การเสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. .... ตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Friday, 10 December 2021 23:56
- Hits: 9309
การเสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. .... ตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการคงอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. .... ตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 สำหรับการจัดเก็บภาษีตั้งแต่ปี 2565 ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว
สาระสำคัญ
1. กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว เห็นควรคงอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราเดิมตามบทเฉพาะกาล มาตรา 94 แห่ง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ สำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตั้งแต่ปี 2565 ด้วยเหตุผล ดังนี้
1.1 กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้เปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้เสียภาษีต่อการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปัจจุบัน ผ่านทางเว็บไซต์และเฟซบุ๊กของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในระหว่างวันที่ 6 - 22 กันยายน 2564 โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนทั้งสิ้น 1,013 ราย โดยมีสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นที่สำคัญ ได้แก่ ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 49.4 เห็นด้วยกับการนำภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาใช้แทนภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ และร้อยละ 48.5 เห็นด้วยกับการนำราคาประเมินทุนทรัพย์มาใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษี อีกทั้ง ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 45.6 ยังเห็นว่าการกำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่แตกต่างกันตามประเภทการใช้ประโยชน์และตามมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปัจจุบันมีความเหมาะสมแล้ว นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามที่มีภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี 2563 ร้อยละ 51.6 มีภาระภาษีลดลงหรือเท่าเดิมเมื่อเปรียบเทียบกับภาระภาษีโรงเรือนและที่ดินหรือภาษีบำรุงท้องที่ในปี 2562 โดยผู้เสียภาษีทุกรายได้รับการยกเว้นภาษี การลดภาษีหรือการบรรเทาภาระภาษี
1.2 ณ สถานการณ์ปัจจุบัน อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้จัดเก็บภาษีมีความเป็นธรรมและเหมาะสมแล้ว กล่าวคือ เป็นโครงสร้างอัตราภาษีที่มีความก้าวหน้า ซึ่งทำให้ผู้ที่มีมูลค่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างสูงมีภาระภาษีมากกว่าผู้ที่มีมูลค่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างต่ำ มีอัตราภาษีใกล้เคียงกับต่างประเทศและสอดคล้องกับความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถามที่ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปัจจุบัน อีกทั้งไม่เป็นการสร้างภาระภาษีที่เกินสมควรให้แก่ผู้เสียภาษี เนื่องจาก พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ ได้กำหนดให้มีการยกเว้นมูลค่าฐานภาษี ยกเว้นการจัดเก็บภาษี และการบรรเทาภาระภาษี ตามมาตรา 40 41 96 และมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ แล้วแต่กรณี
1.3 ในปี 2563 และ 2564 เป็นปีที่มีการตราพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท พ.ศ. 2563 และพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 โดยลดจำนวนภาษีในอัตราร้อยละ 90 ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้กับผู้เสียภาษี ทำให้ผู้เสียภาษีมีภาระภาษีเพียงร้อยละ 10 และอาจยังไม่ตระหนักถึงภาระภาษีที่แท้จริงเต็มอัตราที่ต้องชำระให้แก่ อปท. ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนได้มีระยะเวลาปรับตัวเพิ่มขึ้น จึงควรคงอัตราภาษีแบบเดิมไปอีกระยะหนึ่ง
1.4 ปี 2563 และ 2564 เป็นช่วงแรกที่มีการยกเลิกการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ และเริ่มจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการและการบริหารการจัดเก็บภาษี (Tax Administration and Procedure) เช่น การสำรวจและจัดทำบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง การคำนวณภาษี การแจ้งประเมินภาษี การรับชำระภาษี การเร่งรัดภาษีค้างชำระ เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้ อปท. ดำเนินการจัดเก็บภาษีได้ไม่ครบถ้วนเท่าที่ควร และยังไม่มีฐานข้อมูลภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของผู้เสียภาษีแต่ละรายที่สามารถใช้ประมวลผลได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ ส่งผลให้ขาดฐานข้อมูลสำคัญที่จะใช้ประกอบการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงอัตราหรือโครงสร้างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาฐานข้อมูลและประเมินผลการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ครบถ้วนสมบูรณ์มากขึ้น เพื่อใช้พิจารณากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในระยะต่อไป ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นร่วมกับกรมที่ดิน และกรมธนารักษ์ ได้จัดทำโครงการบูรณาการทะเบียนทรัพย์สิน เพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลการจัดเก็บภาษีและรายได้อื่นของ อปท. ซึ่งจะช่วยให้มีฐานข้อมูลเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่สามารถนำไปใช้วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกได้เพิ่มขึ้นต่อไป
2. กระทรวงการคลังได้ยกร่างพระราชกฤษฎีกาฯ สำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งเป็นอัตราตามบทเฉพาะกาล มาตรา 94 แห่ง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
2.1 ร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยให้ใช้สำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป
2.2 การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตาม พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ ให้ใช้อัตราภาษีตามมูลค่าของฐานภาษี ดังต่อไปนี้
1) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม อัตราภาษี ร้อยละ 0.01 - 0.1 ตามมูลค่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง
2) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย อัตราภาษีร้อยละ 0.02 – 0.1 ตามมูลค่าที่ดินและ/หรือสิ่งปลูกสร้าง
3) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่น นอกจาก 1) และ 2) อัตราภาษีร้อยละ 0.3 – 0.7 ตามมูลค่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง
4) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ อัตราภาษีร้อยละ 0.3 - 0.7 ตามมูลค่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง
3. ภายหลังการใช้อัตราภาษีตามร่างพระราชกฤษฎีกาฯ นี้ ไปแล้ว 2 ปี โดยในปี 2567 กระทรวงการคลังจะพิจารณาทบทวนอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อให้มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 7 ธันวาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12264