับการเดินทางที่ใช้ร่วมกันและขอให้รับรองวัคชีนฉุกเฉินทุกชนิดที่องค์การอนามัยโลกรับรอง เพื่อหลีกเลี่ยงการกีดกันการเดินทางบนพื้นฐานของวัคซีน ในขณะที่สาธารณรัฐสิงคโปร์ (สิงคโปร์) แสดงความกังวลว่าวัคซีนแต่ละชนิดมีประสิทธิภาพต่างกัน 2.3 ประเทศคู่เจรจาและภาคีภายนอกย้ำการสนับสนุนความพยายามของอาเซียนในการรับมือกับโรคโควิด-19 ทั้งในด้านวัคซีน ยาต้านไวรัส อุปกรณ์ทางการแพทย์ เงินสนับสนุนกองทุนอาเซียนฯ และการเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขในอนาคต |
|
3) ความสัมพันธ์กับภาคีภายนอกอาเซียน |
3.1 ที่ประชุมฯ ได้มีมติเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับภาคีภายนอกอาเซียน เช่น (1) เห็นชอบให้รับสหราชอาณาจักรเป็นคู่เจรจาอาเซียน ลำดับที่ 11 (2) เห็นชอบให้รับราชอาณาจักรเดนมาร์กและรัฐสุลต่านโอมานเป็นอัครภาคีสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ (3) เห็นชอบในหลักการต่อคำขอเข้าเป็นคู่เจรจารายสาขาของสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล 3.2 ไทยได้ย้ำข้อเสนอเรื่องอาเซียน+2 เพื่อผลักดันให้มหาอำนาจภายนอกภูมิภาคโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีน เข้ามาดำเนินโครงการที่เป็นรูปธรรมร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ โดยเริ่มจากสาขาความร่วมมือภายใต้ AOIP เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและลดการเผชิญหน้ากันระหว่างมหาอำนาจ 3.3 ไทยได้เป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-อินเดีย ซึ่งเป็นการประชุมที่ไทยเป็นประธานร่วมกับอินเดียครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะส่งมอบหน้าที่ประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดีย วาระปี 2564 – 2567 ให้สิงคโปร์ นอกจากนี้ ไทยได้รับมอบหน้าที่ประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น วาระปี 2564 - 2567 ต่อจากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยไทยได้ย้ำความร่วมมือเรื่องโรคโควิด-19 การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และการขับเคลื่อนความร่วมมือภายใต้ AOIP ควบคู่กับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างของประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งเตรียมการเพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์คู่เจรจาอาเซียน-ญี่ปุ่น ในปี 2566 |
|
4. สถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศ |
4.1 สถานการณ์ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (เมียนมา) ที่ประชุมฯ ย้ำให้เร่งรัดการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเชียน และสนับสนุนให้รัฐมนตรีต่างประเทศคนที่ 2 ของบรูไน (ดาโตะ เอรีวัณ เปฮิน ยูซอฟ) ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา โดยเมียนมา มีเงื่อนไข 3 ข้อ คือ (1) ผู้แทนพิเศษฯ จะต้องปฏิบัติหน้าที่ที่ระบุไว้ในฉันทามติ 5 ข้อรวมถึงการหารือกับรัฐบาลเมียนมาอย่างใกล้ชิด (2) เมียนมาจะไม่รับข้อเสนอใหม่เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของผู้แทนพิเศษฯ นอกเหนือจากที่ระบุไว้ในฉันทามติ 5 ข้อ และ (3) ผู้แทนพิเศษฯ จะต้องปฏิบัติหน้าที่โดยเคารพต่อหลักการพื้นฐานของอาเชียน ได้แก่ การเคารพในอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน การไม่แทรกแซงกิจการภายในและการเคารพสิทธิของเมียนมา นอกจากนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและคู่เจรจาได้แสดงความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในเมียนมา และย้ำความสำคัญของการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนชาวเมียนมา โดยไทยได้เสนอให้จัดการประชุมผู้บริจาคเพื่อระดมความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้แก่เมียนมาซึ่งต่อมาสำนักเลขาธิการอาเซียนและศูนย์ประสานงานการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของอาเซียนได้จัดการประชุมเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564 และสามารถระดมทุนในรูปแบบเงินบริจาคและความช่วยเหลืออื่นๆ กว่า 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 4.2 สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ ที่ประชุมฯ ยินดีต่อความคืบหน้าการเจรจาถ้อยคำของประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ และเน้นย้ำความสำคัญของเสรีภาพในการเดินเรือและการบินผ่านในทะเลจีนใต้และการปฏิบัติตามปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ |
2. กต. พิจารณาแล้วเห็นว่า ผลการประชุมฯ เป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองร่วมกันและมีนัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของส่วนราชการ ต่างๆ เช่น การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนชาวเมียนมา การจัดทำระเบียงการเดินทางของอาเซียนเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางทางธุรกิจและราชการที่จำเป็นภายในอาเซียน การจัดตั้งกลไกการหารือด้านไซเบอร์อาเซียน-จีน และการส่งเสริมความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน จึงมีประเด็นที่ต้องมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงกลาโหม (กห.) กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์(กษ.) กระทรวงคมนาคม (คค) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงพลังงาน (พน.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 14 ธันวาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12443 Click Donate Support Web