ร่างคู่มือการจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงมิติเพศภาวะ (Gender Responsive Budgeting – GRB : A Practical Handbook)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Friday, 10 December 2021 23:52
- Hits: 9729
ร่างคู่มือการจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงมิติเพศภาวะ (Gender Responsive Budgeting – GRB : A Practical Handbook)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบดังนี้
1. เห็นชอบในหลักการร่างคู่มือการจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงมิติเพศภาวะ (Gender Responsive Budgeting – GRB : A Practical Handbook) (ร่างคู่มือฯ) ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและ ความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ ทั้งนี้ ให้ พม. รับข้อเสนอแนะของกระทรวงมหาดไทยและข้อสังเกตของ สำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการ รวมถึงปรับปรุงร่างคู่มือฯ และแบบรายการตรวจสอบการจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงมิติเพศภาวะให้เรียบร้อยก่อนดำเนินการต่อไป
2. ให้ พม. ประสานแจ้งให้หน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องนำคู่มือการจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงมิติเพศภาวะ พร้อมแบบรายการตรวจสอบการจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงมิติเพศสภาวะไปใช้เป็นแนวทางในการจัดทำงบประมาณต่อไป รวมทั้งเผยแพร่คู่มือการจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงมิติเพศสภาวะให้เป็นที่รับรู้ทั่วไปและแจ้งต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาทราบตามข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
พม. รายงานว่า
1. ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถานภาพสตรีแห่งชาติ (กยส.) ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2564 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) เป็นประธานกรรมการ ได้มีมติเห็นชอบร่างคู่มือฯ และแผนงานในการขับเคลื่อนการจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงมิติเพศภาวะ (ตามข้อ 2.) และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้หน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องนำคู่มือฯ พร้อมแบบรายการฯ ไปใช้เป็นแนวทางในการจัดทำงบประมาณเพื่อจัดสรรงบประมาณที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และเหมาะสมตามความจำเป็นและความต้องการที่แตกต่างกันของเพศ วัย และสภาพของบุคคล โดยร่างคู่มือฯ ฉบับนี้จัดทำขึ้นโดยคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงมิติเพศภาวะ ซึ่งมี อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เป็นประธาน คณะทำงานประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิจากคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาสถานภาพสตรี และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงบประมาณ (สงป.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รวมจำนวน 12 คน ทำหน้าที่กำหนดรูปแบบ วิธีการจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงมิติเพศภาวะ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติและขับเคลื่อนให้ทุกหน่วยงานมีการจัดสรรงบประมาณตามความจำเป็นและความต้องการที่แตกต่างกันของเพศ วัย และสภาพของบุคคล เพื่อเสนอคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาสถานภาพสตรี (กสส.) ซึ่งมีอำนาจและหน้าที่เสนอแนะแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาสตรีต่อ กยส.
2. ร่างคู่มือฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
รายละเอียด |
|
แนวคิดในการจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงมิติเพศภาวะ |
- เพื่อเป็นเครื่องมือในการบูรณาการมุมมองเพศภาวะเข้าสู่กระบวนการจัดการงบประมาณทั้งรายรับและรายจ่าย เพื่อให้การตัดสินใจในการจัดสรรและการใช้งบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างสูงสุด โดยมีความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมใน ทุกมิติ รวมทั้งสอดคล้องกับหลักการสำคัญในพันธกรณีและข้อตกลงระหว่างประเทศของประเทศไทย ได้แก่ อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ปฏิญญาปักกิ่ง และแผนปฏิบัติการเพื่อความก้าวหน้าของสตรี - จัดทำขึ้นจากการศึกษาแนวทางการจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงมิติเพศภาวะจากองค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Entity for Gender Equality and the Empowerment of Women : UN WOMEN) และองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD) องค์กรระดับภูมิภาค คือ สหภาพยุโรป และองค์กรในประเทศไทย คือ สถาบันพระปกเกล้า รวมทั้งเอกสารวิชาการและตัวอย่างจากประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงมิติเพศภาวะ โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวได้นำข้อมูลดังกล่าวมาประมวล เรียบเรียง และจัดทำเนื้อหาให้มี ความสอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย |
|
วัตถุประสงค์ |
เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงมิติเพศภาวะให้กับผู้เกี่ยวข้องในหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ และนำไปสู่การจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงมิติเพศภาวะของหน่วยงาน โดยมีเป้าหมายสูงสุด คือ การจัดสรรทรัพยากรที่เป็นธรรม และเหมาะสมตามความ จำเป็นและความต้องการที่แตกต่างกันของประชากรที่มีความแตกต่างของเพศ วัย และสภาพของบุคคล |
|
หลักการสำคัญของงบประมาณที่คำนึงมิติเพศภาวะ |
การวิเคราะห์ความต้องการ โอกาส ข้อจำกัด และการเข้าถึงทรัพยากรที่แตกต่างกันของหญิงและชายที่จะต้องคำนึงถึงในกระบวนการงบประมาณ โดยนำปัจจัยต่างๆ มาวิเคราะห์ เช่น อายุ อัตลักษณ์ทางเพศ ระดับการศึกษา ชาติพันธุ์ ความพิการ สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น โดยมี 3 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ (1) การวิเคราะห์งบประมาณแบบมิติเพศภาวะ โดยพิจารณาว่า มาตรการทางงบประมาณและนโยบายที่เกี่ยวข้องมีผลกระทบอย่างไรต่อความเสมอภาค หรือสามารถลดความไม่เสมอภาคระหว่างเพศได้หรือไม่อย่างไร (2) การเปลี่ยนแปลงนโยบายและการจัดสรรงบประมาณเพื่อบรรลุเป้าหมายการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ โดยนำผลวิเคราะห์และข้อเสนอแนะจากการวิเคราะห์ไปพัฒนาเป็นโครงการ นโยบาย แผนงาน กิจกรรม เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการจัดสรรงบประมาณ และ (3) การบูรณาการแนวคิดระบบงบประมาณที่คำนึงถึงมิติเพศภาวะในกระบวนการงบประมาณอย่างเป็นระบบ โดยคำนึงถึงความแตกต่าง ความหลากหลาย ประโยชน์ และผลกระทบที่มีต่อเพศหญิง เพศชาย และกลุ่มอัตลักษณ์ที่หลากหลาย เข้าสู่กระบวนการและวงจรงบประมาณทั้งระบบ โดยทั้ง 3 องค์ประกอบนั้น ประกอบไปด้วย 7 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 วิเคราะห์สถานการณ์ : ระบุประเด็นความเสมอภาคระหว่างเพศ ขั้นตอนที่ 2 ข้อมูลพื้นฐาน : เก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโครงการที่ต้องการวิเคราะห์ (วัตถุประสงค์ภาพรวมของโครงการ วัตถุประสงค์เฉพาะที่เกี่ยวกับการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ กิจกรรมหลักในโครงการ และงบประมาณ) ขั้นตอนที่ 3 การวิเคราะห์มิติเพศสภาวะของกิจกรรมต่างๆ (ผู้ได้รับประโยชน์หรือผู้ใช้บริการสาธารณะ ความพึงพอใจของผู้หญิงและผู้ชายในการใช้บริการสาธารณะ กระบวนการตัดสินใจ และผลกระทบ) ขั้นตอนที่ 4 การวิเคราะห์มิติเพศภาวะในการจัดสรรงบประมาณและที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนที่ 5 พัฒนาวัตถุประสงค์และข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงความเสมอภาคระหว่างเพศ ขั้นตอนที่ 6 การเปลี่ยนแปลงนโยบายและการจัดสรรงบประมาณเพื่อบรรลุเป้าหมายการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ ขั้นตอนที่ 7 การนำมิติเพศภาวะเข้าสู่กระบวนการจัดทำงบประมาณทุกขั้นตอน |
|
ตัวอย่างการจัดทำงบประมาณที่คำนึงมิติเพศภาวะของประเทศไทยและต่างประเทศ |
- ประเทศไทยกับการปรับเปลี่ยนบริการสาธารณะอย่างมีมิติเพศภาวะ จากประเด็นปัญหาที่มีเด็กผู้หญิงถูกข่มขืนบนรถไฟ ทำให้การรถไฟแห่งประเทศไทยได้จัดทำตู้ขบวนรถไฟสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ เพื่อสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยในการเดินทางของผู้หญิงบนรถไฟ โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจากการวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงเป็นการเฉพาะและมุ่งแก้ไขปัญหาที่สาเหตุนั้น ซึ่งการปฏิบัติดังกล่าวจัดอยู่ในประเภทงบประมาณที่จัดสรรให้กับกลุ่มเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่งเป็นการเฉพาะ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณที่คำนึงถึงมิติเพศภาวะ - ประเทศอินโดนีเซีย ส่งเสริมทักษะอาชีพแก่สตรีเพื่อค่าแรงที่เท่าเทียมกันระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย เนื่องจากประเทศอินโดนีเซียมีผู้หญิง ร้อยละ 75 ในภาคเกษตร ปลูกข้าวและมีส่วนร่วมในการทำประมง โดยทำหน้าที่คัดแยกปลาและการตลาด ส่วนผู้ชายมีหน้าที่ออกไปจับปลา รัฐบาลจึงจัดการอบรมเพื่อฝึกทักษะการเกษตรการประมง และป่าไม้ พร้อมทั้งสนับสนุนเครื่องมือในการอบรมผู้หญิงด้วย เพื่อเพิ่มทักษะให้ผู้หญิงสามารถทำงานในภาคการเกษตรได้ และได้รับค่าจ้างที่เท่าเทียมกับผู้ชาย เป็นต้น |
|
ประโยชน์ |
- ทำให้ทราบว่านโยบายของรัฐมีผลกระทบอย่างไรกับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายแตกต่างกันทั้งในฐานะผู้บริโภค ผู้ใช้สาธารณูปโภค และผู้เสียภาษี ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของความเท่าเทียมกันระหว่างผู้หญิงและผู้ชายในด้านต่างๆ และทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ประชาคมโลกได้ร่วมกำหนดไว้ ที่จะบรรลุในปี พ.ศ. 2573 - ส่งผลให้เกิดการกระจายทรัพยากรที่เป็นธรรมและเท่าเทียม ทำให้ใช้ทรัพยากรได้ อย่างมีประโยชน์สูงสุดและสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 7 ธันวาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12263