รายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 3 ปี 2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Friday, 10 December 2021 23:44
- Hits: 8348
รายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 3 ปี 2564
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 3 ปี 2564 (เดือนกรกฎาคม- กันยายน 2564) ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (5 พฤษภาคม 2563) ที่ให้ กนง. ประเมินภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มของประเทศและรายงานต่อคณะรัฐมนตรีเป็นรายไตรมาส] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ที่ประชุม กนง. เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี โดยเห็นว่าเศรษฐกิจของประเทศไทย (ไทย) จะได้รับผลบวกจากการกระจายวัคซีนที่ดีขึ้นและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ และในปี 2564 และ 2565 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 0.7 และ 3.9 ตามลำดับ แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งนี้ กนง. เห็นว่า โจทย์สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทย คือ มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและรายได้ฟื้นตัวต่อเนื่อง ซึ่ง การดำเนินมาตรการทางการเงินจะมีประสิทธิผลในการกระจายสภาพคล่องได้ตรงจุดและลดภาระหนี้ได้มากกว่า การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ
2. การประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจการเงินเพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงิน
2.1 เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าในปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ที่ขยายวงกว้าง รวมถึงข้อจำกัดด้านอุปทานที่ยืดเยื้อ เช่น การปิดท่าเรือในสาธารณรัฐประชาชนจีนและการขาดแคลนวัตถุดิบโดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนในปี 2565 คาดว่าเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าจะมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นจากสถานการณ์ที่เริ่มคลี่คลายและแนวโน้มการกระจายวัคซีนที่เป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งนี้ ธนาคารกลางส่วนใหญ่ทั่วโลกยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยธนาคารกลางในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักและส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำ อย่างไรก็ตามธนาคารกลางในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา บางประเทศอาจจะต้องเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อที่เร่งขึ้นอย่างมาก
2.2 ภาวะการเงินและเสถียรภาพระบบการเงินไทย
2.2.1 ภาวะการเงินไทยโดยรวมยังผ่อนคลาย เอื้อให้สถาบันการเงินสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการดำเนินมาตรการทางการเงินต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนต้นทุนการระดมทุนโดยรวมของภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำทั้งในตลาดสินเชื่อและตลาดตราสารหนี้และอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อปล่อยใหม่ปรับตัวลดลงจากสิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการดำเนินมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูที่คืบหน้ามากขึ้น
2.2.2 อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐและดัชนีค่าเงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกสามในไทย การออกพันธบัตรรัฐบาลในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีจำนวนมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์และการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยในระยะต่อไปค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวนสูงตามการลดอัตราการอัดฉีดเงินเข้าระบบของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา จึงต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด
2.2.3 เสถียรภาพระบบการเงินไทยยังคงเปราะบาง โดยเฉพาะฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับปรุงเกณฑ์สินเชื่อฟื้นฟูให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงเพื่อให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น
3. แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของไทย
3.1 ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.7 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อและมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายในประเทศและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่วนประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 3.9 โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะทยอยฟื้นตัวและสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้มากขึ้น
3.2 มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในปี 2564 และ 2565 มีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 16.5 และ 3.7 ตามลำดับ ซึ่งเป็นการขยายตัวที่ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับประมาณการเดิมเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 ส่วนการส่งออกบริการยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้จึงได้ปรับลดประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2564 และ 2565 เป็น 1.5 แสนคน และ 6 ล้านคน ตามลำดับ
3.3 ประมาณการดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2564 มีแนวโน้มขาดดุล 15.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากต้นทุนค่าขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับดุลการค้าที่เกินดุลลดลงจากทั้งการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นและการส่งออกที่มีแนวโน้มต่ำกว่าที่คาดการณ์ ส่วนในปี 2565 คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลประมาณ 1.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
3.4 การบริโภคภาคเอกชนในปี 2564 ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 จึงคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะไม่ขยายตัวจากปีก่อน (ร้อยละ 2.5) และประเมินว่าการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวลดลงจากการประเมินเดิมเหลือร้อยละ 4.2
3.5 ประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2564 และ 2565 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 และ 1.4 ตามลำดับ โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบเป้าหมายตลอดช่วงประมาณการ ขณะที่ประมาณการอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2564 และ 2565 ยังคงประมาณการไว้ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.2 และ 0.3 ตามลำดับ ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 7 ธันวาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12261